ก่อนโลกจะมีคำว่า AI มันคืออะไรในสายมนุษย์ ?

ย้อนกลับไปปี 1956 ช่วงที่โลกยังไม่มีคำว่า AI และคอมพิวเตอร์ก็ยังใหญ่เท่าตู้เย็น ณ มหาวิทยาลัย Dartmouth ในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา มีกลุ่มนักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งได้มารวมตัวกัน เพื่อมาทำสิ่งธรรมดาๆ แต่มันกลายเป็จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนโลกเราไปตลอดกาล

นั่นคือ การตั้งคำถามว่า เครื่องจักรจะสามารถ "คิด" ได้เหมือนมนุษย์หรือไม่ ?

John McCarthy ผู้บัญญัติศัพท์ AI

ยุคที่ AI ยังไม่มีชื่อเรียก และ John McCarthy ผู้บัญญัติศัพท์

ยุคนั้นยังไม่มีชื่อเรียกชัดเจนสำหรับแนวคิดนี้ บ้างก็ใช้คำว่า Cybernetics, Automata Theory หรือ การประมวลผลข้อมูลอัจฉริยะ แต่ไม่มีคำไหนที่จับแก่นแท้ของมันได้ทั้งหมด จนกระทั่งชายหนุ่มนามว่า John McCarthy อาจารย์คณิตศาสตร์จาก Dartmouth ได้เสนอคำใหม่ Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ เพื่ออธิบายศาสตร์ใหม่ที่ยังไม่มีชื่อเรียกมาก่อน

เขาไม่ได้อยากใช้คำว่า Cybernetics ที่เป็นที่นิยมในตอนนั้น เพราะมันเกี่ยวข้องกับการควบคุมระบบแบบวนซ้ำ ไม่ใช่ “ความคิด” ซึ่งคำว่า Artificial Intelligence เขาได้ให้คำนิยามคำนี้เอาไว้ว่า คือศาสตร์และวิศวกรรมในการสร้างเครื่องจักรที่ฉลาด

John McCarthy กลายเป็นหัวเรือใหญ่ในการจุดประกายศาสตร์แห่ง AI โดยเริ่มจากเวิร์กช็อปเล็กๆ ที่ดูเผินๆ ก็เหมือนงานสัมมนาทั่วไป ใช้เวลาราว 6-8 สัปดาห์ มีผู้เข้าร่วมหลักๆ ราว 11 คน ซึ่งจุดที่น่าสนใจคือ พวกเขาคุยกันเรื่องที่…ถ้าพูดในยุคที่ AI ยังไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นเป็นรูปเป็นร่างแบบ ChatGPT หรือ Gemini มันคือแนวคิดที่ “ล้ำ” มาก ไม่ว่าจะเป็น…

  1. คอมพิวเตอร์จะเข้าใจภาษามนุษย์ได้ยังไง ?
  2. สมองกลแบบไหนถึงจะ “เรียนรู้” ได้เหมือนเด็กคนหนึ่ง ?
  3. แล้ว “ความคิดสร้างสรรค์” มันเกิดจากกระบวนการอะไร ?
  4. เครื่องจักรจะพัฒนาตัวเองได้ไหม…โดยไม่ต้องให้มนุษย์สั่ง ?

หลายหัวข้อในวันนั้น กลายเป็น “แกนกลาง” ของวงการ AI มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งแน่นอนว่าในห้องนั้นไม่มีใครรู้ว่า พวกเขากำลังสร้างประวัติศาสตร์ เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการพูดถึงในสื่อกระแสหลักตอนนั้น

รูปภาพจาก: spectrum.ieee.org

แต่ในมุมหนึ่ง มันค่อยๆ ปล่อยแรงกระเพื่อมที่ลึกและนาน เพราะผู้เข้าร่วมหลายคน กลายเป็นผู้บุกเบิกด้าน AI ตลอดหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็น 

  • Marvin Minsky ผู้ร่วมก่อตั้ง MIT AI Lab เป็นนักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผู้มีชื่อเสียงจากการพัฒนาแนวคิดเรื่อง "สมองกล"
  • Claude Shannon บิดาแห่งทฤษฎีข้อมูล (Information Theory) ผู้วางรากฐานให้กับการสื่อสารดิจิทัลสมัยใหม่ ด้วยผลงาน “A Mathematical Theory of Communication” ที่กลายเป็นแกนกลางของทุกระบบการสื่อสารบนโลก
  • Nathaniel Rochester ผู้ออกแบบเครื่อง IBM รุ่นแรกและผู้ผลักดันการเขียนโปรแกรม AI
  • Allen Newell ผู้บุกเบิก AI ในเชิงจิตวิทยาและผู้ร่วมสร้าง Logic Theorist โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัวแรกที่สามารถพิสูจน์ทฤษฎีในคณิตศาสตร์ รวมถึงเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดว่า ความคิดของมนุษย์สามารถจำลองได้ด้วยกระบวนการทางตรรกะ และอัลกอริทึม

ยุครุ่งเรือง และทางตัน เมื่อเข้าสู่ AI Winter

ช่วงปี 1956–1974 ถือเป็นยุคแรกที่ AI ดู “น่าตื่นตา” มาก คอมพิวเตอร์สามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์ พูดภาษาอังกฤษได้บ้าง หลายคนเริ่มฝันว่า อีกไม่นานเครื่องจักรอาจฉลาดเท่ามนุษย์

แต่พอเข้าสู่ช่วงปี 1974 ทุกอย่างเริ่มติดขัด คอมพิวเตอร์ยุคนั้นยังช้าเกินไปสำหรับไอเดียสุดล้ำ สิ่งที่ AI ทำได้จริงๆ จึงยังห่างไกลจากสิ่งที่นักวิจัยเคยสัญญาไว้ ความหวังเริ่มลดลง เงินทุนก็หายตามไป นี่คือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า AI Winter หรือ “ฤดูหนาวของ AI”

ในปี 1987 โลกธุรกิจเริ่มกลับมาให้ความสนใจกับ AI โดยเฉพาะในรูปแบบของระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert Systems) ซึ่งดูเหมือนจะใช้งานได้จริงในบางบริบท แต่ไม่นานความคาดหวังกับความจริงก็ปะทะกันอีกครั้ง เพราะเมื่อระบบเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในโลกจริง ก็พบข้อจำกัดมากมายที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ฤดูหนาวของ AI จึงกลับมาอีกครั้งในช่วงปี 1990s

แล้ว AI มันกลับมาบูมอีกครั้งเมื่อไหร่ ?

แต่ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา AI ก็เริ่มกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่าง Machine Learning และ Deep Learning ที่เปลี่ยนแนวทางการพัฒนาไปจากเดิม แทนที่จะพยายามเลียนแบบมนุษย์ AI หันมาทำงานเฉพาะด้านอย่างเช่น การแยกรูปภาพ การทำนายพฤติกรรมผู้ใช้งาน หรือการแปลภาษาแบบแม่นยำมากขึ้น และที่สำคัญคือมันเริ่มใช้งานได้จริงในโลกธุรกิจจริงๆ จึงสามารถสร้างรายได้ และได้รับความสนใจจากภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเรายังไม่เข้าสู่ AI Winter อีกครั้งในยุคนี้

แล้ว AI คืออะไร ? คำถามจากผู้ให้กำเนิดคำว่า “Artificial Intelligence”

ถ้าใครสักคนจะมีสิทธิ์ตอบคำถามว่า AI คืออะไร ? ได้ชัดเจนที่สุด 

หนึ่งในนั้นต้องเป็น John McCarthy ซึ่งในบทความ What is Artificial Intelligence? ที่เขาเขียนขึ้นทาง McCarthy พยายามอธิบายสิ่งที่เขาและนักวิจัยในวงการกำลังทำให้เข้าใจง่ายที่สุด โดยเริ่มจากคำถามง่ายๆ เช่น AI คืออะไร, ฉลาดแค่ไหน, และมีเป้าหมายอะไรในอนาคต

AI คือ วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของการสร้างเครื่องจักรที่ฉลาด

นั่นคือคำตอบแรกที่เขาให้ไว้

McCarthy บอกว่า AI ไม่ได้หมายถึงแค่การเลียนแบบมนุษย์ แต่หมายถึงการสร้าง “เครื่องที่ฉลาด” โดยไม่จำเป็นต้องเดินตามกลไกชีวภาพ ซึ่งเขามองว่าความฉลาด คือความสามารถในการใช้กระบวนการคำนวณเพื่อไปถึงเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือเครื่องจักรก็ตาม

แล้วอะไรคือ “ความฉลาด” ?

