ในโลกยุคปัจจุบัน มีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยผลกระทบจาก Digital Revolution แม้องค์กรเก่าแก่ก็ไม่สามารถวางใจว่าตัวเองจะอยู่ยงคงกระพันได้โดยไม่ถูก disrupt ไปเสียก่อน หากไม่มีการปรับตัว จึงปฎิเสธไม่ได้ว่าคำที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงเวลานี้ ก็คือคำว่า ‘Corporate Innovation’ หรือ ‘Business Transformation’ แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจว่าคำเหล่านี้มีหมายความว่าอะไร แล้วจะนำไปปรับใช้จริงๆ ได้อย่างไรบ้าง
บทความโดย Scott D. Anthony ใน Harvard Business Review ได้แบ่งรูปแบบ Transformation ออกเป็น 3 ลักษณะ
รูปแบบแรกคือการเปลี่ยนแปลงองค์กรโดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้แก้ปัญหาด้าน operation เพื่อให้ธุรกิจที่ทำอยู่ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้สะดวก รวดเร็ว ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ในต้นทุนที่ถูกกว่า ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ที่พยายามจะผันตัวสู่ดิจิทัลก็มักจะนำการเปลี่ยนแปลงด้านนี้มาใช้เป็นแบบแรก
อย่างไรก็ตามการมุ่งสู่ดิจิทัล ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวที่ตอบโจทย์และเข้ากับความหมายของ ‘Transformation’ ที่แท้จริง เพราะถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเชิง operational จะช่วยทำให้เกิดผลกระทบในการดำเนินงานได้จริง ทั้งการลดต้นทุน และเพิ่มความพึงพอใจต่อลูกค้า แต่โครงสร้างหลักของบริษัทก็ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไป และการที่ทำอะไรแบบเดิมๆ นั้น ไม่เพียงพอที่จะยืนหยัดบนโลกปัจจุบัน ที่หมุนอย่างรวดเร็วได้อีกต่อไป
แบบที่สองคือการเปลี่ยนแปลง Business model หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า Core Transformation ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ทำอยู่เดิมๆ ไปสู่วิธีการใหม่อย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น Netflix ที่เปลี่ยนจากธุรกิจส่งแผ่น DVD ผ่านไปรษณีย์เมื่อ 5 ปีก่อน มาเป็นเว็บไซต์ streaming VDO ออนไลน์ ซึ่งรวมถึง การเปลี่ยนบทบาทแพลตฟอร์มที่นำเสนอเนื้อหาของคนอื่น มาสู่การลงทุนผลิตเนื้อหาของตนเอง โดยอาศัยข้อมูลของฐานลูกค้าที่มีอยู่ มาประกอบการผลิตเนื้อหาที่คิดว่าคนจะชื่นชอบ และเข้าถึงผู้ชมได้ง่ายมากขึ้น
บริษัทในประเทศไทย ที่เปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้แบบเห็นได้ชัด คือ ร้านสมใจ ร้านเครื่องเขียนที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่มากที่สุดร้านหนึ่ง ที่ผันตัวมาเป็นผู้เล่นบน E-commerce เพื่อปรับตัวให้ทันโลกและพฤติกรรมของลูกค้า
อย่างสุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ที่พลิกบทบาทและรูปแบบของธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ เช่น Amazon ที่เริ่มจากธุรกิจ retail ไปสู่การทำ Cloud computing หรือ Fujifilm ที่เปลี่ยนจากบริษัทขายฟิล์มถ่ายรูปไปสู่ product ด้านเครื่องสำอางและด้านสุขภาพ หรือ Aibaba ที่เริ่มจากธุรกิจ E-Commerce และขยายไปสู่ธุรกิจด้าน Financial
การปฎิรูปเชิงกลยุทธ์ ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เนื่องจากหากเดินไปถูกทาง ก็จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของบริษัทให้ก้าวกระโดดและพลิกฟื้นขึ้นมาได้ แต่หากก้าวพลาด ก็ต้องเตรียมใจรับคำวิจารณ์ที่จะตามมาว่า ‘ทำไมถึงไม่ยึดธุรกิจเดิม’
ดังนั้นหากผู้บริหารของคุณพูดถึงคำว่า 'Transformation' ขึ้นมา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องตีให้แตกว่าหมายถึงการเปลี่ยนแปลงแบบใดกันแน่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทั้งสามแบบนั้น ต้องอาศัยความพยายามไม่เท่ากันและให้ผลลัพธ์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
Scott Anthony ให้ความเห็นว่า การโฟกัสแค่ 'ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน' เป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้น โดยผู้นำที่ดีควรคำนึงถึงการนำ การเปลี่ยนแปลงทั้งด้าน business model และ การเปลี่ยนแปลงด้านกลยุทธ์มารวมเข้าด้วยกัน เป็น ‘Dual Transformation’ โดยต้องวางแผนสำหรับการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะนำให้องค์กรสามารถกำหนดอนาคตของตัวเอง ก่อนที่จะโดนคนอื่นมา disrupt
อ้างอิงภาพและเนื้อหา Harvard Business Review
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด