ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.0% ต่อปี เพิ่ม 0.25% ซึ่งจะอยู่ที่ 1.25% ต่อปี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 นั้น ท่ามกลางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ส่งผลให้บรรดาธนาคารใหญ่พาเหรดขึ้นดอกเบี้ยตาม กนง.โดยมีทั้งการประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก โดยทั้งหมดนี้คาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องยาวไปจนถึงปี 2566 ด้วยเช่นกัน
เริ่มกันที่ ธนาคารกรุงเทพ ถือเป็นรายแรกที่นำร่องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับเพิ่มขึ้น 0.15-0.50% ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา หรือ MLR เพิ่มขึ้น 0.40% ต่อปีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือ MOR เพิ่มขึ้น 0.375% ต่อปีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR เพิ่มขึ้น 0.30% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย.65 ทั้งนี้การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มผู้ฝากเงิน และเพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบกับกลุ่มเปราะบาง ในด้านเงินกู้ ธนาคารจึงได้ปรับอัตราดอกเบี้ย MRR ในอัตราที่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อื่นๆ
ถัดมา ธนาคารกสิกรไทย ได้มีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี หรือเอ็มแอลอาร์ และลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือเอ็มโออาร์ 0.25% ส่วนดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ปรับเพิ่ม 0.13% และปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.10-0.40% โดยเอ็มแอลอาร์จาก 5.72% เป็น 5.97%, เอ็มโออาร์ จาก 6.09% เป็น 6.34% และเอ็มอาร์อาร์ จาก 5.97% เป็น 6.10% มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 65 ที่ผ่านมา
ขณะที่ ธนาคารกรุงไทย ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุด 0.50% ต่อปี เพื่อเพิ่มรายได้กับผู้ฝากเงิน และเสริมสร้างวินัยการออม สร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคต ทั้งนี้ธนาคารให้ความสำคัญกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อดูแลช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถปรับตัวได้อย่างไม่สะดุด โดยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) เพิ่มขึ้น 0.25% ต่อปี เป็น 5.75% ต่อปี และ 6.32% ต่อปี ตามลำดับ
อีกทั้งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย (MRR) เพียง 0.15% ต่อปี อยู่ที่ระดับ 6.37% ต่อปี ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ปรับขึ้นต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของโลก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
ส่วน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ สอดรับกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำในอัตราสูงสุด 0.45% เพื่อสร้างผลตอบแทนเงินออม ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR MOR และ MRR ปรับขึ้นในอัตรา 0.125% - 0.25% มีผลวันที่ 7 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.15%-0.50% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125%-0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ และใบรับเงินฝากประจำ ประเภท 2 ปี 3 ปี และ 5 ปี 0.10 - 0.50% ต่อปี เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการเก็บออมเงินได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเงินฝากที่ได้รับประโยชน์ทั้งบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ และนิติบุคคล เป็นต้น ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2565 ขณะเดียวกัน ธอส. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ไว้ในระดับปัจจุบันต่อไปถึงช่วงสิ้นเดือนมกราคมปี 2566 เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายเงินงวดให้กับลูกค้าในระดับเดิมต่อไป
ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ TTB ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เช่นกัน โดยปรับอัตราดอกเบี้ย MRR เพิ่มขึ้น 0.20% ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นที่น้อยกว่าการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่จะมีการปรับขึ้นอัตรา ดอกเบี้ย MLR 0.25% และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย MOR 0.25% โดยการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ปรับขึ้นดอกเบี้ยฝากประจำ อยู่ที่ระหว่าง 0.15%-0.80% ต่อปี ซึ่งรวมถึงบัญชีเงินฝากพิเศษ ทีทีบี อัพ แอนด์ อัพ ที่ให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกๆ 6 เดือน และได้รับดอกเบี้ยทุก 3 เดือน และเริ่มฝากขั้นต่ำได้ที่ 5,000 บาท โดยธนาคารได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขั้นสูงสุดจาก 1.80% เป็น 2.50% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เช่นกัน
ธนาคารออมสิน ก็ได้มีการประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทไว้ต่อไป และเพื่อให้ผู้ฝากเงินได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ธนาคารจึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด 0.40% ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อมุ่งส่งเสริมการออมให้ประชาชน และช่วยเพิ่มกำลังซื้อในช่วงการปรับตัวไปพร้อมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด