Corporate Cultural Evolution ในยุค Digital Transformation | Techsauce

Corporate Cultural Evolution ในยุค Digital Transformation

โดย วรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โอสถสภา

Digital Transformation ต้องพึ่งพา Corporate Cultural Evolution หรือการปฏิวัติวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้บุคลากรที่เป็นฟันเฟืองหลักสามารถก้าวข้ามแบบทดสอบครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่นำมาใช้คือแนวการทำงานแบบ Agile เพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยี

ในยุค 1950’s อายุเฉลี่ยขององค์กรที่อยู่ในดัชนี S&P 500 นั้น อยู่ที่ 60 ปี แต่ในปัจจุบัน อายุเฉลี่ยขององค์กรในดัชนี S&P 500 เหลือเพียง 20 ปีเท่านั้น สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้องค์กรที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเนิ่นนานหลายรายต้องถดถอยลงไป คือ Digital Disruption ที่กำลังเป็นที่พูดถึงมาตลอดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากปัจจัยด้านดิจิทัล สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจมาหลายทศวรรษ หรือบางครั้งอาจนานถึงศตวรรษนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าธุรกิจนั้นจะต้องผ่าน Business Transformation ไปพร้อม ๆ กับ Digital Transformation ความท้าทายอาจเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า เช่นเดียวกับบมจ.โอสถสภา ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่ เพื่อเข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และปรับเกมให้ทันต่อความรวดเร็วของยุคดิจิทัล

บมจ.โอสถสภา ให้ความสำคัญกับการลงทุนในด้านดิจิทัล ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งเพื่ออนาคต โดยประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 5 ส่วน ได้แก่ วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ เทคโนโลยี กระบวนการทำงาน และทรัพยากรบุคคล

คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งสำหรับใช้ในการรับมือกับยุคดิจิทัลเข้าโจมตีในครั้งนี้ คือความพร้อมของทรัพยากรบุคคล ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้องค์กรขนาดใหญ่สามารถผ่านแบบทดสอบของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปได้หรือไม่นั้น ไม่ใช่ความสามารถในการรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ทันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

บมจ.โอสถสภาเอง เป็นบริษัทที่ถือกำเนิดในไทยและมีอายุมากที่สุดในประเทศไทยบริษัทหนึ่ง มีพนักงานหลายเจนเนอเรชั่น แต่ทุกคนพร้อมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยให้รับมือกับความท้าทายดังกล่าวได้ด้วยดี วันนี้ เราจึงสามารถพูดได้ว่าวัฒนธรรมองค์กรคือสิ่งสำคัญสำหรับการปฏิรูปองค์กรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล ซึ่งกลยุทธ์ที่จะเกื้อหนุนให้ประสบความสำเร็จจะต้องสอดคล้องและลงมือทำไปพร้อม ๆ กับการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้แข็งแรงอย่างราบรื่น

digital-transformation-agile-osp

แนวการทำงานแบบ Agile ซึ่งเน้นเรื่องการทำงานแบบคล่องตัว เป็นแนวคิดที่หลายๆ องค์กร รวมทั้งบมจ.โอสถสภานำมาใช้ เพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยี ทั้งนี้การทำงานในรูปแบบ Agile ไม่ได้ช่วยแค่ในเรื่องความคล่องตัวในการทำงาน แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของงาน สินค้า และบริการ และตอบโจทย์ความต้องการในตลาดได้ดีกว่า

เนื่องจากองค์กรที่ใช้แนวทาง Agile จะมีวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นการปรับปรุงพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เป็นองค์กรที่มีการบูรณาการสูง ไม่ทำงานแบบแผนกใครแผนกมัน ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาอยู่ในทีมเดียวกัน ทำงานร่วมกันโดยไม่มีกำแพงระหว่างฝ่าย ช่วยกันพิจารณาและปรับปรุงสินค้าจากทุกฝ่ายพร้อม ๆ กัน ทำให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จากการระดมสมองข้ามแผนก ช่วยกันมองต่างมุมเพื่อหาช่องว่างของชิ้นงาน

โดยพนักงานทั้งองค์กรทำงานขับเคลื่อนไปด้วยเป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่มุ่งทำเป้าเฉพาะแผนกงานของตน ซึ่งสิ่งสำคัญของการทำงานแบบ Agile นั้น คือการร่วมงานอย่างใกล้ชิดและการสื่อสารที่ชัดเจน ซึ่งผลพลอยได้คือความสัมพันธ์ของผู้ร่วมงานในทีมที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ แนวคิด Agile จะมีการส่งมอบงานโดยไม่จำเป็นต้องรอจนสำเร็จสมบูรณ์ เพราะอาจใช้เวลานานเกินไป แต่จะแบ่งส่วนการส่งมอบออกเป็นหลาย ๆ ส่วน และทยอยส่งมอบทีละส่วน เหตุผลที่ต้องส่งมอบงานออกมาก่อนนั้น ก็เพื่อลดปัญหาคอขวด และต้องการศึกษาข้อผิดพลาด หากมีข้อผิดพลาด ก็ต้องมีการแก้ไขโดยเร็ว แต่หากไม่มีข้อผิดพลาด ก็ต้องต่อยอดผลิตภัณฑ์ หรือบริการนั้นต่อไปเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรให้เอื้อต่อ Digital Transformation และนำรูปแบบการทำงานแบบ Agile เข้ามาใช้ได้อย่างประสบความสำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ ทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่

1. ความยึดมั่นในกลยุทธ์ Digital Transformation 2. วิสัยทัศน์และภาวะผู้นำของผู้บริหาร 3. การสื่อสารภายในองค์กร 4. มุมมองต่อ Digital Transformation ของพนักงาน 5. การประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ 6. ความรู้ความชำนาญด้านดิจิทัลของพนักงาน

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทั้ง 6 ด้านขั้นต้น จะพบว่าแนวทาง Corporate Cultural Evolution ให้เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนองค์กรเมื่อกระแสดิจิทัลกำลังถาโถมเข้าใส่ และแนวทางการทำงานแบบ Agile นั้น สามารถทำได้ ดังนี้

สร้างวัฒนธรรมผ่านผู้นำองค์กร

ในฐานะผู้กำหนดทิศทางและนำทางขององค์กร ผู้นำจึงต้องทำหน้าที่ในการส่งเสริม Digital Transformation อย่างเข้มแข็งและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ในช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขององค์กรเช่นนี้ พนักงานทุกคนจะต้องเข้าใจเป้าหมายขององค์กรและมีการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อลงมือปฏิบัติงานได้ทันทีและรวดเร็ว

ดังนั้น ผู้นำจะต้องแสดงให้เห็นว่าตนให้การสนับสนุนกลยุทธ์ต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่มีเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจน และเป็นต้นแบบที่ดี ในด้านบุคลิกภาพ ค่านิยมและวิธีในการบริหารนั้น ผู้นำในทุกระดับจะต้องมีใจกว้าง มองโลกในแง่ดี เปิดรับฟังความคิดต่างอย่างจริงใจ และต้องตัดสินใจได้รวดเร็ว

สร้าง Mind-Set ของพนักงาน

ในส่วนของพนักงานนั้น จะต้องมี Mind-Set ที่ดีต่อการปรับเปลี่ยนสิ่งที่มักพบได้บ่อย ๆ คือ พนักงานมักเข้าใจว่าเมื่อมี Digital Transformation แสดงว่าองค์กรจะปรับลดจำนวนพนักงานลง

ดังนั้น ลำดับแรก องค์กรจะต้องทำให้พนักงานเข้าใจตรงกันก่อนว่าเทคโนโลยีคือเครื่องมือที่ช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น ทำให้พนักงานมีเวลาให้ความสำคัญกับงานที่ต้องการความคิดและความสามารถได้มากขึ้น แทนที่จะคิดว่าเทคโนโลยีจะมาแทนและมาแย่งงานของตน เช่น การนำ Sales Tool มาใช้กับ online order และ tracking นั้นจะช่วยให้ชีวิตการทำงานสะดวกและรวดเร็วขึ้น

ในภาพใหญ่ของบริษัท ก็มีการนำระบบ SAP เข้ามาช่วยเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆแบบ Real Time ซึ่งทำให้เกิดการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีเพราะใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน เมื่อมีความเข้าใจที่ดีแล้ว จะต้องสร้าง Mind Set ด้านวิธีการทำงานใหม่ ๆ ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ได้แก่ เพิ่มความกล้า กล้าลอง ไม่กลัว ฝึกการมองในมุมที่แตกต่าง คิดและประยุกต์วิธีการใหม่ ๆ ในการทำงาน เน้นทำงานให้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ หากมีข้อผิดพลาดก็รีบปรับแก้ไขให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ การสร้าง Sense of Ownership ให้พนักงานมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ มีความรับผิดชอบต่องานที่ตนทำอยู่ และทำอย่างมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เมื่อมีความรู้สึกนี้เกิดขึ้น ทุกอย่างจะเดินไปได้ และจะเป็นบันไดในการสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมได้อย่างไม่ยาก

สร้างกระบวนการทำงานแบบ Open Platform

เมื่อพนักงานมีความพร้อมด้านทัศนคติแล้ว ต้องมีการปรับวิธีการทำงานด้วยเช่นเดียวกัน เทคโนโลยีช่วยให้การติดต่อประสานงานเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว แต่ถ้ารูปแบบการทำงานยังเป็นแบบปิดกั้น เราก็จะไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

โดยรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมนั้น จะต้องเป็นแบบ Open Platform และต้องไม่มีการทำงานเป็น Silo ต่างคนต่างทำอีกต่อไป ต้องสร้าง Collaboration การทำงานเชื่อมต่อกัน เพื่อใช้ประโยชน์ของความชำนาญที่แตกต่างกันของแต่ละแผนกให้สูงสุด

ต่อไปนี้ ไม่จำเป็นว่าแผนก IT ต้องทำทุกอย่างเกี่ยวกับดิจิทัล เช่น การสร้างแอพพลิเคชั่น OSP Life เพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงานของ บมจ.โอสถสภาสามารถเข้าสู่ระบบต่าง ๆ และรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดนั้น ทางทีมทรัพยากรบุคคลเป็นทีมหลักในการพัฒนา OSP Life ขึ้นมาได้เอง โดยได้รับความช่วยเหลือจาก IT เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถจัดการกับเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานได้ โดยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนได้เอง โดยไม่ต้องรอให้ทีม IT มาทำให้แบบในอดีต

สร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อความคล่องตัว

นอกจากตัวคนและวิธีการทำงานที่เป็นฟันเฟืองหลักแล้ว การสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ส่งเสริม Digital Transformation ก็มีความสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น ๆ สิ่งแวดล้อมดังกล่าวนั้น รวมถึง การสร้างบรรยากาศ สิ่งอำนวยความสะดวก และวิถีชีวิตในที่ทำงาน

อย่างไรก็ตาม การนำแนวคิดของ Agility มาใช้ในการทำงานนั้น ไม่ได้เป็นทางเลือกอีกต่อไป แต่จะเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรจะต้องมี ทั้งการสร้างการทำงานแบบยืดหยุ่น สามารถทำงานที่ใดก็ได้ และมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น การออกแบบพื้นที่การทำงานให้น่าทำงานและเปิดโล่ง

สำหรับสำนักงานใหญ่ของ บมจ.โอสถสภาเอง เราได้ปรับโฉมพื้นที่ทำงานใหม่ ภายใต้แนวคิด Creative Workspace สร้างพื้นที่การทำงานที่ dynamic เอื้อต่อการปรับตัวสู่การทำงานในยุคดิจิทัลของพนักงาน มี Employee Lounge ซึ่งพนักงานสามารถเปลี่ยนบรรยากาศมานั่งทำงาน หรือนั่งประชุม พร้อมกาแฟและอาหารอร่อยๆ

ทั้งนี้ เราไม่ได้คำนึงถึงแต่บรรยากาศในการทำงานเท่านั้น เรายังปรับเปลี่ยน Facility ต่าง ๆ เช่น เลิกใช้ระบบ LAN แต่เปลี่ยนมาเป็น Wi-Fi ทั่วอาคาร ขยายแพคเกจโทรศัพท์มือถือของพนักงานให้สามารถเข้าถึงอินเตอร์เนทได้ถึง 20G/ เดือน

นอกจากนี้ จะต้องมีการสร้างความคุ้นชินกับเทคโนโลยี นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในชีวิตการทำงานมากขึ้น ในด้านอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้องานโดยตรง บมจ.โอสถสภาปรับเปลี่ยนแนวทางการติดต่อกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น OSP Life และเปลี่ยนรูปแบบการจัดการอบรมมาเป็นแบบผสม คือบางส่วนให้อยู่ในรูปแบบของ Online Training

สร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หากขาดการสื่อสารภายในองค์กรอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง โดยต้องเริ่มจากการสื่อสารถึงประโยชน์ของ Digital Transformation ด้วยคอนเทนต์ที่น่าสนใจ น่าติดตาม กระชับ เข้าใจง่ายและตรงจุด

ทั้งนี้ ไม่จำเป็นว่าการสื่อสารเรื่องดิจิทัลจะต้องทำผ่านสื่อดิจิทัลเท่านั้น สื่อต่าง ๆ ที่พนักงานพบเห็นบ่อย ๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เช่น สโลแกนที่ช่วยให้จดจำ เสื้อยืดสกรีนโลโก้ ซึ่งกลยุทธ์นี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้การสื่อสารภายในองค์กรของ บมจ.โอสถสภาในระหว่างการเปลี่ยนมาใช้ระบบ SAP ได้ผลเป็นอย่างดี โดยทำการสื่อสารผ่าน ข้อความของแคมเปญที่สั้นและเข้าใจง่าย One Team One System One Goal

ในวัฏจักรของธุรกิจนั้น มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การจะก้าวข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไปได้นั้น จะต้องให้ความสำคัญกับองค์ประกอบสำคัญขององค์กร นั่นก็คือคน ที่ผ่านการบ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรที่ตอบโจทย์เป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ

หากวัฒนธรรมองค์กรสวนทางกับทิศทางของโลกและแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร ย่อมจะทำให้เกิดอุปสรรคที่สำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเกิดความจำเป็นต้องปฏิรูปองค์กรเพื่อให้รับมือกับดิจิทัลได้ ผู้นำองค์กร mind-set ของพนักงาน กระบวนการทำงานแบบบูรณาการ สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการทำงานที่ส่งผลต่อความคล่องตัวและความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อสารที่ถูกต้อง กระชับ อย่างมีประสิทธิภาพ ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเมื่อองค์กรทุ่มเทสร้างวัฒนธรรองค์กรให้เป็นไปตามที่คาดหวัง

เมื่อใดก็ตามที่วัฒนธรรมองค์กรเป็นไปตามทิศทางเดียวกันกับกลยุทธ์ของ Digital Transformation แล้ว องค์กรนั้นก็จะสามารถขับเคลื่อนไปตามแผนงานได้อย่างรวดเร็ว

 

 

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกบทบาท CVC กับการลงทุนใน Startups ยุคใหม่ กับ Nicolas Sauvage หัวเรือใหญ่ TDK Ventures

เจาะลึกบทบาทของ CVC ในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ พร้อมเผยกลยุทธ์การเฟ้นหาและสนับสนุน Startups รวมถึงแบ่งปันวิสัยทัศน์เชิงลึกรวมถึงกลยุทธ์การลงทุนใน Startups ที่น่าจับตามอง โดย Nico...

Responsive image

คุยกับ ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5

รู้จัก ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5...

Responsive image

คุยกับ Andrew Ng ผู้ทรงอิทธิพล AI ระดับโลก | Exec Insight EP.75

พบกับบทสัมภาษณ์พิเศษจาก Andrew Ng โดย Techsauce...