สะท้อนมุมมองของสงกรานต์ อิสสระ ทำไม Vaccine ต้าน Covid-19 ยังไม่ใช่ทางออกที่จะให้ภาคธุรกิจไปต่อ | Techsauce

สะท้อนมุมมองของสงกรานต์ อิสสระ ทำไม Vaccine ต้าน Covid-19 ยังไม่ใช่ทางออกที่จะให้ภาคธุรกิจไปต่อ

Vaccine ต้าน Covid-19 ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับการพลิกฟื้นจากวิกฤติที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดโรคระบาดไปทั่วโลก จึงยังต้องเรียนรู้และเฝ้าระวัง ในมุมมองของ สงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ ที่คร่ำหวอดในแวดวงอสังหาริมทรัพย์และ Hospitality มากว่า 30 ปี แนะภาครัฐให้ต่อยอดจากระบบการควบคุมที่ดีอยู่แล้ว เพื่อเสริมความปลอดภัยและความเชื่อมั่น พร้อมให้ความเห็นว่าปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมของไทยมีความพร้อมที่จะปรับตัวและเข้าสู่ New Normal ได้ดี รวมถึงการโปรโมทไทยเที่ยวไทยจะช่วยทำให้ที่พักและสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองที่ใกล้ ๆ กรุงเทพได้ประโยชน์ทันที

Vaccine

บมจ. ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ เป็นหนึ่งในแนวหน้าของผู้นำในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยมากว่า 30 ปี ผ่านการพัฒนาโครงการในหลากหลายรูปแบบได้แก่ บ้านเดี่ยว อาคารชุด สำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม ตลอดจนการดูแลและบริหารจัดการอาคารหลังการขาย โดยมีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมการอยู่อาศัยอันทันสมัยและสร้างสรรค์การบริการที่มีมาตรฐานเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทผ่านวิกฤติมาหลายช่วงเวลาเช่นเดียวกับครั้งนี้ที่ผู้ำนำองค์กรอย่าง สงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จะมาถ่ายทอดมุมมองและแนวทางที่จะช่วยให้องค์กรผ่านความท้ายทายจากการระบาดของ  Covid-19 

มีความเห็นต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19 ในปัจจุบันอย่างไร

จริง ๆ ก็ยังไม่ได้ลดลงไปเท่าไร ความเสี่ยงยังไม่แน่นอน ขณะที่เราอยู่ประเทศไทย เรารู้สึกว่าดีขึ้น เพราะช่วงนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย แต่ถ้าอยู่ที่อังกฤษหรือบราซิลก็คงไม่คิดแบบนี้ เพราะนี่เป็น Global Crisis สำหรับผม ความเสี่ยงยังมีอยู่มากและยังไม่รู้จะจบอย่างไร 

ของเราอยู่ในขั้นดี มาถึงมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 2 แล้ว แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่กลับมา และกลับมาในอัตราที่สูง ตอนนี้เรายังคงอยู่ท่ามกลางความสับสนและความกลัวต่าง ๆ ต่อให้ค้นพบ Vaccine ก็ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร เพราะอาจจะมีการกลายพันธุ์ของเชื้อได้ ตอนนี้เรายังสู้กับ Covid-19 อยู่ ด้วยความรู้เกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ยังน้อยด้วย 

“ผมไม่แน่ใจว่าต่อให้มี Vaccine แล้วจะเป็นคำตอบ ดังนั้นเราต้องอยู่ด้วยความไม่ประมาท”

ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจ Hospitality ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 อย่างไรบ้าง

ในปี 2562 ก่อนที่จะมี Covid-19 สถานการณ์ก็ไม่ค่อยดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข GDP ที่ตกลง มีหนี้สินครัวเรือนสูง ธุรกิจท่องเที่ยวหรือธุรกิจส่งออกก็ได้รับผลกระทบ ด้วยค่าเงินบาทแข็งเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ต่างชาติก็หันไปเที่ยวที่อื่น เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ทำให้เราจะเสียเปรียบด้วยเรื่องอัตราเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างมาก ปัจจัยเหล่านี้ก็สะสมมาเรื่อย ๆ จากนั้นก็มาเจอ Covid-19 อีก ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงและ Disrupt เร็วมาก 

สิ่งที่เห็นชัดเจนจากผลกระทบที่กล่าวมา แสดงออกมาในจุดไหนบ้าง

แทบทุกธุรกิจต้องหยุดทั้งหมด เพราะผู้บริโภคไม่ใช้จ่ายและไม่เดินทาง ทำให้ปัญหามันกระทบกับทุกภาคธุรกิจ แต่ 95% ของโลกต่างถูก Disrupt กันหมด ทั้งนี้ต่างประเทศก็พยายามอัดฉีดเงินเข้าไปเพื่อเสริมสภาพคล่องและให้ตลาดกลับมา 

ขณะนี้ทุกประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาก็พยายามรักษาสมดุลระหว่างความปลอดภัยของสุขภาพของคนและเศรษฐกิจ ซึ่งถ้า conservative มากไป คนในประเทศไม่ติดโรค แต่อาจจะอดตาย หรือถ้าทำมากไปก็อย่างบราซิล ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ไม่ยอมให้ประชาชนอดตาย

สำหรับเมืองไทย ถือว่าระบบการรักษาของเราถือว่าดีมาก ถ้าดูการแข่งขันในโลก มาถึงวันนี้เรายังมีผู้ติดเชื้อน้อยเป็นอันดับต้น ๆ แต่ถ้าจะให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยวกลับมา ต้องมีอะไรต่อยอดอีกมาก 

คิดว่าอะไรที่ต้องต่อยอดเพื่อให้ทันท่วงทีและหมุนต่อไปได้

อย่างแรก ผมมองว่าการเดินทางข้ามประเทศตัดออกไปได้เลยจนถึงสิ้นปี เพราะตอนนี้ต้องรู้ก่อนว่าสถานการณ์ในประเทศปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งเราอยู่ในขั้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะแคมเปญไทยเที่ยวไทยก็ถือว่าช่วยทำให้ที่พักและสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองที่ใกล้ ๆ สามารถขับรถไปได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงนั้นได้ประโยชน์ทันที เช่น หัวหิน ชะอำ พัทยา เขาใหญ่ และถ้าสถานการณ์ดีขึ้นช่วงเดือนกันยายน สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นเกาะ เช่น เกาะสมุยหรือภูเก็ตก็อาจจะสามารถเปิดเที่ยวบินให้ไปท่องเที่ยวได้ เพราะด้วยสถานการณ์ปกติที่คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ 10 ล้านคนต่อปี ผมคิดว่าน่าจะมีส่วนช่วยให้รายได้ตรงนี้กลับมาในประเทศได้ 

Vaccine

ในธุรกิจ Hospitality จะมี New Normal อะไรเกิดขึ้นและจะปรับ Business Model อย่างไรบ้าง

คนส่วนใหญ่เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก และจะตระหนักเรื่องการไปอยู่ในที่มีคนจำนวนมาก แต่รู้สึกว่าการไปสถานที่ซึ่งเป็นธรรมชาติและมีแสงแดด ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย มีความเชื่อว่าแสงแดดฆ่าเชื้อ Covid-19 ได้ ดังนั้นในส่วนโครงการ Hospitality ที่เป็น ในมืออย่างโรงแรม ศรีพันวา และ โรงแรม บาบา บีช คลับ จึงน่าจะเป็นที่พักซึ่งลูกค้าสนใจ  เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ให้ความเป็นส่วนตัวสูง เช่น Private Pool

ในแง่การปรับ Business Model ของเรา ในส่วนโรงแรมที่มีหลายร้อยห้อง ตอนนี้ก็คงต้องปิดครึ่งหนึ่งและเปิดให้บริการแค่ครึ่งหนึ่ง เพื่อจะได้ไม่แน่นเกินไปสามารถทำ Social distancing ได้

ถ้าสถานการณ์กลับมาดีขึ้น พฤติกรรมของคนก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ต้องคอยดูไปอีก 3-4 เดือน ถ้าเราควบคุมได้ดี เราก็อาจจะค่อย ๆ เปลี่ยน ตอนนี้ความสำคัญคือการปรับตัวของคนให้เข้ากับสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าให้ดีและเร็วที่สุด 

แต่หลัก ๆ ตอนนี้โรงแรมในเมืองไทยมีความพร้อมที่จะปรับตัวละพัฒนาเข้าสู่ New Normal อย่างไรก็ตาม ต่อให้เขาทำดีที่สุดหรือทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ก็ยังไม่พอ ทางรัฐบาลก็ต้องช่วยสนับสนุนด้วยอีกแรง เช่น การคัดกรองคนที่เข้ามาในประเทศ มาตรการควบคุมและติดตาม ถ้าดีก็จะช่วยเสริมความปลอดภัยให้กับลูกค้าได้ 

ถ้าเราเปิดประเทศได้ หลายคนก็อยากจะเข้ามาเพราะ ประวัติดี มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตน้อย มีการรักษาที่ดี ค่ารักษาถูก แต่ในการเปิดให้เข้ามาก็ไม่ใช่ว่าใครอยากเข้ามาก็เข้าได้ ฉะนั้นเราก็ต้องมีมาตรการต่าง ๆ รองรับด้วย ซึ่งผมคิดว่าเขายอมรับ เช่น ถ้าเข้ามาก็ต้องกักตัว 14 วัน เป็นต้น

“ใน 1-2 ปีที่ผ่านมาที่เราเสียลูกค้าไป แต่ตอนนี้สามารถดึงลูกค้ากลับมาได้ เพราะเรามีประวัติที่ดีและมีมาตรการจากภาครัฐช่วยเสริม”

มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ  Hospitality เพียงพอหรือไม่

ก็ยังถือว่าน้อย คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มีเป็นล้านคน สำหรับผมคือต้องมี Soft loan ออกมาแล้ว แต่ขณะนี้ก็ยังไม่เห็นอะไร แม้รัฐบาลบอกว่าจะช่วย ถ้าไม่ช่วยก็ตายกันหมด เพราะมีโรงแรมหลายหมื่นแห่ง ถ้าผู้ประกอบการไปต่อไม่ไหว เขาก็ดูแลพนักงานไม่ได้ พนักงานอยู่ไม่ได้ ประเทศก็อยู่ไม่ได้ จริง ๆ ต้องรีบมีมาตรการออกมา แต่ก็ยังไม่เห็นที่เป็นรูปเป็นร่าง 

รายได้ที่หายไปในช่วงที่ผ่านมา เรามีแผนกู้วิกฤติหรือมาตรการรองรับอย่างไร 

ในช่วงที่ผ่านมาเราทำอะไรได้ก็ทำเพื่อลดค่าใช้จ่าย ทั้งในส่วนผู้บริหาร พนักงานและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ต้องรัดเข็มขัดให้เต็มที่เพราะไม่มีรายได้เข้ามา แม้จะมีบางส่วนรัฐเข้ามาช่วย แต่หลังจากนั้นเมื่อเริ่มเป็นช่วงที่รายจ่ายสูงขึ้นแต่รายรับที่เข้ามายังไม่เต็มที่ก็ต้องผ่านจุดนั้นให้ได้ จนกว่ามีลูกค้ากลับมาและบริหารจัดการได้ดีขึ้น ฉะนั้นเงื่อนไขต่าง ๆ ก็ต้องเปลี่ยนไปมาก ต้องเข้าไปปรับหน้างาน และตอนนี้ยังไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ 

ธุรกิจ Hospitality ในเมืองไทยจะกลับมาเหมือนเดิมได้เมื่อไร

ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก ผมคิดว่า 2-3 ปี ถ้าไม่ดีก็อาจจะต้องใช้เวลา 5-6 ปี เช่น มีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการที่เกิด Covid-19 ก็มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี เช่น ตอนนี้บริษัทเรานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างเร่งด่วน ถ้าไม่มีเรื่องนี้ก็คงไม่มี Work at Home ต่อไปเราอาจจะใช้พื้นที่ในออฟฟิศน้อยลงและสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

การเป็นผู้นำองค์กรในปัจจุบัน คิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ท้าทายมากที่สุด

การที่อยู่ท่ามกลางพายุ แล้วจะฝ่าไปอย่างไร ทั้งหมดนี้จึงอยู่ที่ใจ ใจสำคัญมาก จิตใจที่แน่วแน่ว่าจะผ่านไปได้ ขณะเดียวกันถ้าผ่านไปได้แล้วก็ใช่ว่าจะบุกเหมือนไปรบก็ไม่ได้ ต้องทำใจให้สงบและพิจารณาปัญหา จากนั้นก็ค่อย ๆ แก้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ถ้าทำได้แล้วก็ต้องค่อย ๆ แก้ไปและไม่จิตตก ตราบใดที่มีความหวังก็ยังมีทางสู้ ถ้าหมดความหวังก็แพ้ 

ส่วนจะทำอย่างไรจึงจะไม่ทำให้จิตตก ก็ต้องฝึก อย่างการนั่งสมาธิ การสวดมนต์ ทำวัตรตามแนวทางพระพุทธศาสนา เปรียบเสมือนการออกกำลังกาย ก็ต้องฝึกฝนบ่อย ๆ เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ ตรงกันข้ามกับจิต จะทำให้จิตใจมีกล้ามหรือแข็งแรง ก็ต้องมีความนิ่ง นั่นก็คือการนั่งสมาธิและฝึกใจ 

แต่ต้องยอมรับว่าวิกฤติครั้งนี้ถือว่าหนักที่สุดตั้งแต่เคยเจอมา


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกบทบาท CVC กับการลงทุนใน Startups ยุคใหม่ กับ Nicolas Sauvage หัวเรือใหญ่ TDK Ventures

เจาะลึกบทบาทของ CVC ในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ พร้อมเผยกลยุทธ์การเฟ้นหาและสนับสนุน Startups รวมถึงแบ่งปันวิสัยทัศน์เชิงลึกรวมถึงกลยุทธ์การลงทุนใน Startups ที่น่าจับตามอง โดย Nico...

Responsive image

คุยกับ ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5

รู้จัก ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5...

Responsive image

คุยกับ Andrew Ng ผู้ทรงอิทธิพล AI ระดับโลก | Exec Insight EP.75

พบกับบทสัมภาษณ์พิเศษจาก Andrew Ng โดย Techsauce...