โดย ดร. จาชชัว แพส, SCG Corporate Innovation Director และ Managing Director ของ Addventures by SCG
ทำไมประเทศไทยถึงยังไม่มี Unicorn ? ...
เป็นคำถามที่มีคนถามผมมาค่อนข้างมาก จึงทำให้ผมมองย้อนกลับไปแล้วลองเทียบอัตราของการเกิดขึ้นของ Unicorn หรือถ้าให้อธิบายสั้น ๆ ก็คือ ธุรกิจ Startup มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ว่าในต่างประเทศที่หลาย ๆ คนนำมาเป็นตัวเทียบกับประเทศไทย เกิดขึ้นบ่อยขนาดไหน
ดังนั้นสิ่งแรกที่ผมอยากจะให้ทำความเข้าใจก่อน คือ เมืองนอกเขาเริ่มกันมานานแล้ว และผลลัพธ์ที่ออกมานั้นมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย
สำหรับประเทศไทยผมจึงหาเหตุผลที่ปัจจุบัน Startup ของเรายังไม่สามารถเป็น Unicorn ได้สักที โดยมี 3 เหตุผลหลัก ๆ ดังนี้...
หนึ่ง เรื่องของ ‘เวลา’ หากลองมองย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่า สำหรับประเทศไทยวงการ Startup เพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อปี 2012 ซึ่งตอนนี้ไม่มี Unicorn จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร และไม่ใช่ว่าประเทศไทยไม่เจ๋ง แต่เป็นเรื่องของระยะเวลาจริง ๆ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของวงจรธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับธุรกิจ Startup ที่จะ scale up จนกว่าจะเป็น Unicorn ได้นั้น ย่อมต้องมีการหมุนเวียนผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลวมาก่อน วนซ้ำแบบนี้อย่างน้อยประมาณ 1-2 ครั้ง จนกระทั่งเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วธุรกิจเราขาดอะไร แล้วดำเนินการปรับปรุง แก้ไขให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น
หลายต่อหลายครั้งที่บางคน เมื่อบอกว่าจะทำ Startup แต่ทั้งทีมกลับมีแค่คนที่รู้แค่เรื่องเดียวกันหมด เช่น Fintech ในทีมมีแต่คนรู้เรื่องการเงิน แต่กลับไม่มีคนที่เขียน coding เป็นเลย เลยกลายเป็นว่าต้องไปหาคนมาทำ ซึ่งกว่าคนเขียน coding ได้ จะสามารถเข้าใจ Fintech ขั้นพื้นฐาน เพื่อที่จะสามารถทำอะไรต่อได้นั้น ก็ใช้เวลาไปมากเหมือนกัน
ดังนั้นท้ายที่สุดแล้วผมไม่ได้บอกว่าประเทศไทยจะไม่เกิด Unicorn แต่สามารถเกิดได้แน่ ๆ เพียงแค่ต้องใช้เวลา...
สอง คือ คนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี กลายเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่ต้องการสูง แต่เท่าที่เห็นหลายครั้งคนที่โดดเด่นในเรื่องเทคโนโลยีและออกมาทำธุรกิจเอง ยังไม่ได้มีประสบการณ์ในการทำงานที่มากพอ ทำให้ส่วนใหญ่ที่เห็นมักจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก
และถ้าลองสังเกตดู Startup เจ้าแรก ๆ ของไทยที่เกิดขึ้นมักจะเป็น business-to-consumer (B2C) ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า สิ่งที่ทุกคนคุ้นชิน และมีความเชื่อว่า Startup ต้องเป็นธุรกิจที่เป็นแพลตฟอร์มบางอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นได้ว่าจะปรากฎออกมาในรูปแบบของแอปพลิเคชัน
แต่ถ้าเรามาลองมองของต่างประเทศจะพบว่า หลาย ๆ ผู้ประกอบการที่เกิดขึ้น เขาจะมีประสบการณ์ทำงานในองค์กรใหญ่มาก่อนสักระยะหนึ่ง เขาจะมี passionate กับเรื่องนั้น ๆ จากสิ่งที่เขาพบเจอ เช่น หากเราไปทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีกมา แล้วมีปัญหาอย่างหนึ่งเกิดขึ้นบ่อยมาก จนกลายเป็นปัญหาที่ค่อนข้างเรื้อรัง และเมื่อเรารู้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร เราก็จะทำ ซึ่งถือเป็นการมองเห็น pain point ของลูกค้าจริง ๆ แบบนี้แล้วโอกาสที่จะประสบความสำเร็จย่อมมีมาก
สำหรับประเทศไทย เนื่องจากเพิ่งเริ่มและหลายคนก็มองเป็น trend ว่า ฉันอยากจะทำ Startup แต่ฉันยังไม่รู้จริง ๆ เลยว่าปัญหาคืออะไร แล้วลูกค้ามีความต้องการเช่นนั้นจริง ๆ หรือไม่ แล้วลองทำไปก่อน แน่นอนว่าโอกาสที่จะล้มเหลว ย่อมมีสูงมาก ซึ่งปัจจุบันมีแบบนี้ค่อนข้างมาก
อย่างที่บอกไปว่า การทำธุรกิจตรงนี้ ถ้าทำไปเรื่อย ๆ ผ่านสถานการณ์ของการประสบความสำเร็จและการประสบกับความล้มเหลว เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นสิ่งที่ยังคงขาด แล้วปรับปรุงมัน จนเป็นวงจรเช่นนี้หลายครั้ง จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วหลายธุรกิจไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมากขนาดนั้น แต่เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่คอยสนับสนุน หรือเป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจนั่นเอง...
สาม คือ ประเทศไทยแทบจะไม่มี Deep Tech เลย สังเกตดูจากงานวิจัยต่าง ๆ ที่ออกมา มักจะเป็นการ Applied Research คือ นำงานวิจัยมาจากต่างประเทศแล้วมาประยุกต์ ให้เหมาะกับเราเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็น Exploratory Research คือ เราวิจัยและพัฒนาขึ้นมาเอง ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรครับ ถือว่าเป็นหนึ่งในนวัตกรรมเหมือนกัน คนหนึ่งสร้างขึ้นมา และมีคนอื่นเอามาปรับใช้ให้เหมาะกับวิถีชีวิตของประเทศนั้น ๆ
นี่เองที่เป็นสาเหตุว่า Deep Tech จึงมีน้อยในประเทศไทย...
ซึ่งหากเปรียบเทียบกับของต่างประเทศ บางครั้งสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ก็ส่งผลเหมือนกัน อย่างเช่น ที่เทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น Startup Nation และเป็นเมืองอันดับ 1 ของโลกในการลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยประชากรของเขาเมื่อเรียนจบต้องมาเป็นทหาร และหลายคนต้องมาทำเรื่องของเทคโนโลยี เพราะประเทศของเขาเป็นประเทศที่อยู่ท่ามกลางประเทศที่มองว่าเป็นศัตรู เขาก็ต้องพัฒนาคนให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีทางการทหารนั่นเอง
หรือแม้กระทั่งจีน ที่ในระยะหลังจะเห็นได้ว่าไปไกลมาก เขาก็มีสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้ต้องพัฒนาอย่างก้าวกระโดดหลายอย่าง และผมมองว่าไทยก็จะเป็นแบบนั้นในไม่ช้า ซึ่งถ้าเทียบกับเวียดนาม อินโดนีเซีย เราไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่เลย
"อย่างที่ผมทำในส่วนของ Addventures หรือว่า Zero to One โมเดลธุรกิจเป็นรูปแบบ Business to Business (B2B) ซึ่งจะเป็นการทำธุรกิจที่เป็นส่วนเสริมให้กับธุรกิจหลักของ SCG ไม่ได้เป็น mass product ทั่วไป ก็ไม่เสมอไปว่าอนาคตจะได้เป็น Unicorn หรือไม่ แต่ให้มองว่าสามารถสร้าง impact อะไรให้กับธุรกิจและสังคมได้มากกว่า"
ผมขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ผมมองว่าเป็นตัวอย่างที่ดีเลยทีเดียว คือ Amazon ซึ่งเคยเป็น Unicorn มานานมากแล้ว โดยเขาเริ่มธุรกิจมาตั้งแต่ปี 1994 และในวิธีการทำงานของเขา ได้มีการคิดล่วงหน้าแล้วว่าจะทำอะไรต่อไป ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นได้ดีเลยว่า กว่าที่จะเติบโตขึ้นมาให้คนมองว่าเจ๋งขนาดนี้ ก็ต้องใช้เวลา
และยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบ คือ เขามี Mindset ของการทดลองทำตลอดเวลา หากอยากหาอะไรใหม่ พนักงานก็มีสิทธิ์ที่จะทำ มีการมาเสนอกัน แล้วแยกกันไปทำ และปลูกฝังกันให้เป็น DNA ของเขาเลยด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ยังมีอีกมุมหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าที่ไม่ได้ใหญ่มาก อย่าง Warby Parker ซึ่งเป็นธุรกิจขายแว่นตา ที่เน้นขายออนไลน์ โดยมีการวางโมเดลธุรกิจที่ต้องการทำให้การซื้อแว่นตากลายเป็นเรื่องที่ง่ายและมีราคาถูก โดยสามารถทำเลนส์แบบ customize ได้ เนื่องจากในสหรัฐอเมริกา การตัดแว่นใหม่ในแต่ละครั้งมีราคาที่สูงมาก และมีตัวเลือกน้อยจากการที่ต้องผูกขาดกับเจ้าใหญ่ ธุรกิจนี้เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก และสามารถที่จะสร้างรายได้เกินเป้าหมายได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และก้าวขึ้นเป็น Unicorn ได้ ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี
จากทั้ง 2 เคสที่ได้ยกตัวอย่างไป สำหรับผมแล้ว ผมมองว่า Unicorn มีหลายแบบ ซึ่งการที่เกิดขึ้นได้นั้นมันไม่มีสูตรตายตัว และก็ขึ้นอยู่กับจังหวะ บางคนก็ใช้เวลานาน บางคนก็ใช้เวลาไม่กี่ปีก็สามารถเป็นได้ เพราะว่าอาจจะไปทำธุรกิจในประเทศที่มีประชากรเยอะ และอาจจะตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุดพอดี
สุดท้าย สำหรับ Startup จริง ๆ แล้ว ถ้าไม่ได้เป็น Unicorn แล้วมาโดนซื้อ หรือ IPO (Initial public offering) ไป ผมถือว่าประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน อยู่ที่ว่าสิ่งที่เราทำนั้นส่งผลต่อคนหมู่มากขนาดไหน ดังนั้นอย่างที่บอกว่ามันไม่มีสูตรตายตัวของความสำเร็จ
ซึ่งไม่แน่ว่าสำหรับประเทศไทยคนที่ได้เป็น Unicorn ก่อน อาจจะเป็นเรื่องที่เราคาดไม่ถึงเลยก็ได้...
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด