ในฐานะกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ไทย หรือ SET มีบทบาทที่ต้องตอบสนองกับ Technology Disruption ด้วยการวางกลยุทธ์ด้าน Innovation เพื่อขับเคลื่อนองค์กรและอุตสาหกรรม โดยเล็งเห็นว่าการสร้าง Platform กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับทุก Stakeholder ที่เกี่ยวข้องจะช่วยลดต้นของอุตสาหกรรมและต่อยอดทางธุรกิจได้ในระยะยาว ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมุ่งเดินหน้าไปพร้อมๆ กับผู้ร่วมอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางธุรกิจ ตลอดจนต่อยอดการเติบโตอย่างยั่งยืนของตลาดทุนไทย
การตอบสนองต่อ Technology Disruption ในบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ผมอยากจะบอกเล่านั้น เริ่มจากความคิดริเริ่มเชิงรุกด้านนวัตกรรมที่ผสานกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ยิ่งเป็นการจุดประกายให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจตลาดทุนจะต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินงานให้พร้อมแข่งขันด้วยต้นทุนที่เหมาะสมด้วย
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมุ่งพัฒนาตลาดทุน ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ พร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยกำหนดทิศทาง “Creating Partnership platform to drive inclusive growth” ด้วยการ สร้างจุดเปลี่ยน เสริมจุดปรับ ชูจุดขาย คงจุดยืน เพื่อให้ตลาดทุนพร้อมรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก Technology Disruption ทำให้เกิดนวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจใหม่
ด้วยความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ในปัจจุบันเริ่มมีโครงการที่ดำเนินการเสร็จจนเริ่มให้บริการไปแล้ว และที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะทะยอยสร้างบริการที่เน้นประสิทธิภาพสูง ที่ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงโดยง่าย ลดต้นทุนของอุตสาหกรรม
FundConnext เป็น Platform ต้นแบบแรก ๆ ที่ผมอยากแนะนำให้รู้จัก ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยใช้ Digital เป็นเครื่องมือ ที่ตัวระบบมีการกำหนดมาตรฐานการเชื่อมต่อ การสื่อสาร และการส่งต่อข้อมูลในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายกองทุนรวมให้แก่บริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) และบริษัทนายหน้าผู้ซื้อขายหน่วยลงทุน (SA - Selling Agent) โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจากบริษัทจัดการลงทุน และ Selling Agent ได้สะดวกขึ้น ซึ่งเริ่มให้บริการปี 2560 โดยเริ่มมี บลจ. ที่สนใจใช้บริการ จำนวน 2 ราย ต่อมามีการพัฒนา Feature เพิ่มเติมตามความต้องการของสมาชิกอย่างต่อเนื่องปัจจุบัน บลจ. เพิ่มขึ้นเป็น 15 บริษัท และมี SA ใช้บริการ 16 บริษัท
จุดเด่นของระบบ FundConnext ที่รองรับการรับ-ส่งข้อมูลซื้อขายกองทุนรวมและการชำระราคา ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงกองทุนอย่างกว้างขวางนี้ สร้างความน่าสนใจและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทเคลียร์สตรีมแบงกิ้ง (Clearstream Banking S.A.) ซึ่งเป็นศูนย์ฝากหลักทรัพย์ระหว่างประเทศระดับโลก ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเชื่อมต่อ Platform ของกองทุนรวมเข้ากับระบบ FundConnext
ดังนั้นจึงนับเป็นโอกาสที่ดี สำหรับกองทุนรวมของประเทศไทย ที่จะมีเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น กล่าวคือเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนใน 56 ประเทศทั่วโลกสามารถเข้ามาลงทุนในกองทุนของไทยได้อย่างสะดวกรวดเร็ว นับเป็นความสำเร็จของ Platform นี้อย่างต่อเนื่อง
FundConnext อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท FinNet และ TSD โดยในปี 2561 FundConnext มีโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนภายในประเทศ และพร้อมเชื่อมต่อ Platform กับต่างประเทศในปี 2562 ด้วยมาตรฐาน ISO20022 ทั้งนี้ FundConnext จะทำให้การลงทุนในกองทุนรวม เป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวทุกคน
อีกนวัตกรรมที่อยากเล่าสู่กันฟังคือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนา Payment Platform โครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตลาดทุนให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยระบบดังกล่าวจะเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการชำระเงินและสร้างรูปแบบมาตรฐานการเชื่อมต่อระหว่างสถาบันตัวกลางในตลาดทุนและธนาคารพาณิชย์ อีกทั้งนับเป็นการสนับสนุนนโยบายของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment และคณะอนุกรรมการการพัฒนาระบบการชำระเงินสำหรับตลาดทุน
นอกจากนี้เพื่อใช้ชำระเงินการซื้อขายกองทุนรวมอย่างครบวงจรแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นว่าระบบการชำระเงินสำหรับอุตสาหกรรมตลาดทุน จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ทุกภาคส่วน ช่วยให้สถาบันตัวกลางในตลาดทุนและธนาคารพาณิชย์ทำงานได้อย่างสะดวกมาก และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับ Payment Platform ให้บริการแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยมี 30 บริษัทหลักทรัพย์ และ 12 ธนาคาร โดยให้บริการสำหรับการชำระเงินค่าซื้อขายหลักทรัพย์ในรูปแบบกลุ่ม (Batch Processing) และมีบัญชีต้นทางและปลายทางอยู่ในธนาคารเดียวกัน และอยู่ระหว่างพัฒนา
ส่วนในระยะต่อไปเตรียมพัฒนาการบริการให้ครอบคลุมกับการชำระเงินประเภทอื่น ๆ ในตลาดทุน เช่น การซื้อขายกองทุนรวม การจ่ายเงินปันผล การจองซื้อหุ้น การฝากและถอนเงินหลักประกัน เป็นต้น
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าโครงการ Digital Transformation เพื่อให้พร้อมรับมือ Digital Disruption โดยเฉพาะจากโจทย์ที่ต้องการลดกระบวนการทำงานที่บริษัทจดทะเบียนในปัจจุบันเกือบ 700 บริษัทจะต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ด้านการเผยแพร่ข้อมูลสู่นักลงทุน
ทั้งนี้ได้มีการสำรวจความต้องการและออกแบบระบบให้ตอบสนองกระบวนการของธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในแบบ End-to-End Service ที่ปรับกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล ลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน เป็น Automated มากขึ้น ได้แก่ ลดขั้นตอนที่บริษัทจดทะเบียนต้องส่งรายงานข้อมูลชุดเดียวกันไปยังหน่วยงานต่าง ๆ และการทำระบบ Automated ในขั้นตอนอนุมัติ IPO ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น
สำหรับแผนงานในอนาคตนั้น ผมเองก็มุ่งหวังต่อยอดกระบวนการทำงานเป็นแบบ One sStop Service เพื่อช่วยให้บริษัทสมาชิกและบริษัทจดทะเบียนสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานและทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้ยังเสนอ Solution ที่เอื้อการจัดประชุม e-meeting สำหรับบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ที่จะช่วยบริหารจัดการประชุมแบบ Paperless อีกทั้งสามารถกำหนดสิทธิ์การดูข้อมูลในแต่ละการประชุมได้อย่างสะดวก
อีกเรื่องที่ผมอยากจะบอกเล่าคือ การส่งเสริม “นวัตกรรม” ให้เกิดขึ้นเป็นวัฒนธรรมองค์กรของเราไปแล้ว จึงมีการจัดโครงการ SET Innovation Awards ซึ่งเป็นการประกวดผลงานด้านนวัตกรรมของพนักงานตลาดหลักทรัพย์ฯ มาตั้งแต่ปี 2560
และเมื่อปีที่ผ่านมาได้มีการขยายผลสู่ภาคตลาดทุนให้ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการจัดโครงการ Capital Market Innovation Awards ซึ่งเป็นเวทีการประกวดสุดยอดนวัตกรรมครั้งแรกของภาคตลาดทุนไทย โดยมีผลงานที่ส่งเข้าร่วมโครงการกว่า 60 ผลงาน จากหน่วยงานในภาคตลาดทุน มหาวิทยาลัย ฟินเทค และประชาชนทั่วไป
ที่สำคัญคือ จากการประกวดผลงานด้านนวัตกรรมของพนักงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เกิดโครงการต่าง ๆ ที่นำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้งานจริง ดังที่ผมจะยกตัวอย่าง อาทิ
เป็นระบบจัดการประชุมที่อํานวยความสะดวกในการดําเนินการประชุม เริ่มตั้งแต่การจัดกลุ่มประเภทการประชุมตามกลุ่มผู้เข้าร่วม โดยสามารถกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลได้ การจัดทำวาระการประชุม การนําเรื่องที่เสนอวางตามวาระการประชุม การแจ้งวาระการประชุมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมดูวาระการประชุมที่อยู่ในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ล่วงหน้าก่อนการประชุม และสามารถประชุมผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ของตนเองได้ การบันทึกสรุปการประชุมเป็นเอกสารทั้งหมด และยังช่วยค้นหาข้อมูลย้อนหลัง ซึ่งจะเอื้อให้การจัดการประชุมมีความสะดวก รวดเร็วเป็นระบบ ปัจจุบันเริ่มแนะนำ Solution SET e-meeting ให้กับบริษัทจดทะเบียนแล้วเมื่อปลายปี 2561
Mobile Application สำหรับมนุษย์เงินเดือน จากที่คนไทยวัยทำงานกว่า 40 ล้านคน ส่วนใหญ่ขาดความรู้และการวางแผนที่ดี จึงประสบปัญหาการเงิน ไม่มีเงินออม ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ “เงินไม่พอใช้ เป็นหนี้” ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินโครงการ “Happy Money, Happy Retirement” เพื่อส่งเสริมและให้ความรู้ด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนแก่มนุษย์เงินเดือน โดยให้ความรู้มาแล้วไม่น้อยกว่า 400 องค์กร ในปี 2560-2561 แต่เพื่อให้การเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จึงได้พัฒนา mobile application เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการเงิน ส่งเสริมให้มนุษย์เงินเดือน มีการออมและลงทุนสม่ำเสมอในระยะยาว เน้นการบันทึกรายรับรายจ่าย สามารถวางแผนการใช้จ่าย รู้ฐานะทางการเงิน ตามแนวคิด “SET สุขเงิน สร้างได้”
เป็นโครงการที่เน้นการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลการลงทุน สำหรับผู้พิการทางสายตา เป็นโครงการที่เน้นการพัฒนาและการส่งต่อข้อมูลในรูปแบบ Social, Website, Mobile Application ให้ผู้พิการทางสายตาได้เข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วเทียบเท่ากับคนปกติ ซึ่งปัจจุบันได้ประสานงานกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำเป็นโครงการโดยจะนำร่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะขยายผลต่อไปยังบริษัทหลักทรัพย์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายโครงการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังดำเนินการ ซึ่งจะมีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่า โดยจะมีการประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ อาทิ โครงการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ งานที่จะช่วยลดภาระหรือเกิดประโยชน์ร่วมกันในอุตสาหกรรม เป็นต้น
เรามีความคาดหวังว่าแผนการดำเนินงานดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ร่วมอุตสาหกรรมรุดเดินหน้าธุรกิจด้วยความเชื่อมั่นใน Platform ต่างๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาขึ้น และสามารถแข่งขันในธุรกิจด้วยการจัดการต้นทุนอย่างเหมาะสม
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด