เจาะประเด็นกฎหมายสำคัญ 101 ก่อนเข้าสู่โลก NFT และ Metaverse | Techsauce

เจาะประเด็นกฎหมายสำคัญ 101 ก่อนเข้าสู่โลก NFT และ Metaverse

NFT หรือ Non-Fungible-Token และ Metaverse ได้กลายเป็นหนึ่งในเรื่องที่ทั่วโลกต่างให้ความสนเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่าน สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับทั้งภาคธุรกิจ และการปฏิสัมพันธ์ของผู้คน โดยในบทความนี้เรายังอยู่กันในซีรีส์พิเศษที่ทาง Techsauce ร่วมมือกับ Baker & McKenzie Ltd. แบ่งปันความรู้ในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่มีความสำคัญทางธุรกิจ ซึ่งในบทความนี้เราจะพาผู้อ่านไปเรียนรู้ประเด็นกฎหมายที่ควรทราบเกี่ยวกับเพื่อเตรียมพร้อมรับมือก่อนที่จะเข้าสู่โลก NFT และ Metaverse  

ก่อนเข้าตลาด NFT ต้องรู้อะไรก่อนบ้างเป็นอันดับแรก ๆ  

นอกจากข้อมูลเชิงเทคนิคต่าง ๆ ที่ผู้ที่จะเข้ามาในตลาด NFT ต้องศึกษาแล้ว ยังต้องมีการทำความเข้าใจในเชิงกฎหมายด้วยเช่นกัน ซึ่งประเด็นสำคัญอันดับแรก ๆ ที่ควรทราบเมื่อจะทำการซื้อขาย NFT ได้แก่ NFT คืออะไร (เพื่อความเข้าใจว่าเรากำลังซื้อขายอะไรกันอยู่) NFT เป็นทรัพย์สินอะไรในมุมมองกฎหมายไทย เมื่อซื้อ NFT มาแล้วเราได้ทรัพย์สินหรือสิทธิอะไรบ้าง และหน่วยงานหลัก ๆ ของไทยที่กำกับดูแลหรือเกี่ยวข้องกับ NFT มีหน่วยงานใดบ้าง เป็นต้น

คำนิยามของ NFT ในมุมมองของตลาดโลก เทียบกับมุมมองของ Regulator ไทย

Collins English Dictionary (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ HarperCollins) ได้ให้คำนิยามแก่ NFT ซึ่งเป็นคำย่อของ "Non-Fungible-Token" ว่าหมายถึง Digital certificate ที่มีลักษณะเฉพาะ ถูกบันทึกไว้บน Blockchain และถูกนำมาใช้เพื่อบันทึกความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินใดทรัพย์สินหนึ่ง เช่น งานศิลปะ หรือ ของสะสม

พอลองมาเปรียบเทียบกับจากแนวทางการให้คำนิยามแก่ NFT ในมุมมองของ Regulator ไทยกันบ้าง จากแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ("ก.ล.ต.") NFT เป็น "โทเคนดิจิทัลที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือให้สิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือที่เฉพาะเจาะจง โดยไม่สามารถใช้โทเคนดิจิทัลประเภทและชนิดเดียวกัน และจำนวนเท่ากันแทนกันได้ (Non-Fungible Token : NFT)"

จากแนวทางข้างต้น สรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นในมุมมองของตลาด หรือ มุมมองของ Regulator ไทย การให้คำนิยามแก่ NFT ต่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ NFT มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถใช้โทเคนดิจิทัลประเภทและชนิดเดียวกัน และจำนวนเท่ากันแทนกันได้ (Non-fungible) ถูกนำมาใช้แสดงความเป็นเจ้าของในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

นอกจากนี้ แม้ว่า NFT แต่ละชิ้นจะมีจะมีความเฉพาะตัวและไม่สามารถทดแทนกันได้ แต่ในเรื่องความเป็นเจ้าของใน NFT บางประเภท ความเป็นเจ้าของอาจไม่ได้จำกัดอยู่ที่บุคคลเดียว ในกรณีของ Fractional NFTs นั้น กรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของ Fractional NFT สามารถแบ่งแยกย่อยร่วมกันถือได้ ผู้เขียนอยากหยิกยกเรื่อง Fractional NFTs มาพูดถึงในบทความนี้ด้วยเนื่องจากหลักการนี้คล้ายกับเรื่องกรรมสิทธิ์ร่วม ที่เจ้าของร่วมจะได้กรรมสิทธิ์ตามส่วนของตนเพื่อร่วมเป็นเจ้าของกับเจ้าของร่วมรายอื่นในทรัพย์สินหนึ่ง ๆ โดยหากเป็น Fractional NFTs กรรมสิทธิ์ใน Token นั้นสามารถแบ่งแยกย่อย (fractionalized) ได้ ผู้ถือ Fractional NFT จะเป็นเจ้าของในส่วนของ NFT ที่ตนถือ

ซื้อ NFT แล้วได้อะไรบ้าง และทำความเข้าใจเรื่อง Limited License 

ในการซื้อขาย NFT ควรทำความเข้าใจในหลักพื้นฐานของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องด้วย โดยทั่วไป เมื่อเราซื้อ NFT (ซึ่งเป็น Token ชิ้นหนึ่ง) มา เราจะได้ความเป็นเจ้าของใน Token ชิ้นนั้น แต่จะไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเนื้อหา Digital Content ที่ยึดโยงกับ Token ชิ้นนั้น (Underlying Digital Content/Work) เพราะผู้สร้างสรรค์ผลงาน Digital Content จะยังคงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ กล่าวคือ ในกรณีปกติแล้ว ผู้ซื้อ NFT จะไม่ได้รับโอนสิทธิในทางทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights) ในตัวงาน Underlying Work โดยอัตโนมัติ ดังนั้น ผู้ซื้อ NFT จึงจะใช้ประโยชน์จาก NFT นั้นได้อย่างจำกัด แนวคิดดังกล่าวก็ได้ปรากฎในเงื่อนไขการบริการ (Terms of Service) ของแพลตฟอร์ม NFT Marketplace หลายแพลตฟอร์ม ที่มีการระบุในลักษณะที่ว่าผู้ซื้อจะได้รับสิทธิความเป็นเจ้าของใน Token และได้รับสิทธิที่จำกัดบางประการสำหรับการใช้ NFT ที่ไม่ใช่การใช้เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (no right to commercialize) เช่น ได้รับสิทธินำแสดงงานในพื้นที่ส่วนตัวโดยไม่มีวัตถุประสงค์ทางการค้า ทั้งนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายอาจกำหนดสิทธิหน้าที่หรือข้อจำกัดระหว่างกันเพิ่มเติมไปจากเงื่อนไขการบริการได้ โดยเป็นการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายตอนเข้าทำสัญญาซื้อขาย 

ฉะนั้นในทางกฎหมาย สัญญา "ซื้อขาย" NFT ผ่าน NFT Marketplace ต่าง ๆ ไม่ใช่สัญญาโอนลิขสิทธิ์ แต่เป็นเสมือนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิอย่างจำกัด (Limited License Agreement) กล่าวคือ ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะจะคงความเป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ ในงานศิลปะ Underlying Work นั้นอยู่ ซึ่งแม้ว่างานศิลปะนั้นจะถูกนำไปทำในรูปแบบของ NFT เพื่อขายให้แก่บุคคลอื่นแล้ว ศิลปินจึงยังสามารถนำผลงานของตนไปใช้ประโยชน์เพื่อประการอื่นต่อได้ เช่น นำไปจัดแสดงนิทรรศการ นำไปดัดแปลง นำไปอนุญาตให้ผู้อื่นใช้งานเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า เป็นต้น อย่างไรก็ดี ศิลปินผู้สร้างสรรค์อาจถูกจำกัดการใช้ประโยชน์ในงานศิลปะของตนเองตามข้อกำหนดของแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น ห้ามศิลปินนำงานที่ตนเองมิ้นท์ (Mint) ผ่านแพลตฟอร์มนั้นไปมิ้นท์ (Mint) ซ้ำใน NFT Marketplace อื่น เพื่อคงมูลค่า ความหายากของ NFT เป็นต้น

ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์กับ NFT 

กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ทันทีที่มีการสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาโดยไม่ต้องจดทะเบียน (Automatic Protection) แต่เมื่อไม่มีการจดทะเบียน ก็อาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติขึ้นมาได้กรณีที่มีการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น งานศิลปกรรม งานดนตรีกรรม งานวรรณกรรม เนื่องจากเพราะการที่ไม่ต้องจดทะเบียนจึงเป็นการยากต่อการตรวจสอบว่าผู้ใดเป็นผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่แท้จริง จนอาจเกิดกรณีการขโมยงานสร้างสรรค์ของผู้อื่นมาทำ NFT เพื่อขายใน NFT Marketplace ได้ ในทางปฏิบัติ เพื่อลดความเสี่ยงของการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว บาง NFT Marketplace มีกระบวนการตรวจสอบเพื่อลดความเสี่ยงของการนำผลงานซึ่งละเมิดลิขสิทธิ์ (ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดโดยการคัดลอก ทำซ้ำ หรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตมาทำ NFT) ยกตัวอย่างเช่น จัดให้มีระบบหรือวิธีการเพื่อช่วยพิสูจน์ว่าผู้ใช้งานที่จะมิ้นท์ (Mint) ผลงานดิจิทัลลงบนแพลตฟอร์มเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น เช่น บน curated marketplace อาจมีการให้ผู้ใช้งานที่จะมิ้นท์ส่ง portfolio เทียบผลอื่นๆ ของผู้ใช้งานที่จะมิ้นท์ให้ NFT Marketplace ก่อน หรือให้มีระบบหรือวิธีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ใช้งาน กำหนดให้ผู้ใช้งานให้คำยืนยันหรือคำรับรองว่าตนมีสิทธิดำเนินการและไม่ได้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น มีช่องทางแจ้งการละเมิดลิขสิทธิ์ และมีนโยบายนำงานที่ละเมิดออกจากแพลตฟอร์มด้วย ตามหลัก Notice and Takedown ทั้งนี้ บาง NFT Marketplace อาจมีนโยบายจำกัดความรับผิดให้แก่แพลตฟอร์มเองด้วย ฉะนั้น ผู้ซื้อและผู้ขาย ตลอดจนผู้ใช้งานต่าง ๆ จึงควรศึกษาวิธีการใช้งาน ควรรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเอง และเข้าใจในมาตรการดำเนินการตามสิทธิของตนตามที่แพลตฟอร์มกำหนดไว้ให้ดีก่อนเริ่มใช้บริการหรือทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง 

ข้อพิจารณาว่า NFT เป็นทรัพย์สินอะไรในมุมมองกฎหมายไทย

อีกข้อพิจารณาหนึ่งที่สำคัญ คือ NFT จัดเป็นทรัพย์สินประเภทใดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะจะนำไปสู่การพิจารณาต่อไปว่าต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การกำกำกับดูแลของกฎหมายหรือต้องขออนุญาตจากหน่วยงานใดก่อนออกและเสนอขาย NFT หรือไม่ 

ในมุมมองของกฎหมายไทยในปัจจุบัน NFT บางประเภทอาจเข้าข่ายเป็น "สินทรัพย์ดิจิทัล" ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ("พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ") ได้ ซึ่งการจะพิจารณาว่า NFT ใดๆ จะเข้านิยาม "สินทรัพย์ดิจิทัล" ตามกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลไทยหรือไม่ต้องดูรายละเอียดและองค์ประกอบของ NFT นั้นๆ เป็นรายกรณีไป ทั้งนี้ จากแนวทางการตีความล่าสุดของ ก.ล.ต. หากเป็น NFT ที่มีการกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง เช่น มีการออก NFT ที่ให้สิทธิในการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งของที่มีลักษณะทางกายภาพที่จับต้องได้ (physical) หรือไฟล์ดิจิทัล หรือมีการสะสม NFT แล้วให้สิทธิแก่ผู้ถือไปแลกของหรือสิทธิอย่างอื่น จะเข้านิยามโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ได้ ดังนั้น การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ NFT ในลักษณะเช่นว่า ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น ดังนี้

  • เริ่มที่ NFT แบบที่ไม่เป็น "สินทรัพย์ดิจิทัล" ตามกฎหมายไทย (ซึ่งจะต้องเป็น NFT ที่เป็นตัวทรัพย์สินนั้นเอง ไม่มีได้มีการกำหนดสิทธิเพิ่ม ไม่มีวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน) เช่น NFT ที่เป็นงาน digital artwork (ซึ่งไม่มีลักษณะ utility features ร่วมด้วย) หรือ NFT ที่ใช้เป็นโฉนดหรือใบรับรองแสดงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เป็นต้น

  • ในทางตรงกันข้าม NFT แบบที่อาจเป็น "สินทรัพย์ดิจิทัล" ตามกฎหมายไทย เช่น NFT ที่ให้สิทธิผู้ถือ NFT นั้น ไปแลกตั๋วเข้าชมงานคอนเสิร์ต งานอีเวนท์ หรือสะสม NFT แล้วให้สิทธิไปแลกสินค้า เป็นต้น 

NFT Marketplace ที่เป็นศูนย์กลางในการซื้อขาย NFTเข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลตามพรก. สินทรัพย์ดิจิทัล โดยกระทำเป็นการค้าปกติ ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อน

ในทางปฏิบัติ การพิจารณาว่า NFT ใด ๆ จะเป็นหรือไม่เป็น"สินทรัพย์ดิจิทัล" ตามกฎหมายไทย ต้องพิจารณาลักษณะและองค์ประกอบของ NFT ดังกล่าวอย่างละเอียดเป็นรายกรณีไป และผู้ออกเสนอขาย (Issuer) อาจควรพิจารณาเพิ่มเติมด้วยว่าจะมีการหารือกับทางสำนักงาน ก.ล.ต. ตามความเหมาะสมต่อไปด้วยหรือไม่ เพื่อจะได้ทราบว่า NFT นั้น ๆ จะต้องขออนุญาตเสนอขาย ถูกกำกับดูแลและต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ หรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้ หาก NFT ใดเข้านิยามโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ต้องวิเคราะห์ต่อว่า NFT ดังกล่าวมีลักษณะเป็น Utility Token แบบพร้อมใช้ หรือ Utility Token แบบไม่พร้อมใช้ มีความซับซ้อนหรือไม่ และผู้ออกเสนอขาย (Issuer) ประสงค์จะนำไปจดทะเบียนซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ หรือไม่ เพื่อจะได้ทราบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องและพิจารณาว่าจะต้องขออนุญาตเสนอขายจากสำนักงาน ก.ล.ต. หรือไม่ ในช่องทางใด

หน่วยงานใดคือ Key Regulators ของไทยในเรื่อง NFT 

หน่วยงานหลัก ๆ ของไทยที่กำกับดูแลหรือเกี่ยวข้องกับ NFT ได้แก่ สำนักงาน ก.ล.ต. กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และ/หรือกรรมสรรพากร อย่างไรก็ดี ต้องดูข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไปก่อนจะสรุปว่า กรณีนั้นๆ จะเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลของหน่วยงานดังกล่าว หรือหน่วยงานอื่นใดอีกหรือไม่ มากน้อยเพียงไร

Metaverse ในมุมมองนักกฎหมาย

หนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้นเมื่อโลก Metaverse เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ ความเพียงพอและวิธีการปรับใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยหากมองในเชิงภาพรวมแล้ว หลักกฎหมายทั่วไปที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจสามารถนำไปปรับใช้กับกิจกรรมใน Metaverse ได้หลายอย่าง และอาจมีกฎหมายหลายด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายเรื่องการละเมิดสิทธิ กฎหมายที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล กฎหมายที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อและความปลอดภัยไซเบอร์ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ใช้งานและนักกฎหมายควรให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ว่าปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบน Metaverse นั้นเข้าลักษณะเป็นธุรกรรมชนิดใดเพื่อเข้าใจประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง วิธีการตีความกฎหมายที่มีพัฒนาการสอดคล้องไปกับเทคโนโลยี รวมถึงสิทธิหน้าที่ทางกฎหมายที่จะตามมา เช่น การซื้อขายที่อาจเป็นการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้งานที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือแม้แต่การกระทำบางอย่างที่อาจมีโทษตามกฎหมายอาญา 

