เชื่อไหมว่าการแต่งงานช่วยชาติได้ ! แต่ไม่ใช่ที่ประเทศไทย เพราะพิธีแต่งงานที่แพงอันดับต้นๆ ของโลกอยู่ที่อินเดีย ถ้าถามว่าแพงมากแค่ไหน ก็แพงพอๆ กับงบประมาณพัฒนา Soft Power ของรัฐบาลไทย
บทความนี้ Techsauce จะมาเล่าให้ฟังว่า ทำไมการแต่งงานของอินเดียถึงสำคัญ และสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ จนรัฐบาลอินเดียชวนคนทั่วโลกมาแต่งงานที่อินเดีย
หนึ่งในงานแต่งที่โด่งดังไปทั่วโลกและ (อาจจะ) แพงที่สุดในปีนี้หนีไม่พ้นงานแต่งงานของ Anant Ambani ลูกชายคนสุดท้องของตระกูล Ambani ตระกูลเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย และมีธุรกิจที่กุมเกือบทุกปัจจัยพื้นฐานของอินเดีย
งานแต่งของ Anant Ambani กับนักธุรกิจหญิงอย่าง Radhika Merchant จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลากว่า 3 วัน ด้วยงบประมาณโดยรวมกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5,400 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งในงานนี้รวมคนดังอย่างนักร้องสาว Rihanna ที่นานๆ จะกลับมาร้องเพลงสักครั้ง
รวมถึงสามารถดึงผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจโลกจาก Wall Street ไปจนถึงยักษ์ใหญ่ใน Silicon Valley และผู้นำบริษัทบิ๊กเทคฯ ให้มารวมตัวกันอยู่ที่อินเดียได้ อาทิ Mark Zuckerberg (Meta), Bill Gates (Microsoft), Larry Fink (BlackRock), Sundar Pichai (Google) และ Yasir Al Rumayyan (Saudi Aramco) เป็นต้น
ความจริงแล้วในอินเดียการจัดงานแต่งงานที่หรูหราใหญ่โตเป็นเรื่องปกติ (แม้ในชนชั้นกลาง แม้จัดด้วยสเกลที่เล็กกว่าเศรษฐี แต่ยังคงไว้ด้วยความยิ่งใหญ่หรูหรา) ซึ่ง Kirti Parekh นักสังคมวิทยาจากเดลี อธิบายว่า งานแต่งงานในอินเดียมีความสำคัญทางวัฒนธรรมมาก เหตุผลที่คนอินเดียจะต้องจัดงานให้หรูหรา เพราะพิธีแต่งงานนับเป็นช่องทางให้ครอบครัวได้แสดงออกถึงสถานะทางสังคมและการเงินของตน หรือพูดง่ายๆ คือ Event ที่เป็นหน้าเป็นตาของตระกูล
ในกรณีของ Anant Ambani เห็นได้ชัดว่าการจัดงานหรูหราใหญ่โตและเชิญแขกคนสำคัญจากทั่วโลกมาได้ คือ การแสดงออกถึงความยิ่งใหญ่ของครอบครัว Ambani ว่าพวกเขามีอำนาจในเศรษฐกิจอินเดียและในโลกมากแค่ไหน
บริษัทของตระกูลอย่าง Reliance Industries Ltd. ที่ประกอบธุรกิจน้ำมันและโทรคมนาคม มีมูลค่ากว่า 262 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.5 ล้านล้านบาท ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 67) ได้ทำข้อตกลงมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์กับนักลงทุนทั่วโลกที่ต้องการเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ของอินเดียที่มีประชากร 1.4 พันล้านคน อาทิ
ดังนั้น การมาเยือนของแขกคนดังเหล่านี้นอกจากความปรารถนาดีแล้ว ก็มีผลประโยชน์ทางธุรกิจในอินเดียเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นเดียวกัน
อย่างที่ได้เล่าไปข้างต้นว่า ‘การแต่งงานของอินเดีย’ คือพิธีที่เป็นหน้าเป็นตาของครอบครัว โดยมักจะกินเวลาหลายวันและยังมีกิจกรรมต่างๆ มากมายก่อนถึงวันสำคัญ ทำให้ผู้คนยอมทุ่มเงินมหาศาลในการจัดงานนี้
ในรายงานฉบับล่าสุดของธนาคารเพื่อการลงทุนระดับโลกอย่าง Jefferies ชี้ว่า ค่าใช้จ่ายในงานแต่งงานขนาดใหญ่ของชาวอินเดียอยู่ที่ประมาณ 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ประมาณ 4.7 ล้านล้านบาทต่อปี) ซึ่งคิดเป็นเกือบสองเท่าของงานแต่งงานของชาวอเมริกัน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ประมาณ 2.5 พันล้านบาทต่อปี)
นอกจากนี้รายงานยังพบว่า ชาวอินเดียทั่วไปที่ไม่ใช่เศรษฐีใช้จ่ายกับการแต่งงานมากกว่าด้านการศึกษาถึง 2 เท่า ซึ่งงานแต่งงานของชาวอินเดียมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 500,000 บาท ซึ่งมากกว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนในอินเดียถึง 3 เท่า
เมื่อพิจารณาจากตัวเลขการจับจ่ายที่สูงขนาดนี้ ทำให้อุตสาหกรรมงานแต่งงานของอินเดียนับเป็นแหล่งรายได้หลักสำหรับภาคบริการ ซึ่งเมื่อนำมาจัดหมวดหมู่ ‘การแต่งงานของอินเดีย’ ถือว่าอยู่ในกลุ่มการค้าปลีกและการบริโภคที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอาหารและของชำเท่านั้น
รายงานจากที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ Knight Frank คาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 ชาวอินเดียประมาณ 600 ล้านคนจะกลายเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 80% ของกำลังซื้อของประเทศ
ด้าน Tina Tharwani ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทวางแผนจัดงานแต่งงาน Shaadi Squad ชี้ว่า เมื่อชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น หมายความว่าผู้คนมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น พวกเขามีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายในงานปาร์ตี้และงานเฉลิมฉลองที่หรูหรามากขึ้นตามไปด้วย
เมื่ออุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพในการหาเงินมากขนาดนี้ รัฐบาลอินเดียจึงเล็งเห็นโอกาสที่ใช้ประโยชน์จากความต้องการจัดงานแต่งงานที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการเริ่มแคมเปญการท่องเที่ยวจัดงานแต่งงาน ตั้งเป้าที่จะสนับสนุนให้ครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยจัดพิธีแต่งงานในอินเดีย และเชิญชวนชาวต่างชาติให้มาเฉลิมฉลองงานแต่งงานของพวกเขาในประเทศ
เนื่องจากงานแต่งงานสุดหรูของเศรษฐีชาวอินเดียมีราคาอยู่ระหว่าง 200,000 ถึง 400,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (7-14 ล้านบาท) โดยงบประมาณนี้ครอบคลุมการเข้าพักในโรงแรมระดับ 5 ดาว การจัดเลี้ยงอาหารเลิศรส การตกแต่งที่สวยงาม และความบันเทิงระดับสูง เช่น ดาราบอลลีวูดหรือนักร้องต่างประเทศ
ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่ามันจะช่วยขับเคลื่อนทุกธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานในการแต่งงาน เช่น โรงแรม ร้านอาหาร เครื่องประดับ หรือแม้แต่การท่องเที่ยว
ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวพร้อมด้วยกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ร่วมมือกันจัดงานแสดงสินค้าเพื่อส่งเสริมงานแต่งงานในอินเดีย นอกจากนี้โรงแรมและรีสอร์ตหรูในอินเดียได้จัดทำแพ็คเกจงานแต่งงานหรูหราที่มีราคาหลายล้านดอลลาร์ โดยแพ็คเกจเหล่านี้ประกอบด้วยการตกแต่งในงานที่หรูหรา บุฟเฟ่ต์มื้อใหญ่ การจัดดอกไม้แปลกใหม่ (กล้วยไม้จากประเทศไทยนับเป็นสินค้าหรูหราด้วยเช่นกัน) และห้องฮันนีมูนสวีทสุดหรู
Ashutosh Goyal ผู้อำนวยการของ Ananta Hotels & Resorts ธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับโรงแรมและรีสอร์ตชั้นนำของอินเดีย ที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์หรูหรากว่า 15 แห่งทั่วอินเดีย กล่าวว่า งานแต่งงานมีส่วนช่วยเกือบ 60% ของรายได้ทั้งหมด
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็เคยมองอุตสาหกรรมการแต่งงานของชาวอินเดียเป็นหนึ่งในโอกาสที่จะใช้ช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังช่วงโควิดเช่นเดียวกัน ย้อนกลับไปเมื่อปี 2022 นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เคยเป็นแหล่งรายได้หลัก ยังคงถูกจำกัดการเดินทางเนื่องจากนโยบายโควิด-19 ของจีน
ทำให้ประเทศไทยต้องหาลูกค้าใหม่ ซึ่งหนึ่งในชาติที่น่าสนใจก็คือ อินเดีย เพราะข้อมูลชี้ว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปีมีนักท่องเที่ยวชาวอินเดียกว่า 337,282 คนเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย ซึ่ง ททท. เล็งเห็นถึงโอกาสสำคัญอย่างการดึงดูดให้ชาวอินเดียมาจัดงานแต่งในประเทศไทย เพราะงานแต่งของชาวอินเดีย 1 งานจะสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในหลายๆ ด้าน
ททท. จึงได้จัดกิจกรรมมากมายเพื่อโปรโมตประเทศไทยในฐานะจุดหมายใหม่ในการแต่งงาน เช่น การจัดการโรดโชว์ในเมืองต่างๆ ของอินเดีย
ททท. คาดว่างานแต่งงานของอินเดียจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากถึง 627.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 22.5 พันล้านบาท) เพราะงานแต่งงานเหล่านี้ไม่ได้ขับเคลื่อนแค่ธุรกิจในภาคบริการเท่านั้น แต่ยังดึงดูดแขกที่มางานแต่งให้สามารถจับจ่ายใช้สอยทั่วประเทศไทยได้มากขึ้นอีกด้วย
ทั้งหมดนี้ยิ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการแต่งงานของคนอินเดียนั้นเป็นมากกว่าแค่พิธีการ แต่ยังสะท้อนถึงสถานะ อำนาจ และหน้าตาทางสังคมของตระกูล จึงถือเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างเม็ดเงินมากเท่าไหร่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่โดยธรรมชาติของเศรษฐีอินเดียจะยอมจ่ายโดยไม่สนราคา ขอแค่ได้สิ่งที่ดีที่สุด
อ้างอิง: bloomberg, asia.nikkei, edition.cnn, asia.nikkei
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด