Robo-advisor ทางเลือกแห่งการลงทุนในยุค Digital | Techsauce

Robo-advisor ทางเลือกแห่งการลงทุนในยุค Digital

โดย ชลเดช เขมะรัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน โรโบเวลธ์ จำกัด

การเติบโตของ Mobile Application ที่ล้ำสมัย สวนทางกับศรัทธาซึ่งมีต่อที่ปรึกษาการลงทุนในยามวิกฤติ นำไปสู่การพัฒนา Robo-advisor หรือการลงทุนแบบอัตโนมัติ เปรียบดังส่งมอบบริการชั้นเลิศตอบโจทย์นักลงทุนกระเป๋าเบา โดยมี ETF เป็นสินค้ายอดฮิตที่ถูกนำมาจัดพอร์ตมากสุด

เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว โลกของเราได้เผชิญกับสองเหตุการณ์สำคัญ คือ วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 และ ยุคบุกเบิกของ Smart Phone (iPhone ในปี 2007 และ Android ในปี 2008) โดยในช่วงนั้น นักลงทุนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากมูลค่าเงินลงทุนที่ลดลงไปกว่าครึ่งอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อที่ปรึกษาการลงทุนลดลงตามไปด้วย

เนื่องจากนักลงทุนมองว่าที่ปรึกษาการลงทุนนั้นคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่ค่อนข้างสูง แต่กลับไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนักเมื่อเกิดวิกฤติ ประกอบกับความก้าวหน้าด้านเทคโยโลยีการสร้าง App ทำให้เกิดบริการด้านการลงทุนรูปแบบใหม่ขึ้น ภายใต้ชื่อ Robo-advisor (มีที่มาจากคำว่า Robot + Advisor)

คำนิยามของ Robo-advisor จาก ก.ล.ต. ของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ โปรแกรมลงทุนแบบอัตโนมัติ ซึ่งเริ่มจากกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ใช้งาน เกี่ยวกับระยะเวลาการลงทุน สถานะทางการเงิน ตลอดจนความสามารถที่แท้จริงในการรับความเสี่ยง

จากนั้น Robo-advisor จะนำเสนอแผนการลงทุนในรูปแบบ Asset Allocation ว่าควรลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนในสัดส่วนเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสมกับผู้ใช้งานแต่ละคน พร้อมทั้งลงทุนให้อัตโนมัติและบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนให้อย่างสม่ำเสมอ โดยที่กองทุนประเภท ETF (Exchange Traded Fund) เป็นสินค้าที่ถูกใช้ใน Robo-advisor มากที่สุด

ส่งถึงมือนักลงทุนไทย

สำหรับประเทศไทยนั้น ก็เริ่มมีผู้ให้บริการด้านการลงทุนพัฒนา App ที่ให้บริการในแนวทาง Robo-advisor ออกมาตอบโจทย์นักลงทุนบ้างแล้ว เช่น บลน. โรโบเวลธ์ จำกัด ที่ส่ง ‘odini’ ออกมาสู่ตลาด

หลักการใช้งานก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร โดยผู้ใช้งานทั่วไปสามารถดาวน์โลด App ผ่านทั้งระบบ iOS และ Android เพื่อศึกษาสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทจาก Asset Allocation Model แบบที่เหมาะสมกับตัวเองได้ทันที โดยที่ยังไม่ต้องสมัครใช้บริการหรือเปิดบัญชีแต่อย่างใด

แต่ถ้าผู้ใช้งานต้องการเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินลงทุนจริง ก็สามารถสมัครเปิดบัญชีผ่าน Mobile Application ได้เลย ไม่ต้องใช้กระดาษหรือแนบเอกสารใด ๆ โดยหลังจากที่บัญชีได้รับการอนุมัติ ผู้ใช้งานเพียงแค่ระบุเงินที่ต้องการลงทุน จากนั้น Robo-advisor จะทำรายการซื้อกองทุนแต่ละกองให้แบบอัตโนมัติ เพื่อบริหารให้พอร์ตการลงทุนจริงมีค่าใกล้เคียงกับ Asset Allocation Model มากที่สุด

ทั้งนี้ Robo-advisor ที่เหมาะสมจำเป็นต้องออกแบบในแนวคิดหลักสามข้อคือ ง่าย สะดวก และน่าเชื่อถือ ดังนั้นส่วนประกอบหลักของเทคโนโลยีที่นำมาใช้น่าจะประกอบด้วย

1) Investor Analysis: Pain Point ของคนไทยส่วนใหญ่คือการกลัวความเสี่ยงด้านการลงทุน จึงมักนำเงินเก็บที่มีอยู่เกือบทั้งหมดฝากไว้กับธนาคารในรูปแบบของบัญชีเงินฝาก ซึ่งให้ดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำและอาจได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้อำนาจการซื้อในระยะยาวลดลงไปเรื่อย ๆ ตัว App จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่แรกในการวิเคราะห์ความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ใช้งานแต่ละคน

โดยแบ่งความสามารถในการรับความเสี่ยงออกเป็น 5 ระดับ ซึ่งระดับที่ 1 หมายถึงรับความเสี่ยงได้น้อยที่สุด และต้องการผลตอบแทน 4% ต่อปี ในขณะที่ ระดับที่ 5 หมายถึงรับความเสี่ยงได้มากที่สุด และคาดหวังผลตอบแทนไว้ที่ 12% ต่อปี ในปัจจุบัน App บางตัวสามารถวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวผ่านทางแบบประเมินความเสี่ยงด้านการลงทุน (Suitability Analysis) ซึ่งเป็น Static Questionnaire ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในวงการตลาดทุน

2) Asset Allocation: การกำหนดสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ถือเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุน เพราะการกระจายความเสี่ยงในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดผลตอบแทนในระยะยาว App จึงพัฒนา Quant Model ในการจัดสรรน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงซึ่งวัดจากผลขาดทุนให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด และสร้างผลตอบแทนให้ได้ตามเป้าหมายของนักลงทุนแต่ละคน (Minimize Conditional Value at Risk given Expected Return Constraint)

ยกตัวอย่างเช่น odini นำเอามุมมองของนักวิเคราะห์ทั่วโลกจาก Bloomberg Consensus มาใส่ใน Black-Litterman Model เพื่อปรับน้ำหนักการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดในขณะนั้น โดยสินทรัพย์ที่อยู่ใน Asset Allocation Model ประกอบด้วย ตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ตราสารทุนในประเทศ ตราสารทุนต่างประเทศ (สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ตลาดเกิดใหม่) และทองคำ

3) Mutual Fund Selection: เนื่องจากประเทศไทยยังขาดชุดกองทุน ETF ที่เหมาะสมต่อการจัดสรรพอร์ตการลงทุนแบบ Asset Allocation ดังนั้น App จึงใช้กองทุนรวมเป็นตัวแทนสินทรัพย์แต่ละประเภทเพื่อจัดพอร์ตให้ลูกค้าแต่ละราย

โดยการออกแบบ Quant Model เพื่อคัดเลือกและให้คะแนนกองทุนรวม (Mutual Fund Screening & Scoring) ซึ่งแบ่ง Model ออกเป็น 2 ประเภท ตามนโยบายการลงทุนแบบ Passive และ Active สำหรับ Passive Fund นั้น ระบบจะคัดเลือกกองทุนค่าธรรมเนียมต่ำที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับ Benchmark เช่น กองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี S&P 500 ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ในส่วนของ Active Fund ระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลผลตอบแทนรายเดือนย้อนหลัง 12 เดือนของทุกกองทุนรวมเพื่อให้คะแนนด้านผลตอบแทน (Performance Scoring) และคะแนนด้านความสม่ำเสมอ (Consistency Scoring) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเลือกชุดกองทุนรวมที่สร้างผลตอบแทนได้ดีอย่างสม่ำเสมอ เช่น การคัดเลือกชุดกองทุน LTF 3 กองทุนที่สร้างผลตอบแทนดี ความเสี่ยงต่ำ แทนที่การซื้อกองทุน LTF เพียงกองเดียว เป็นต้น ซึ่งวิธีการทำ Scoring นี้เป็นเทคโนโลยีที่ odini พัฒนาขึ้นเองทั้งหมด

ทั้งนี้ เมื่อนำเอาผลลัพธ์จาก Asset Allocation มารวมกับ Mutual Fund Selection แล้ว App จะนำเสนอแผนการลงทุน (Portfolio Proposal) ให้กับผู้ใช้งานตามความสามารถในการรับความเสี่ยงทั้ง 5 ระดับ โดยมี Conservative Portfolio เป็นพอร์ตที่มีความเสี่ยงต่ำสุด เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทน 4% ต่อปี และมี Aggressive Portfolio เป็นพอร์ตที่มีความเสี่ยงสูงสุด โดยมีผลตอบแทนคาดหวังอยู่ที่ 12% ต่อปี

4) Digital Onboarding: การเปิดบัญชีแบบที่ไม่ต้องใช้กระดาษ หรือ e-KYC เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้นักลงทุนจำนวนมากเปิดบัญชีได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลง โดยผู้ที่ต้องการเปิดบัญชีกับผู้ให้บริการด้านการลงทุนใดๆ ก็สามารถกรอกข้อมูลลงใน Mobile Application ได้ทันที พร้อมทั้งถ่ายรูปบัตรประชาชน และ Selfie ถ่ายหน้าของตนเองพร้อมกับบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตนเจ้าของบัตร และระบบจะสอบถามรหัสหลังบัตรประชาชน (JC Number) เพื่อตรวจสอบกับฐานข้อมูลของกรมการปกครอง จากนั้นผู้ใช้งานสามารถเชื่อมบัญชีเงินฝากเข้ากับบัญชีลงทุนได้ทันที ซึ่งหลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของผู้ให้บริการว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไรสำหรับระบบการชำระเงิน เช่น e-Wallet Platform

5) Portfolio Management: เมื่อลูกค้าทำรายการเพิ่มเงินลงทุนหรือถอนเงินลงทุน ตัว Mobile Application จะจัดสรรเงินลงทุนนั้นด้วยการซื้อขายกองทุนรวมแบบอัตโนมัติตามที่ระบุไว้ใน Portfolio Proposal โดยนักลงทุนสามารถกำหนดแผนลงทุนรายเดือนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging) เพื่อการลงทุนอย่างต่อเนื่องได้อีกด้วย

นอกจากนี้บางครั้ง App ยังได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการปรับน้ำหนักการลงทุนแบบอัตโนมัติ (Automatic Rebalancing) เพื่อทำให้การลงทุนจริงของลูกค้าแต่ละคนเข้าใกล้คำแนะนำจาก Quant Model มากที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมีความทันสมัยและซับซ้อน ในระดับเดียวกับที่ Fund Manager ใช้เพื่อบริหารเงินของสถาบันการเงินชั้นนำในปัจจุบัน

ล้ำขึ้นด้วยเทคโนโลยีใหม่

สำหรับเทคโนโลยีในอนานคต ที่ผมมองว่าผู้พัฒนา App จะเลือกสรรมาตอบสนองความต้องการเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับ Robo-advisor อย่างต่อเนื่องยังมีอีกหลายด้าน ได้แก่

  • การใช้เทคโนโลยี OCR (Optical Character Recognition) เพื่อกรอกข้อมูลในบัตรประชาชนแบบอัตโนมัติจากการถ่ายรูปบัตร
  • ทางเลือกการเปิดบัญชีโดยใช้ NDID (National Digital ID) ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกอย่างสูงสุดให้กับลูกค้าในการเปิดบัญชี
  • การใช้ Big Data Analysis เพื่อสร้าง Dynamic Questionnaire สำหรับผู้ใช้งานแต่ละรายในการประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเอง และสร้าง Portfolio ในแบบที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด
  • การใส่ Social Network Feature ให้กับ Robo-advisor เพื่อปรับเปลี่ยนการลงทุนให้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Life Style มากขึ้น และสามารถแบ่งปันไปยังผู้อื่นได้ โดยขึ้นอยู่กับความยินยอมของผู้ใช้งานเป็นสำคัญ การเพิ่มช่องทางการใช้งาน Robo-advisor ผ่านทาง Device อื่น ๆ เช่น Tablet และ Smart Watch เป็นต้น

“จุดเด่นของ Robo-advisor คือ ช่วยให้คนทั่วไปที่มีเงินเก็บไม่มาก สามารถเข้าถึงบริการด้านการลงทุนที่มีคุณภาพได้ ซึ่งเดิมมีให้สำหรับลูกค้าระดับ High Net Worth เท่านั้น จึงมีส่วนลดความเหลื่อมล้ำด้านสินทรัพย์ระหว่างคนในสังคม”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกบทบาท CVC กับการลงทุนใน Startups ยุคใหม่ กับ Nicolas Sauvage หัวเรือใหญ่ TDK Ventures

เจาะลึกบทบาทของ CVC ในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ พร้อมเผยกลยุทธ์การเฟ้นหาและสนับสนุน Startups รวมถึงแบ่งปันวิสัยทัศน์เชิงลึกรวมถึงกลยุทธ์การลงทุนใน Startups ที่น่าจับตามอง โดย Nico...

Responsive image

คุยกับ ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5

รู้จัก ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5...

Responsive image

คุยกับ Andrew Ng ผู้ทรงอิทธิพล AI ระดับโลก | Exec Insight EP.75

พบกับบทสัมภาษณ์พิเศษจาก Andrew Ng โดย Techsauce...