คำตอบคือ... ยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจน

แม้แต่นักวิจัยเองก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่า กลไกแบบไหนถึงจะเรียกว่า “ฉลาดจริง” ซึ่ง McCarthy อธิบายว่า เครื่องจักรบางตัวสามารถทำงานบางอย่างได้ดีเยี่ยม เพราะเราเข้าใจกลไกนั้นแล้ว แต่ในงานบางอย่าง เช่น การใช้สามัญสำนึก หรือการเข้าใจภาษาธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ AI ยังไปไม่ถึง เพราะเรายังไม่เข้าใจกลไกเบื้องหลังของความสามารถเหล่านั้นดีพอ

สถานะของ AI วันนี้อยู่ตรงไหน ?

แม้จะมีความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด McCarthyยังเชื่อว่า เรา “ยังไม่ถึงจุดที่ AI ฉลาดเท่ามนุษย์” นักวิจัยบางคนอาจคิดว่าทำได้แค่รวบรวมความรู้จำนวนมากและใส่เข้าไปในโปรแกรม แต่โดยทั่วไป วงการ AI เห็นพ้องกันว่ายังต้องการแนวคิดใหม่ที่ยังไม่มีใครค้นพบ

ก่อนโลกจะมีคำว่า AI มันคืออะไรในสายมนุษย์ ?

  • บางคนกลัว เห็นภาพมันเป็นปีศาจ
  • บางคนฝัน เห็นภาพมันเป็นเพื่อนร่วมโลกที่ช่วยแก้ปัญหาทุกอย่างให้เรา

แต่ทั้งหมดล้วนเป็น การฉายภาพของมนุษย์ ลงไปบนสิ่งที่ยังไม่มีอยู่จริง เพราะก่อนจะมี AI เรามีแค่คำถาม, มีแต่จินตนาการ, มีแต่ความอยากรู้ว่า...

“อะไรคือความคิด?”

“อะไรคือความฉลาด?”

“และเครื่องจักรจะมีมันได้หรือเปล่า?”

จนกระทั่งวันหนึ่ง John McCarthy คือคนที่มองเห็นว่าคำถามเกี่ยวกับ “ความคิดของเครื่องจักร” ไม่ใช่แค่เรื่องของฟิสิกส์หรือคณิตศาสตร์ แต่คือศาสตร์ใหม่ที่ต้องการคำเรียกใหม่ เขาเลือกใช้คำว่า Artificial Intelligence และด้วยคำนี้ เขาวางรากฐานให้กับสิ่งที่กลายเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของโลกยุคปัจจุบัน

อ้างอิง: indiaai.gov.in, jmc.stanford.edu, teneo.ai, historyofdatascience

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ใครทัน iMac G3 ใสๆ สีลูกกวาดบ้าง ? วันนี้กลับมาในร่าง Liquid Glass แล้วนะ

Apple เปิดตัว Liquid Glass ดีไซน์ใหม่ใน WWDC 2025 ที่หลายคนบอกว่าคล้ายกับ Frutiger Aero สไตล์ยุค 2000s ที่เคยอยู่บน Windows Vista แค่ดีไซน์ใหม่ หรือกำลังวนกลับไปหาความรู้สึกเก่า ?...

Responsive image

เปิดตำนาน "น้ำอบนางลอย" กลิ่นหอมไทยที่อยู่รอดมากว่า 100 ปี

ค้นพบเบื้องหลังความสำเร็จของ “น้ำอบนางลอย” แบรนด์น้ำหอมไทยอายุกว่า 110 ปี ที่ยังครองใจคนไทยได้ แม้จะถูกหยิบมาใช้เพียงปีละครั้ง ด้วยพลังของวัฒนธรรม ความไว้วางใจ และกลยุทธ์ที่มาก่อนย...

Responsive image

‘ฤทธา’ คือใคร ? ถอดรหัสบริษัทที่ใช้ผลงานพูดแทนตัวเอง

รู้จัก “ฤทธา” บริษัทรับเหมาก่อสร้างไทยที่ถูกพูดถึงมากที่สุดหลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ กับผลงานที่รอดจากความเสียหายครั้งประวัติศาสตร์...