โครงสร้างพื้นฐาน งานไม่ง่ายแต่ต้องมีคนทำ | Techsauce

โครงสร้างพื้นฐาน งานไม่ง่ายแต่ต้องมีคนทำ

บทความโดย คุณถิรพันธุ์ สรรพกิจ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โครงสร้างพื้นฐานจากบทความที่แล้วผมได้กล่าวถึงบทบาทของโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะมีส่วนช่วยด้านการพัฒนาในภาพรวมเกือบทุกมิตินั้น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่างานวางโครงสร้างพื้นฐานเป็นงานที่ใช้เวลาและต้นทุนสูง รวมถึงเป็นงานที่ไม่ง่าย เพราะหากโครงสร้างพื้นฐานมีปัญหาก็จะส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงในวงกว้าง รวมถึงผู้ใช้งานเอง โดยส่วนใหญ่ก็มักจะมองข้ามความสำคัญของผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างโครงสร้างพื้นฐานใกล้ตัวที่พวกเราได้ใช้กันอยู่ทุกวัน เช่น ประปา ไฟฟ้า เป็นต้น หากน้ำไหลไฟติดตามปกติ เราก็ไม่ค่อยจะไปนึกชมเชยการประปา การไฟฟ้า สักเท่าไหร่ แต่ถ้าน้ำไม่ไหล ไฟไม่ติดขึ้นมาเมื่อไหร่ ผมคิดว่า Call Center ของการประปา การไฟฟ้า น่าจะรับสายกันแทบไม่ไหวเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นงานที่ไม่ค่อยได้ดอกไม้สักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะได้ก้อนอิฐแทนเสียมากกว่า แต่หากไม่มีใครมาทำโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกันเลย ก็เรียกว่าน่าจะทำให้การพัฒนาในภาพรวมเป็นไปได้ยากและมีข้อจำกัดมาก เช่น ถ้าเรามาลองคิดดูว่าถ้าทุกบ้านต้องผลิตน้ำประปาใช้กันเองก็คงพอจะเห็นภาพ

ในมุมของผมถือว่าโชคดีที่ได้มีโอกาสร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายโครงการ อาทิ  Settrade Streaming, FundConnext และ FinNet เป็นต้น ก็พอจะสรุปได้ว่าความท้าทายหลัก ๆ ที่จำเป็นสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่ดีนั้น โดยทั่วไปจะมี 3 ด้านใหญ่ ๆ คือ ด้านเสถียรภาพ (Stability) ด้านความสามารถในการรองรับการขยายตัว (Scalability) และด้านความปลอดภัย (Security) โดยแต่ละด้านเองก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกพอสมควร 

โครงสร้างพื้นฐาน

ด้านแรกคือ ด้านเสถียรภาพ (Stability) เป็นความจำเป็นตั้งต้นที่มีความสำคัญมากสุด เพราะหากตัวโครงสร้างพื้นฐานเองไม่สามารถทำงานได้แล้ว ก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ในวงกว้างไปทั้งระบบ ดังนั้น การออกแบบระบบสำรองที่ดีทั้ง Backup system และ Backup site รวมถึงต้องออกแบบให้ระบบสามารถโอนย้ายไปใช้ระบบสำรองเมื่อระบบหลักมีปัญหา หรือ Fail over ได้รวดเร็วโดยไม่ส่งผลกระทบกับผู้ใช้งาน และต้องมีแผนงานในการทดสอบการ Fail over สม่ำเสมอไม่ควรต่ำกว่าปีละ 1 ครั้ง ทั้งการทดสอบในลักษณะ DRP (Disaster Recovery Plan) และ BCP (Business Continuity Plan) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบยังสามารถทำงานได้ตามการออกแบบอยู่ตลอดเวลาในการให้บริการ

ด้านที่สองคือ ด้านความสามารถในการรองรับการขยายตัว (Scalability) ซึ่งหากเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลแล้วก็จะยิ่งมีความสำคัญมาก เนื่องจากจำนวนผู้ใช้งานอาจเพิ่มขึ้นอย่างมากหลาย ๆ เท่าได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น จึงต้องมีการออกแบบให้สามารถขยายระบบได้ ในลักษณะการเพิ่มเครื่องในแนวกว้าง (Horizontal Scale) แทนการขยายขนาดเครื่องในแนวลึก (Vertical Scale) ซึ่งจะมีข้อจำกัดมากกว่ามาก รวมถึงการพัฒนาระบบด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ เช่น Container based เพื่อให้ระบบสามารถใช้ Cloud computing resources จากผู้ให้บริการ Cloud ระดับโลก เช่น Amazon web services, Microsoft Azure หรือ Google Cloud ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากหากเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลระดับประเทศที่จะมีผู้ใช้งานในระดับสูงมาก ๆ

ด้านสุดท้ายคือ ด้านความปลอดภัย (Security) ซึ่งในปัจจุบันมีความสำคัญเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งจากด้าน Cybersecurity และด้านข้อมูลรั่วไหล (Data leakage) ทำให้ต้องมีการทดสอบการเจาะระบบจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก (Penetration test) อย่างสม่ำเสมอ มีการจัดชั้นความลับของข้อมูลเพื่อออกแบบลักษณะการจัดเก็บ รวมถึงการกำหนดสิทธิ์การเข้าใช้งานระบบและการเข้าถึงข้อมูลอย่างเหมาะสม และยังต้องมีการสอบทานขั้นตอนการดำเนินงานของผู้ดูแลระบบเพื่อลด Human error เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นในด้านความปลอดภัย ไม่เพียงแต่จะเกิดความเสียหายด้านการเงินและด้านชื่อเสียงเท่านั้น แต่ยังจะมีความเสี่ยงในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) อีกด้วย

รวมถึงหากเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องมีการต่อเชื่อมจากผู้ร่วมตลาดเป็นจำนวนมาก ก็จะมีความจำเป็นเพิ่มเติมอีกด้าน ในเรื่องของการกำหนดรูปแบบการเชื่อมต่อ (Connectivity spec) รูปแบบข้อมูลในการสื่อสาร (Message spec) ที่เหมาะสม และเป็นมาตรฐานที่ดี (Standard) ของทั้งอุตสาหกรรม เพื่อลดความซับซ้อนในการต่อเชื่อมของผู้ร่วมตลาด รวมถึงลดต้นทุนในภาพรวม

โครงสร้างพื้นฐาน

จากที่ได้กล่าวมา น่าจะพอทำให้เห็นได้ว่างานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในระดับประเทศนั้นค่อนข้างจะเป็นงานที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกหน่วยงานที่ดูแลโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ และขอชื่นชมผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงการ PromptPay ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้รับการออกแบบระบบโดย ดร. อนุชิต อนุชิตานุกูล ที่เรียกได้ว่าปัจจุบัน PromptPay ได้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลัก (Foundation) ในการสร้างสังคมไร้เงินสด (Cashless society) ของประเทศไทยไปแล้ว และโครงการ “คนละครึ่ง” ที่พัฒนาโดยธนาคารกรุงไทย ซึ่งได้รับการออกแบบระบบโดยคุณสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่เรียกได้ว่าสามารถต่อยอดจนเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนไทยได้ในวงกว้างในการเข้าร่วมสังคมไร้เงินสดขึ้นไปอีกระดับ 

รวมถึงผมได้ยินมาว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ได้กล่าวในงาน “Intania Dinner Talk 2020 เดินหน้าฝ่าวิกฤต พลิกเศรษฐกิจไทย” ว่า ท่านรองนายกฯ และทีมงานคุณสมคิด จิรานันตรัตน์ กำลังสร้างระบบ E-commerce ในระดับประเทศที่จะต่อยอดจากโครงการที่ผ่านมาไปอีกระดับ ซึ่งน่าจะช่วยทำให้ประเทศไทยได้มี Digital Platform ของตัวเองในระดับประเทศเสียที หลังจากที่ต้องไปใช้ Digital Platform ของต่างชาติมาเป็นเวลานาน สุดท้ายนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้กับผู้พัฒนาและผู้ที่กำลังจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทุก ๆ ท่าน ที่จะร่วมเป็นส่วนช่วยพัฒนาประเทศไทยให้เข้าสู่ Thailand 4.0 ในอนาคตต่อไปในเร็ววันนี้ครับ

บทความโดย คุณถิรพันธุ์ สรรพกิจ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

คุยกับ ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5

รู้จัก ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5...

Responsive image

คุยกับ Andrew Ng ผู้ทรงอิทธิพล AI ระดับโลก | Exec Insight EP.75

พบกับบทสัมภาษณ์พิเศษจาก Andrew Ng โดย Techsauce...

Responsive image

เจาะลึกทิศทางประกันภัยในยุคดิจิทัล | Exec Insight EP.74

Techsauce ได้พูดคุยกับ ดร.สุทธิพล อดีตเลขาธิการคปภ. ถึงการปรับตัวของธุรกิจประกันภัยในการนำเทคโนโลยีมาใช้...