ใครจะไปคิดว่าแค่ยกมือถือขึ้นมาถ่ายเล็บตัวเอง ก็สามารถรู้ได้ว่าเราเสี่ยงเป็น “โลหิตจาง” หรือเปล่า โดยไม่ต้องเจาะเลือดแม้แต่นิดเดียว
ทีมวิจัยได้พัฒนาแอปสมาร์ตโฟนที่ใช้ AI ช่วยประมวลผลจากภาพ "เซลฟี่เล็บ" (fingernail selfie) เพื่อประเมินระดับฮีโมโกลบิน (Hemoglobin หรือ Hgb) โดยไม่ต้องเจาะเลือด นี่คืองานวิจัยที่จะช่วยทำให้บริการทางการแพทย์เข้าถึงได้จากที่บ้านมากขึ้น
ไอเดียเบื้องหลังนวัตกรรมนี้คือการใช้ความสามารถของกล้องสมาร์ตโฟนผนวกกับอัลกอริธึม AI ในการประเมินระดับฮีโมโกลบิน (Hgb) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหลักของภาวะโลหิตจาง
จากการทดสอบใช้งานจริงกว่า 1.4 ล้านครั้งในสหรัฐฯ ทีมวิจัยพบว่าแอปให้ผลใกล้เคียงกับการเจาะเลือดจากแล็บมาก โดยมีความแม่นยำสูงถึงระดับที่ใกล้เคียงกับมาตรฐานทางคลินิกด้วยความไว (sensitivity) 89% และความจำเพาะ (specificity) 93% ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับเครื่องมือที่ใช้งานได้ง่ายขนาดนี้
จุดขายอีกอย่างของแอปนี้คือความสามารถในการ "เรียนรู้จากข้อมูลของเรา" ได้ เช่น ถ้าคุณเป็นผู้ป่วยโลหิตจางหรือมีโรคเรื้อรังอย่างโรคไต แอปสามารถปรับโมเดล AI ให้แม่นยำกับตัวคุณโดยเฉพาะ ยิ่งใช้บ่อย ยิ่งแม่นยำ เหมือนมีแล็บส่วนตัวในกระเป๋า
ที่เจ๋งกว่านั้นคือข้อมูลการใช้งานแอปถูกจับคู่กับพิกัดที่อยู่ (geotagged) ทำให้สร้าง "แผนที่โลหิตจาง" ของทั้งประเทศได้ เห็นเลยว่าเขตไหนมีภาวะโลหิตจางสูง ต่ำ หรือเกี่ยวพันกับรายได้เฉลี่ยของประชากรไหม กลายเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ที่ใช้งานได้ทั้งในระดับบุคคลและระดับนโยบายสาธารณสุข
แม้มองเผินกระบวนการเบื้องหลังอาจไม่ได้ซับซ้อนขนาดนั้น สิ่งที่น่าทึ่งคือมันสามารถย่อความสามารถบางอย่างของระบบสาธารณสุขทั้งระบบ มาอยู่บนอุปกรณ์ธรรมดาที่คนส่วนใหญ่ในยุคนี้พกติดตัวอยู่ตลอดเวลา
มันอาจไม่ได้แทนที่ห้องแล็บหรือหมอ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ทำให้การดูแลสุขภาพไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป การแพทย์กำลังถูกออกแบบใหม่ให้อยู่ในรูปแบบที่เรียบง่าย ใช้งานได้จริง และเข้าถึงได้จากหน้าจอที่เราคุ้นเคยทุกวัน
อ้างอิง: PNAS
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด