เปิดใจ 4 คณะผู้จัดการใหญ่ Agile Team แรกของ SCB | Techsauce

เปิดใจ 4 คณะผู้จัดการใหญ่ Agile Team แรกของ SCB

  • เปิดตัวและเปิดใจ "คณะผู้จัดการใหญ่" ในฐานะ Agile Team แรกของธนาคารไทยพาณิชย์
  • ต่อยอดกลยุทธ SCB Transformation ด้วยการเปลี่ยนวิธีการทำงานตั้งแต่ระดับบน

หลังจากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศโครงสร้างการบริหารงานใหม่ด้วยการแต่งตั้ง 4 ผู้จัดการใหญ่ (President) อย่างเป็นทางการไปเมื่อไม่นานมานี้ ล่าสุด คณะผู้จัดการใหญ่ทั้ง 4 ท่านก็ได้มีโอกาสพบปะสื่อมวลชยบอกเล่าทั้งแนวทางการทำงาน วิสัยทัศน์ เป้าหมาย ไปจนถึงเปิดใจในประเด็นต่างๆ ซึ่ง Techsauce ขอนำเรื่องราวดังกล่าวมาบอกเล่าให้ทุกท่านได้ทราบกัน

คุณอาทิตย์ นันทวิทยา CEO ของ SCB

ก่อนที่คณะผู้จัดการใหญ่ทั้ง 4 ท่านจะพบปะสื่อมวลชน คุณอาทิตย์ นันทวิทยา CEO ของ SCB ได้กล่าวในภาพรวมว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ดำเนินการตามกลยุทธ SCB Transformation เพื่อ “ซ่อม เสริม สร้าง” รากฐานองค์กรให้แข็งแรง ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 40,000 ล้านบาท ช่วยให้เกิดการผลักดันด้านเทคโนโลยีมากขึ้น แต่การลงทุนคงไม่ช่วยอะไรมากนัก หากวิธีการทำงานยังไม่ปรับเปลี่ยน ในปี 2019 SCB จึงรับเอาวัฒนธรรมองค์กรที่เรียกว่า Agile Organisation มาใช้เพื่อให้การทำงานรวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคเทคโนโลยี

จึงเป็นที่มาของการตั้ง Agile Team อันเป็นทีมแรกของธนาคารไทยพาณิชย์คือ คณะผู้จัดการใหญ่ (President) ซึ่งมี 4 ท่าน ประกอบด้วย คุณสารัชต์ รัตนาภรณ์, คุณอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์, คุณอรพงศ์  เทียนเงิน และดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ที่จะนำร่องการทำงานแบบ Agile Organisation ที่เน้นความรวดเร็วผ่านการเชื่อมประสานเป็นหนึ่งเดียว

ผู้จัดการใหญ่ทั้ง 4 ท่าน เริ่มจากคุณสารัชต์ รัตนาภรณ์, คุณอรพงศ์ เทียนเงิน, คุณอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ และดร.อารักษ์ สุธีวงศ์

หลังจากที่คุณอาทิตย์เล่าถึงที่มาคร่าวๆ แล้ว ก็เป็นคิวของคณะผู้จัดการใหญ่ทั้ง 4 ท่าน พูดคุยเพื่อถ่ายทอดแนวทางการทำงานและเป้าหมายซึ่งสะท้อนอนาคตของธนาคารไทยพาณิชย์ เริ่มที่คุณสารัชต์ รัตนาภรณ์ กล่าวว่า “ตามยุทธศาสตร์กลับหัวตีลังกา ผมตั้งใจผลักดันการเติบโตเพื่อมาทดแทนธุรกิจเดิม เป็น New Normal of Growth ผ่าน 2 ธุรกิจด้วยกัน โดยธุรกิจแรกคือ การปล่อยกู้ผ่านช่องทางดิจิทัลหรือ Digital Lending เพื่อเพิ่มช่องทางธุรกิจสินเชื่อไปยังลูกค้ารายย่อย อันเพิ่มเติมจากสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเพื่อองค์กร (Corporate) และอีกธุรกิจหนึ่งคือธุรกิจบริหารความมั่งคั่งหรือ Wealth Management ซึ่งกระทำผ่านกลุ่มลูกค้า 2 ส่วน ส่วนแรกคือลูกค้าบุคคลมั่งคั่งระดับสูง (Ultra-High Networth) จะดำเนินการร่วมกับ Julius Baer และกลุ่มลูกค้าผู้ต้องการบริหารความมั่งคั่งจะมีการนำ Data มาใช้เพื่อให้สามารถบริการแบบรายบุคคลได้ทุกที่ทุกเวลา”

ต่อด้วย ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ กล่าวว่า การพัฒนาขีดความสามารถใหม่ๆ เพื่อรองรับการเติบโตในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิมนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงสิ่งที่ได้สร้างในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า ผมตั้งใจที่จะผลักดัน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่

  1. Platform Banking ธนาคารต้องปรับรูปแบบการให้บริการเป็น Platform ให้ได้อย่างแท้จริงเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หรือในธุรกิจของลูกค้าให้ได้
  2. Partnership Banking การทำงานร่วมกับพันธมิตรในธุรกิจต่างๆ เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า และเติบโตไปพร้อมกัน
  3. Predictive Banking การนำ Data มาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อความเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างถ่องแท้และทันต่อความต้องการ

ในส่วนของคุณอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ เน้นว่า “ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดในการผลักดันภารกิจ SCB Transformation ต้องเกิดจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ที่เปลี่ยนวิถีการทำงาน ส่งเสริมการทำงานให้พนักงานมีความกล้าที่จะเรียนรู้ให้เร็ว (learn faster)กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ และลองผิดลองถูกให้เร็ว (fail faster) แก้ไขและปรับปรุงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการให้ Empowerment เพื่อตัดสินใจ พร้อมกับวัฒนธรรมการกล้าเสี่ยง Risk Culture การปลูกฝังวิธีคิดที่จะนำธนาคารไปสู่องค์กรแห่ง The New Normal of Customer Excellence”

คุณอรพงศ์ เทียนเงิน กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้ คู่แข่งของธนาคารจะไม่อยู่ในรูปแบบดั้งเดิมอีกต่อไป แนวทางการทำธุรกิจจากคู่แข่งใหม่ๆ จะมีความยืดหยุ่นสูง ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เร็ว ผมตั้งใจที่จะโฟกัสยุทธศาสตร์ระยะยาวทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ SCB สามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี โดยมีคุณสมบัติหลัก ได้แก่

  1. ต้องรู้จักลูกค้าอย่างละเอียดรอบด้าน โดยใช้ Data ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  2. ต้อง Super Innovate เพราะในอนาคตเราจะสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็วได้จากการมีนวัตกรรมที่ล้ำหน้า
  3. ความสามารถในการดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพ และต้นทุนที่ต่ำ
  4. ความสามารถในการบริหารความเสี่ยงจากข้อมูลเพื่อสร้างต้นแบบธนาคารแห่งอนาคตที่จะอยู่รอดได้ท่ามกลางคู่แข่งระดับโลกใหม่ๆที่กำลังจะมาถึง

คุณอาทิตย์ ย้ำว่า “ผมและคณะผู้จัดการใหญ่ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานขององค์กร และผลักดันให้ธนาคารเติบโตผ่านกระบวนการ SCB Transformation ที่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในปี2020 เพื่อรับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมธนาคาร สร้างให้ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นองค์กรแห่งอนาคต (The Future Bank) ที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

TikTok เตรียมจำกัดการใช้ฟิลเตอร์ปรับหน้าสวย ป้องกันค่านิยม Beauty Standard ในเด็กต่ำกว่า 18 ปีทั่วโลก

ฟิลเตอร์ไม่ตรงปกเด็กห้ามใช้ เมื่อ TikTok ประกาศจำกัดการใช้งานฟิลเตอร์ปรับหน้าสวยในเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีทั่วโลกเร็วๆนี้ หวังป้องกันค่านิยม Beauty Standard...

Responsive image

ทำไมตลาดรถยนต์ไทยถึงอาจซบเซาสุดในรอบ 15 ปีแม้ว่ารถ EV จะขายดีก็ตาม ?

ตลาดรถยนต์ไทยมองผิวเผินอาจจะดูเหมือนเติบโตจากการเข้ามาของแบรนด์ EV จีน ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันทั้งทางฝั่งรถ ICE รวมถึงการทำสงครามราคาเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ แต่ในความเป็นจริงแล้วตลาดรถย...

Responsive image

AOT เปิดใช้ระบบ Biometric สแกนใบหน้า เริ่มต้น 1 ธันวาคม 2567 ผู้โดยสารระหว่างประเทศใช้งานได้

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดตัวระบบ Biometric ที่ใช้เทคโนโลยีสแกนใบหน้า (Facial Recognition) เพื่อช่วยให้การเดินทางของผู้โดยสารสะดวกและรวดเร็วขึ้น...