ตั้งแต่แมทธิว ดีน นักร้องและนักแสดงมากฝีมือออกมาประกาศว่าตนเองติดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ Covid-19 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดคลื่นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่กับตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศ เพราะก่อนหน้านั้นคุณแมทธิวได้คลุกคลีอยู่กับค่ายมวยคงสิทธาของตนเอง ประกอบกับประเทศมาเลเซียช่วงเวลานั้นก็มีตัวเลขเคสใหม่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากการชุมนุมกันในมัสยิด ทำให้ชาวใต้บางคนในไทยที่เข้าร่วมด้วยก็ติดเชื้อไวรัสนี้เช่นเดียวกัน นำมาซึ่งการประกาศปิดประเทศรวมถึงปิดกิจการหลายประเภทตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ ผลที่ตามมาคือผู้คนขาดรายได้ หนักสุดคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและท่องเที่ยว รวมไปถึงการปิดโรงงานและห้างสรรพสินค้า ทำให้พนักงานหลายคนต้องถูกเลย์ออฟบ้าง ลาไม่จ่ายเงินบ้าง จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้มีผู้เสียหายเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาสู้วิกฤติโควิดนี้
แน่นอนว่ามีผู้เสียผลประโยชน์ก็ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์ เพียงแต่วิกฤติโควิดนี้ปราณีธุรกิจออนไลน์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีบริการขนส่งและเดลิเวอรี่ใหม่ ๆ ออกมารองรับความต้องการของลูกค้า ประกอบกับการที่ผู้คนไม่สามารถออกไปนอกบ้านได้อย่างเคย ทำให้การขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมถึงขีดสุด ซึ่ง iPrice ได้สรุป 4 ไฮไลท์ที่คนไทยพูดถึงมากที่สุดหลังแมทธิวประกาศติดโควิด (Covid-19) จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 มานำเสนอ ดังนี้
7 สินค้าที่มียอดการค้นหาออนไลน์มากที่สุด (ตั้งแต่ 13 มีนาคม – 17 เมษายน)
เมื่อมีเชื้อไวรัสแพร่ระบาดก็เป็นเรื่องปกติที่ผู้คนต้องหาเครื่องมือป้องกันเพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม สินค้าประเภทป้องกันและฆ่าเชื้ออย่างหน้ากากอนามัย, เจลล้างมือ, แอลกอฮอล์ และปรอทวัดไข้จึงเป็นสินค้าที่ต้องติด 1 ใน 7 อย่างแน่นอน ซึ่งนอกจากจะหาซื้อได้ยากแล้ว ราคายังพุ่งขึ้นสูงกว่าเท่าตัว คนส่วนใหญ่จึงเลือกซื้อทางออนไลน์ เพราะสามารถเลือกราคาที่คุ้มค่าที่สุดได้ แถมไม่ต้องกังวลถึงระยะห่างระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเมื่อออกไปซื้อด้วยตนเองอีกด้วย
แต่ที่น่าแปลกใจคืออีก 3 สินค้าม้ามืดอันได้แก่ บัตตาเลี่ยน, สระว่ายน้ำเป่าลม และจักรเย็บผ้า ที่ดูไม่น่าจะเป็นที่นิยมได้ แต่กลับมีบางสาเหตุที่น่าสนใจซ่อนอยู่ เช่น ผู้คนส่วนใหญ่ที่ซื้อบัตตาเลี่ยนเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะผู้ชายเข้าร้านตัดผมเพื่อตัดผมบ่อยกว่าผู้หญิง หากผมยาวเกินความจำเป็นอาจก่อให้เกิดความรำคาญ การซื้อบัตตาเลี่ยนจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้ชายตัดผมได้เองที่บ้าน หรืออีกประการคือซื้อเพื่อตัดผมให้บุตรหลาน โดยปกติเด็กเล็ก ๆ ล้วนไม่ต้องพิถีพิถันกับทรงผมมากนัก เพียงเน้นสั้น และไม่ปกปิดหน้าตาก็พอแล้ว ทำให้บัตตาเลี่ยนเป็นสินค้าที่มีเปอร์เซ็นการค้นหาเพิ่มขึ้นจากปกติถึง 22,333%
ถัดมาคือสระว่ายน้ำเป่าลมที่มียอดผู้ค้นหาสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นอันดับสองถึง 2,749% พบว่ารยอดการค้นหาจะเพิ่มขึ้นช่วงต้นเดือนเมษายนไปจนสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์ไม่นานคือวันที่ 17 เมษายน เหตุเพราะปีนี้ประเทศไทยประกาศให้งดจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด สระว่ายน้ำเป่าลมจึงเป็นไอเท็มราคาถูกที่ช่วยผ่อนคลายความร้อน และสร้างความบันเทิงได้ในระยะเวลาอันสั้น เสริมทับด้วยงานวิจัยจากประเทศฟิลิปปินส์ที่กล่าวถึงความต้องการซื้อสระว่ายน้ำเป่าลมในช่วง Lockdown อีกด้วย
สุดท้ายคือจักรเย็บผ้าที่มียอดการค้นหาเพิ่มขึ้น 2,540% เหตุเพราะประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย ทั้งสำหรับคนที่ใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาเย็บหน้ากากผ้าเพื่อใช้งานเอง เพื่อจำหน่าย และเพื่อบริจาคช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน กลายเป็นเทรนด์แฟชั่นหน้ากากอนามัยระยะสั้น ๆ บางคนก็เอาไปใช้เย็บหมวกกันน้ำลายควบคู่ไปด้วย
การศึกษาข้อมูล iPrice รวบรวมเปอร์เซ็นของสินค้าที่ได้รับการค้นหามากที่สุดจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกว่า 100 ร้านค้าที่ร่วมขายสินค้าบนเว็บไซต์ www.ipricethailand.com ช่วงระยะเวลา 13 มีนาคม - 17 เมษายน รวมเป็นเวลา 5 สัปดาห์
แต่เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง คนก็เริ่มสนใจสินค้าเหล่านี้ลดลงด้วยเช่นกัน จากการกักตุนสินค้าเพื่อหวังทำราคา แต่สถานการณ์ในไทยกลับดีขึ้นเร็วเกินคาด สินค้าที่เคยขายดีก็กลายเป็นขายไม่ออก มีล้นสต็อก จนมีข่าวออกมาเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมว่า พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์มากมายต่างออกมาขายเทหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ หรือประกาศแลกกับสินค้าอื่น ๆ ที่ดูมีค่ามากกว่า จนกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นดราม่าประจำสัปดาห์ ทำเอาหลายคนที่เคยเดือดร้อนเพราะหาซื้อใช้ไม่ได้พากันคว่ำบาตรและไม่ยอมช่วยซื้อสินค้าเหล่านี้ ส่วนสระว่ายน้ำเป่าลม จักรเย็บผ้า และบัตตาเลี่ยนนั้นไม่น่าตกใจ เพราะเป็นของที่สามารถใช้ซ้ำได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่มบ่อย ๆ
โดยตัวเลขเฉลี่ยของการค้นหาโดยรวมของสินค้า 7 อย่างนี้ลดลงมากถึง 97% สระว่ายน้ำเป่าลม หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือมียอดลดลงเป็นอันดับหนึ่งมากถึง 99% ตามติดมาด้วยจักรเย็บผ้า 98% ปิดท้ายด้วยบัตตาเลี่ยน ปรอทวัดไข้ และแอลกอฮอล์ที่มียอดการค้นหาลดลง 97%
การศึกษาข้อมูล iPrice รวบรวมเปอร์เซ็นของสินค้าที่ได้รับการค้นหามากที่สุดจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกว่า 100 ร้านค้าที่ร่วมขายสินค้าบนเว็บไซต์ www.ipricethailand.com ช่วงระยะเวลา 13 มีนาคม - 17 เมษายน รวมเป็นเวลา 5 สัปดาห์ มาเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลา 17 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2563 หรือหลังจำนวนเคสใหม่ลดลงได้สองสัปดาห์
เมื่อรัฐบาลในหลายประเทศประกาศ Lockdown ทำให้ประชาชนขาดรายได้ รัฐจึงได้มอบเงินเยียวยาให้แก่คนในประเทศมากน้อยตามผลกระทบที่ได้รับ โดยฮ่องกงนั้นให้มากที่สุดถึง 10,000 หยวน หรือ 41,000 บาท เพราะมีการระบาดหนักไม่แพ้กับจีน มีความจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน รองมาเป็นประเทศไทยมอบเงินเยียวยา 5,000 บาท นาน 3 เดือน (หรืออาจเป็น 6 เดือนตามความรุนแรงของการระบาด) รวมเป็นเงิน 15,000 บาท อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข่าวว่างบประมาณในส่วนนี้ยังคงกระจายไม่ทั่วถึงสำหรับคนทั้งประเทศ แต่คาดว่าในเร็ววันนี้อาจมีมาตรการช่วยเหลือที่ดีขึ้น ถัดมาคือประเทศสิงคโปร์ที่ประกาศมอบเงิน 600 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 13,500 บาท ให้กับประชาชนทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป และมอบคูปองส่วนลดซื้อของใช้จำเป็นบางส่วนเพิ่มเติม แม้จะมอบจำนวนเงินให้ไม่มาก แต่ด้วยความที่เป็นประเทศขนาดเล็กทำให้สามารถกระจายความช่วยเหลือได้ทั่วถึงมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ส่วนประเทศเวียดนามก็ประกาศมอบเงินเยียวยาให้ 190 ดอลลาร์ หรือราว 6,100 บาท แม้จะไม่มีมาตรการเยียวยามากนัก แต่เพราะคนในประเทศตื่นตัวตั้งแต่ไวรัสแพร่ระบาดใหม่ ๆ ประกอบกับรัฐบาลวางแผนป้องกันดีทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อน้อยที่สุดในภูมิภาค บางวันก็ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มเติม
การศึกษาข้อมูล iPrice รวบรวมมาตรการเงินเยียวยาของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และฮ่องกง ข้อมูลทั้งหมดมาจากเว็บไซต์ดังผู้นำเสนอข่าว Covid-19 ในแต่ละประเทศ ค้นหาแหล่งข้อมูลดังกล่าวได้ที่ https://ipricethailand.com/เทรนด/insights/comparing-financial-support-in-sea/
เพราะไวรัสนี้แพร่ระบาดทางระบบหายใจ แค่การสัมผัสหรืออยู่ในบริเวณที่มีผู้ติดเชื้อก็มีโอกาสติดได้ มีข่าวมากมายรายงานถึงการแพร่ระบาดมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อาจเพราะความเชื่อและการตื่นตัวต่อไวรัสไม่เท่ากัน ทำให้ iPrice บริษัทที่มีพนักงานชาวต่างชาติมากกว่า 25 สัญชาติจัดทำแบบสอบถามเพื่อให้พนักงานแต่ละสัญชาติสำรวจความกังวลของผู้คนในประเทศตนเองที่มีต่อการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 โดยมีข้อสรุปดังนี้
การศึกษาข้อมูล iPrice เก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามจากพนักงาน iPrice Group จำนวน 20 คน 20 สัญชาติ เกี่ยวกับความตื่นตระหนกของการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 ช่วงเดือนมีนาคม 2563
เขียน และวิเคราะห์โดย ขนิษฐา สาสะกุล
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด