Noland Arbaugh มนุษย์คนแรกที่ควบคุมคอมพิวเตอร์ด้วยความคิดผ่าน Neuralink

หากใครติดตามข่าวเทคโนโลยีในช่วงปีที่ผ่านมา น่าจะคุ้นชื่อ Neuralink บริษัทสตาร์ทอัพสายประสาทวิทยาที่ก่อตั้งโดย Elon Musk ซึ่งเพิ่งสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการฝังชิป “Telepathy” ลงในสมองของมนุษย์เป็นครั้งแรก เป้าหมายคือช่วยให้ผู้ที่เป็นอัมพาตสามารถควบคุมอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ด้วยความคิด

และถ้า Neuralink คือเรื่องราวของอนาคตที่กำลังจะกลายเป็นจริง Noland Arbaugh ก็คือมนุษย์คนแรกที่ได้ใช้มันจริง ๆ

Noland Arbaugh: จากการดำน้ำสู่การควบคุมเมาส์ด้วย Neuralink

Noland วัย 30 จากรัฐแอริโซนา ไม่ได้มีโปรไฟล์เหมือนนักพัฒนาเทคโนโลยีล้ำยุค ไม่ได้เป็นวิศวกร ไม่ได้เป็นมหาเศรษฐีสายเทค แค่เป็นผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่หลงรักการเล่นเกม ใช้ชีวิตแบบคนทั่ว ๆ ไป จนกระทั่งในปี 2016 เขาประสบอุบัติเหตุระหว่างดำน้ำ จนทำให้เขาสูญเสียความสามารถในการควบคุมแขนขาไป และต้องใช้ชีวิตนั่งรถเข็นตั้งแต่นั้นมา

จากคนที่เคยขยับตัวไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ต้องกลายมาเป็นคนที่แม้แต่จะหยิบเมาส์ขึ้นมาเล่น Civilization VI ยังทำไม่ได้ ชีวิตของเขาเหมือนถูกตัดขาดจากโลกเดิมไปเกือบทั้งหมด

แต่แล้วในเดือนมกราคม 2024 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

หลังจากเข้าร่วมโครงการทดลองของ Neuralink บริษัทสตาร์ทอัพด้านประสาทเทคโนโลยีที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าก่อตั้งโดย Elon Musk เขาก็กลายเป็น มนุษย์คนแรกที่ได้รับการฝังชิปสมองที่ชื่อว่า “Telepathy” ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี Brain-Computer Interface (BCI) ที่เชื่อมต่อสมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์โดยตรง

พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ Noland คิด แล้วคอมพิวเตอร์ก็ขยับให้เองได้เลยทันที

Neuralink ชิปในหัวที่ทำให้เขาเล่นเกมได้ (เก่งกว่าเดิมด้วย)

ไม่นานหลังการผ่าตัด ชิปเริ่มทำงาน และ Noland ก็ได้ค้นพบความสามารถใหม่แบบไม่ทันตั้งตัว เขาสามารถเล่นเกมด้วยความคิด และยังเร็วกว่าเมื่อก่อนด้วย

ในพอดแคสต์ของ Joe Rogan ด้าน Noland ก็ได้เล่าถึงประสบการณ์ครั้งนี้ว่า “รู้สึกเหมือนมี Aimbot อยู่ในหัว” เพราะการเล็งเป้าในเกมของเขาแม่นยำราวกับมีระบบล็อกอัตโนมัติ นั่นหมายความว่าในทุกๆ เกมที่เขาเล่น เขามีโอกาสชนะเกินครึ่งไปแล้ว

บางครั้งเคอร์เซอร์มันขยับไปก่อนที่ผมจะรู้ตัวซะอีกว่าผมอยากขยับ มันเร็วมาก รู้สึกเหมือนการสื่อสารระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์เป็นหนึ่งเดียวกัน

- Noland Arbaugh มนุษย์คนแรกที่ฝังชิปลงสมอง

Noland ชี้ว่าชิปทำให้เขามีปฏิกิริยาตอบสนองที่เหนือมนุษย์ เพราะโดยปกติแล้ว หากคนเราต้องการขยับมือ สัญญาณที่บ่งบอกความต้องการจะต้องถูกส่งจากสมอง ก่อนที่มือของคุณจะขยับจริงๆ แต่การมีชิปมันเหมือนกับว่าสัญญาณถูกส่งไปอย่างรวดเร็วและการกระทำเกิดขึ้นทันทีก่อนที่เขาจะรู้ตัว

แม้ว่าตอนนี้ Neuralink ยังไม่สามารถใช้เพื่อเล่นเกมที่มีความเร็วสูงอย่าง Call of Duty ได้ แต่ Noland กล่าวว่า “ผมสามารถเล่นเกมกับเกมอื่นๆ อย่าง Civilization VI และ Mario Kart ได้ และผมเชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เทคโนโลยีจะพัฒนาขึ้นมากพอที่จะเล่นเกมใดๆ ก็ได้ รวมถึงเกมในฝันของผมอย่าง Halo ด้วย”

นวัตกรรมล้ำยุค แต่มากับความเสี่ยง

แม้เทคโนโลยีการฝังชิปในสมองจะฟังดูเหมือนก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์ แต่ในความล้ำสมัยนั้นก็แฝงไปด้วยความเสี่ยงที่ยังต้องจับตา

วันหนึ่ง Noland เล่าให้ฟังว่า เขาอยู่ดี ๆ ก็ไม่สามารถควบคุมเคอร์เซอร์บนหน้าจอได้เหมือนเคย การสื่อสารระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์หยุดลงแบบไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า หลังจากทีมวิศวกรของ Neuralink ตรวจสอบ ก็พบว่าสาเหตุอาจมาจากเส้นลวดขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกับสมองเกิดการหดตัว ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับอากาศที่ยังตกค้างอยู่ในกะโหลกศีรษะจากการผ่าตัด ช่วงเวลานั้น Noland ยอมรับว่าเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะกลับมาใช้งานได้อีกหรือไม่

แต่สุดท้ายทีมวิศวกรก็สามารถแก้ไขซอฟต์แวร์ ปรับจูนระบบให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม และยังได้บทเรียนสำคัญที่อาจช่วยพัฒนาการฝังชิปให้ลึกและเสถียรมากขึ้นในอนาคต

นอกจากปัญหาทางเทคนิคแล้ว อีกสิ่งที่ Noland ตั้งคำถามไว้คือ ความเสี่ยงเรื่อง “การโดนแฮ็ก” แม้ในตอนนี้ ผลกระทบอาจแค่ทำให้เคอร์เซอร์ขยับผิดทิศทาง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กเลยหากคิดไปถึงภาพใหญ่ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากอุปกรณ์ที่ฝังอยู่ในสมองของคนเราถูกควบคุมจากภายนอก

และสิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นก็คือเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะการมีชิปในสมองก็เหมือนกับการเปิดประตูให้คนอื่นเข้าถึงพื้นที่ลึกที่สุดของตัวเรา

ไม่ใช่แค่ Noland ไม่ใช่แค่ Neuralink

แม้ชื่อของ Neuralink จะถูกพูดถึงมากที่สุดในแวดวงเทคโนโลยีสมองมนุษย์ แต่ในสนามนี้ยังมีอีกหลายผู้เล่นที่กำลังวิ่งไล่กันอย่างสูสี หนึ่งในนั้นคือ Synchron บริษัทที่เลือกวิธีฝังอุปกรณ์เข้าร่างกายแบบไม่ต้องผ่าตัดสมองโดยตรง แต่ใช้เทคนิคผ่านหลอดเลือดแทน

การรวมกันของมนุษย์กับเครื่องจักรอาจไม่ใช่แค่แนวคิดในนิยายไซไฟอีกต่อไป แต่มันค่อย ๆ ปรากฏขึ้นจริงทีละนิด และ Noland Arbaugh เป็นเพียงบทแรกของเรื่องราวนี้ เขาเข้าร่วมโครงการของ Neuralink ภายใต้ข้อตกลง 6 ปี ซึ่งหลังจากนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าเส้นทางต่อไปจะเป็นอย่างไร

อ้างอิง: futurism, bbc

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

AI วาดสไตล์ Ghibli : OpenAI แอบดึงข้อมูลมาเทรนด์หรือเปล่า ประเด็นที่โลกไม่ควรมองข้าม

ฟีเจอร์ใหม่จาก ChatGPT ที่สร้างภาพสไตล์ Ghibli ทำเอาโลกอินเทอร์เน็ตสะเทือน แต่คำถามใหญ่คือ...นี่คือวิวัฒนาการของเทคโนโลยี หรือการทำลายจิตวิญญาณของศิลปะที่ Ghibli ยึดถือมาทั้งชีวิต ...

Responsive image

ปฐมา จันทรักษ์ ฝาก 5 ข้อถึงผู้หญิง สู่ตำแหน่ง 'ผู้นำ' ในงาน EmpowerHer Asia LEADERSHIP FORUM 2025

สรุปจากที่คุณปฐมา จันทรักษ์ Country Managing Director, Accenture Thailand กล่าวในงาน 'EmpowerHER ASIA LEADERSHIP FORUM 2025, BRIDGING THE LEADERSHIP GAP IN TECH' เวทีสนับสนุนและส่ง...

Responsive image

คมความคิดของผู้หญิงสายเทค และความท้าทายที่ต้องเผชิญ จากงาน SCBX Tech Horizon EP15

สรุปแนวคิดผู้นำที่เป็นผู้บริหารหญิงจากงาน SCBX Tech Horizon EP15 ช่วง Panel Session : Breaking Barriers & Leading the Future เวทีที่เจาะลึกความท้าทายของผู้หญิงในบทบาทการบริหารกลยุท...