ถอดบทเรียนผู้บริหารหญิง 2020 กับการเป็นผู้นำในโลกธุรกิจ | Techsauce

ถอดบทเรียนผู้บริหารหญิง 2020 กับการเป็นผู้นำในโลกธุรกิจ

ในโลกธุรกิจ ผู้หญิงก็สามารถเป็นที่หนึ่ง และเป็นผู้นำได้ ด้วยทักษะความสามารถในการบริหารงาน รวมไปถึงทัศนคติในการมองคน และบริหารคน ทำให้พวกเธอสามารถขึ้นมายืนเป็นผู้บริหารองค์กรได้สำเร็จ และในปี 2020 ที่ผ่านมา ทาง Techsauce ได้พูดคุยกับเหล่าหญิงแกร่งในโลกธุรกิจ ผู้ซึ่งนำธุรกิจฝ่าวิกฤตจนประสบความสำเร็จ จึงมีการรวบรวมบทเรียนจาก 10 ผู้บริหารหญิง 2020 กับการเป็นผู้นำในโลกธุรกิจ พร้อมข้อคิด และแนวทางการบริหารงานในแบบฉบับของ Business Women

1. คุณปฐมา จันทรักษ์

การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กร บทเรียนจากผู้บริหารหญิงแกร่งอย่าง คุณปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กับการทำงานให้สนุก และรักในสิ่งที่ทำ

ในการปรับตัวให้เข้ากับองค์กรใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายๆ คน ในฐานะของผู้บริหารการทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมใหม่ในที่ทำงานใหม่ ถือเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้ว่า ‘การเปลี่ยนแปลง’ จะต้องใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจ และปรับตัว แต่อย่าหมดไฟกับการทำงาน สร้างความสนุกให้กับการทำงาน ทุกคนมีความทุกข์ได้ แต่จงมีความทุกข์แค่วันเดียว ให้คิดว่าทุกวันเป็นการเดินทางของเรา ถ้าเรามีความสุขและสนุกกับมันมากเท่าไหร่ เราก็จะสามารถปรับตัวได้เร็วเท่านั้น และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญไม่แพ้กันในการเปลี่ยนแปลงตามวัฒนธรรมขององค์กรคือ อย่าเปลี่ยนความเป็นตัวตนของเรา แต่ให้ปรับงานให้เข้ากับตัวตนของเรา รวมไปถึงบุคคลอื่นในองค์กรที่จะต้องทำความเข้าใจ และปรับตัวไปด้วยเช่นกัน ในเรื่องของการสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานในองค์กร ผู้นำที่ดีจะต้องแสดงออกให้ชัดเจน เปลี่ยนจากการ Criticize เป็นการให้ความช่วยเหลือในส่วนที่เขาทำไม่ได้ เพื่อไม่ตัดกำลังใจ และต้องคอยสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้พวกเขาด้วย

2. คุณสุวรรณี สิงห์ฤาเดช

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิต ในระบบอุตสาหกรรมก็เช่นกัน ถอดบทเรียนการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในขณะที่โลกกำลังตื่นตัว จากผู้นำในด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอย่าง คุณสุวรรณี สิงห์ฤาเดช President & CEO ของ Siemens Thailand

การสร้างอุตสาหกรรมให้เติบโตในยุคของเทคโนโลยี 4.0 หลายๆ บริษัทได้นำเทคโนโลยีมาใช้ รวมไปถึง Siemens ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดต้นทุน และลดเวลาในการผลิต อีกทั้งยังเป็นการสร้างความต่อเนื่องในการผลิต และไม่ทำให้ธุรกิจถูก Disrupt ซึ่งการจะทำให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ตัวธุรกิจจะต้องอยู่กับสังคมได้ และจะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และอีกแนวทางการบริหารงานที่ว่า เมื่อนวัตกรรมสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนองค์กรได้ การที่ผู้นำสนับสนุนให้พนักงานมีความคิดริเริ่มและสนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้กับองค์กรและสังคม อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้พนักงานสามารถ Reskill และ Upskill และยังทำให้พวกเขาพร้อมจะรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามา

3. คุณแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์

“มองการณ์ไกล เรียนรู้ตลอดเวลา และปรับตัวให้เร็ว การบริหารงานที่ดีจะต้องเข้าใจโลก” แนวคิดการบริหารงานของนักธุรกิจเบอร์หนึ่งด้านการสร้าง Content อย่างคุณแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย ที่ถึงจะมีวิกฤต COVID-19 แต่องค์กรยังสามารถสร้างกำไรได้มหาศาล

ด้วยแนวคิดที่ว่า “การเป็นเจ้าของธุรกิจทุกเรื่อง ห้ามชะล่าใจ แต่เกิดเรื่อง ดีเสมอ เป็นบทเรียนที่จะทำให้ชีวิตเราแข็งแกร่ง” ซึ่งสำหรับผู้บริหารแล้ว ถือเป็นข้อคิดที่น่าสนใจในการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ การมองว่าการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เรียนรู้ให้เยอะ ถามให้เก่ง ทำความเข้าใจให้รอบด้าน สิ่งนี้จะเป็นวิชาติดตัวที่ไม่มีวันสูญหายไปได้ แล้วหลังจากนั้นให้นำมันมาปรับใช้ให้เหมาะสม เพราะเมื่อเกิดวิกฤตวิชาเหล่านี้จะทำให้เราและธุรกิจของเราแข็งแกร่ง และฆ่าไม่ตาย อีกใจความสำคัญของบทเรียนนี้คือ ผู้บริหารจะต้องเป็นคนที่มี Persistence มีความขยัน และมีความอดทน สิ่งนี้จะนำมาซึ่งโอกาส และความสำเร็จ การไม่ย่อท้อต่อความผิดพลาด นำมันมาเป็นบทเรียนและข้อคิดในการปรับตัว เพื่อให้อนาคตเราสามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง

4. ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

เมื่อภาวะโลกร้อน กลายเป็นประเด็นสำคัญ ที่ทำให้สังคมตระหนักถึงการสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ผู้คนมากมาย จึงเริ่มกันไปใช้พลังงานทางเลือกกันมากขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ ถอดบทเรียนจาก ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการบริหาร และรอง CEO บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ กับแนวคิด Solar Rooftop ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หนึ่งเดียวในประเทศไทย

การพัฒนาธุรกิจอยู่เสมอเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ธุรกิจทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เมื่อผู้คนมากมายเริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากการสร้างมลภาวะทางอากาศที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ย่อมจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้ดร.เกษรา เกิดแรงบันดาลใจในการนำแผงโซล่าร์มาติดตั้งตามบ้านและคอนโดตามโครงการอสังหาริมทรัพย์มากมาย เพื่อตอบโจทย์กับพฤติกรรมบริโภคยุคใหม่ โดยไม่กลัวต่ออุปสรรคและความท้าทายที่จะเกิดขึ้น 

ท้ายที่สุด แนวคิดที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ทำให้เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ก้าวขึ้นมาเป็นแถวหน้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยได้อย่างสง่างาม ดังนั้น บทเรียนที่สำคัญ คือ อย่ากลัวที่จะลงมือทำสิ่งใหม่ คิดนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ แล้วธุรกิจนั้น จะยืนหยัดในโลกแห่งการแข่งขันได้อย่างสง่างาม

5. คุณจริญญา จิโรจน์กุล 

จากยางพาราธรรมดาสู่อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มียอดจำหน่ายระดับโลก ถอดบทเรียนจากผู้บริหารหญิงมากความสามารถ คุณจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มียอดจำหน่ายในระดับโลก

เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘ยางพารา’ เป็นสินค้าเกษตรที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย นักธุรกิจมากมายต่างพึงพอใจกับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยวิสัยทัศน์อันก้าวไกลของ ศรีตรังโกลฟ์ ที่เล็งเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ ทำให้ยางพาราไทยได้รับการแปรรูปเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์จนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก ยิ่งกว่านั้น ศรีตรังโกลฟ์ ยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการบริหารจัดการต้นทุนด้วยนวัตกรรม และการขยายช่องทางในการส่งออกตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ธุรกิจก้าวไปพร้อมกับโลกแห่งอนาคตที่ไม่แน่นอน 

เพราะฉะนั้น จงมองหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ เพื่อต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ และพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่ออนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน

6. คุณจรีพร จารุกรสกุล

การแพร่ระบาดของ COVID-19 นับเป็นวิกฤตการณ์ครั้งร้ายแรงที่สุด สำหรับนักธุรกิจมากมายที่กำลังเผชิญ กับสภาวะทางเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ผู้บริหารหญิงท่านหนึ่งกลับมองว่า ช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ในการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อขยายธุรกิจให้กว้างไกลต่อไป ถอดบทเรียนจาก ผู้บริหารหญิงแกร่ง คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น กับการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสทางธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบัน

เมื่อกระดาษสีขาวสะอาด มีจุดดำเล็กน้อยปรากฏอยู่ คนทั่วไปเลือกมองที่จุดด่างดำนั้น เพราะ เป็นจุดที่เด่นกว่า โดยไม่สนใจพื้นที่สีขาวที่เหลือเลยแม้แต่น้อย โอกาสในการเจริญเติบโตทางธุรกิจก็เช่นกัน ทุกคนต่างให้ความสนใจกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น และวิตกกังวลกับอนาคตของธุรกิจ โดยไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้ว ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ 

สิ่งที่นักธุรกิจควรให้ความสำคัญ คือ จุดแข็งทางธุรกิจขององค์กร ใช้สิ่งนั้นค้นหาแนวทางในการพัฒนา และขยายให้เจริญเติบโต คิดนอกกรอบและยึดติดอยู่กับสิ่งเดิมที่เคยทำ เมื่อคุณสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณจะพบโอกาสทางธุรกิจมากมายที่สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในอนาคตต่อไป

7. คุณขัตติยา อินทรวิชัย 

“ใช้ชีวิตเหมือนไม่มีวันพรุ่งนี้ เรียนรู้เหมือนยังอยู่อีกยาวไกล” แนวคิดของผู้บริหารหญิงแถวหน้าของเมืองไทย คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ผู้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารหญิงสูงสุดคนแรก ด้วยประสบการณ์การทำงานกว่า 33 ปี

เส้นทางกว่าจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของคุณขัตติยานั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เธอเริ่มต้นจากการทำงานในตำแหน่งเล็กๆ ที่ใครหลายคนอาจมองไม่เห็นคุณค่า อย่างไรก็ตาม เธอพยายามเปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างสุดความสามารถ เพื่อพิสูจน์ว่าเธอมีศักยภาพมากพอที่จะไปได้ไกลกว่าจุดที่เป็นอยู่ ทำให้ตลอดชีวิตการทำงาน คุณขัตติยาเปลี่ยนตำแหน่ง และความรับผิดชอบไปแล้วกว่า 9 ครั้ง และทุกครั้งที่ได้รับโอกาส คุณขัตติยาจะเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง เพื่อเพิ่มคุณค่าการทำงานของเธอให้อยู่สูงกว่าความคาดหวังของคนทั่วไปเสมอ 

และท้ายที่สุด ผลจากการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้เธอประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น ใช้ชีวิตเหมือนไม่มีวันพรุ่งนี้ เรียนรู้เหมือนยังอยู่อีกยาวไกล

8. คุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ 

หนึ่งในผู้บริหารหญิงคุณภาพที่อยู่คู่กับวงการ HR ประเทศไทยมานาน และมีประสบการณ์การทำงานในหลายประเทศ คุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย ถอดบทเรียนเรื่องการบริหารคนในช่วงวิกฤต เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

เมื่อเจอปัญหาจากการระบาดของ COVID-19 จนทำให้หลายบริษัทต้องลดเงินเดือน หรือถึงขั้นต้องเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งทำให้หลายคนกลายเป็นผู้ว่างงานและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกิดแนวคิดที่ว่า การวางโครงสร้างบริษัทที่ดี ไม่ใช่แค่ทำให้อยู่รอด แต่ต้องมองให้รอบคอบทั้งในปัจจุบัน และอนาคตที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น การสื่อสารให้กับทุกคนในบริษัทเข้าใจถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ทุกคนต้องคิดเสมอว่างานที่เรากำลังทำอยู่นี้ในช่วงวิกฤตแบบนี้ ถ้าเราทำออกมาไม่เต็มที่ ในอนาคตองค์กรอาจจะต้องปิดตัวลง และจะกลายเป็นตัวเราเองที่ไม่มีงานทำ เพราะฉะนั้นในช่วงแบบนี้ทุกคนจะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรต่อไป

9. คุณศุภจี สุธรรมพันธ์

เมื่อ COVID-19 เข้ามา หลายๆ ธุรกิจก็ได้รับผลกระทบ แต่ธุรกิจที่เป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักมากๆ และไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือ ธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรม และสำหรับผู้บริหารหญิงที่พาธุรกิจฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้ได้จนสำเร็จ ต้องยกให้กับแม่ทัพใหญ่แห่งดุสิตธานี คุณศุภจี สุธรรมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กับบทเรียนเรื่องการจัดการความเสี่ยงอย่างมีระบบ

ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้กิจการโรงแรมกลับมาดำเนินการได้อย่างปกติ แต่สำหรับดุสิตธานี ด้วยแนวคิดเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ และการจัดการความเสี่ยงของผู้บริหาร ทำให้ธุรกิจโรงแรมสามารถคืนชีพมาได้อีกครั้ง การจัดลำดับความสำคัญ จะต้องมองว่าธุรกิจของเราตอนนี้สิ่งใดที่จำเป็นที่สุด และสิ่งใดที่สามารถตัดทิ้งได้ เพื่อลดภาระในการดำเนินกิจการ นอกจากนี้ยังต้องมองการณ์ไกล เตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และจะต้องวางแผนจัดการความเสี่ยงต่างๆ อย่างรอบคอบ การดำเนินธุรกิจนนั้นขึ้นอยู่กับคนหลายคน ถ้าผู้บริหารล้ม คนในองค์กรก็จะล้มตาม ดังนั้นจึงควรวางสมดุลในทุกๆ ส่วนให้ได้ จัดการให้เป็นระบบให้ได้ แล้วธุรกิจก็จะไปต่อได้

10. คุณนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์

“เพราะประชาชนสำคัญ” การจะดำเนินธุรกิจอะไรก็ตามต้องเข้าใจประชาชน และให้สิทธิ์ เสรีภาพในการเข้าถึงบริการทุกรูปแบบ ถอดบทเรียนจาก คุณนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ Head of Energy Innovation Pioneer ของ GUNKUL SPECTRUM หน่วยงานนวัตกรรมพลังงาน ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้นำแนวคิด “Energy is a Human Right พลังงานเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่พึงจะได้รับ”

การถือกำเนิดขึ้นของ GUNKUL SPECTRUM ก็ถือเป็นการกำเนิดขึ้นของอนาคตพลังงานทางเลือก ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม พร้อมกับเป็นสะพานเชื่อมระบบสาธารณูปโภคกับพลังงาน และมุ่งทำลายข้อจำกัดแบบเดิมๆ ด้านพลังงาน ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โลกหมุนเร็วขึ้น เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างไม่มีวันหยุด คนก็ต้องปรับตัวตามให้ทัน จะต้องเริ่มฉุกคิด และปรับ Mindset เพื่อพร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ การจะทำให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้าได้ การเข้าถึงคนก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ ยิ่งเราช่วยเหลือและเข้าถึงคนได้มากเท่าไหร่ ในอนาคตทุกคนก็จะไว้ใจกับธุรกิจเรามากเท่านั้น


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึกบทบาท CVC กับการลงทุนใน Startups ยุคใหม่ กับ Nicolas Sauvage หัวเรือใหญ่ TDK Ventures

เจาะลึกบทบาทของ CVC ในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ พร้อมเผยกลยุทธ์การเฟ้นหาและสนับสนุน Startups รวมถึงแบ่งปันวิสัยทัศน์เชิงลึกรวมถึงกลยุทธ์การลงทุนใน Startups ที่น่าจับตามอง โดย Nico...

Responsive image

คุยกับ ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5

รู้จัก ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงกลุ่มบริษัทบ้านปู และอนาคตของธุรกิจพลังงานสู่ทศวรรษที่ 5...

Responsive image

คุยกับ Andrew Ng ผู้ทรงอิทธิพล AI ระดับโลก | Exec Insight EP.75

พบกับบทสัมภาษณ์พิเศษจาก Andrew Ng โดย Techsauce...