ในส่วนของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งศิลปินและผู้ประกอบธุรกิจควรคำนึงถึงการใช้เครื่องหมายทางการค้าในโลกเสมือนอย่าง Metaverse ด้วย โดยการใช้งานสินค้าและบริการในโลก Metaverse มีลักษณะและวิธีการใช้งานที่แตกต่างไปจากโลกแห่งความเป็นจริง จึงอาจทำให้เกิดประเด็นทางกฎหมายได้ เช่น พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (Trademark) นั้นจะให้ความคุ้มครองได้ก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนเป็นหลัก มิเช่นนั้น เจ้าของเครื่องหมายการค้าอาจต้องฟ้องบุคคลอื่นฐานลวงขายหรือการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตซึ่งจะกระทำได้ยากกว่า ดังนั้น หากการจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้าของแบรนด์ใดไม่ได้ระบุชัดเจนว่าครอบคลุมไปถึงการใช้งานสินค้าที่จับต้องไม่ได้ (Virtual Goods) ผ่านบริการออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่างๆ ก็อาจทำให้เครื่องหมายการค้าของตนถูกผู้อื่นละเมิดหรือนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตใน Metaverse และยากต่อการเรียกร้องให้มีผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายและความเข้าใจผิดของผู้บริโภคได้

นอกจากนี้ การทำธุรกรรมบางอย่างบน Metaverse ที่ใช้เทคโนโลยี Smart Contract ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย NFT และสินทรัพย์ดิจิทัล การแลกเปลี่ยนสิ่งของในเกมส์ และการกำหนดสิทธิได้รับค่าตอบแทนแก่ศิลปินที่ขายงาน NFT อาจเกิดประเด็นทางกฎหมายที่ต้องพิจารณาต่อไป เพราะการเข้าทำสัญญาแบบใช้เทคโนโลยี Smart Contract ผู้พัฒนาโค้ด (Code) จะสามารถกำหนดเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดผลโดยอัตโนมัติ มีความแตกต่างกับการทำสัญญาทั่วไปตั้งแต่ในขั้นตอนของการแสดงเจตนาจนไปถึงการบังคับสิทธิตามสัญญา ฉะนั้น Smart Contract เป็นประเด็นที่น่าคิดและน่าติดตามกันต่อไปในอนาคตว่าในแง่ของกฎหมายจะสามารถบังคับใช้ Smart Contract ได้มากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการร่างสัญญา หรือการทำธุรกรรมต่างๆ 

*************************

บทความนี้เขียนโดย คุณโสมิกา ภคภาสน์วิวัฒน์ คุณกฤติยาณี บูรณตรีเวทย์ และ คุณกนกพรรณ ภูวรัตนกุล ทนายความจาก Baker & McKenzie Ltd

*************************

ที่มา/อ้างอิงจาก:

https://www.collinsdictionary.com/dictionary/english/nft

https://www.sec.or.th/TH/Pages/News_Detail.aspx?SECID=8991

https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2565/060165.pdf

https://www.sec.or.th/TH/Pages/News_Detail.aspx?SECID=9339&NewsNo=33&NewsYear=2565&Lang=TH&_sm_au_=iVV0t5HWgVpqnkFsKkM6NKsW8f6TG




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Metaverse บำบัดสุขภาพจิต

Metaverse for Mental Health เทคโนโลยีที่พัฒนาเพื่อสนับสนุนสุขภาพจิตในทุกด้าน ทั้งการป้องกัน การวินิจฉัย การบำบัด การรักษา รวมไปถึงการวิจัย ผ่านการเชื่อมต่อผประสบการณ์ด้วย VR และ AR...

Responsive image

เปิดระบบพลังงานบนโลก Bitkub Metaverse ไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่ที่ชาว Rabbitian ไม่ควรพลาด!

Bitkub Metaverse ได้เนรมิตขึ้นภายใต้เรื่องราวในจักรวาล XRB Galaxy และสามารถถ่ายทอด Visual Effect ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ โดยผู้เล่นจะสามารถเข้ามาเดินบนดาวดวงนี้ ด้วยการสวมบทบาทเป็น...

Responsive image

ชวนรู้จักระบบสัมปทานบน Bitkub Metaverse กุญแจสำคัญสู่การขับเคลื่อนจักรวาลใบใหม่ฝีมือคนไทย

Bitkub Metaverse ชวนทำความรู้จักระบบสัมปทานก่อนการเปิดให้ทุกท่านได้สัมผัสประสบการณ์บนจักรวาลใบใหม่ที่จะเปิดในกลางปี 2566 นี้...