Bosch มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังงานสะอาด เปิดตัวดิจิทัลโซลูชันด้าน Mobility อาคาร และการใช้ชีวิต | Techsauce

Bosch มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังงานสะอาด เปิดตัวดิจิทัลโซลูชันด้าน Mobility อาคาร และการใช้ชีวิต

Techsauce ได้เข้าร่วมงาน CES 2024 และงานแถลงข่าวของ Bosch ซึ่งได้นำเสนอเทคโนโลยี และแอปพลิเคชันสุดล้ำที่นอกจากจะทำให้การใช้ชีวิตง่าย ปลอดภัย และสะดวกสบายขึ้นแล้ว ยังส่งเสริมความยั่งยืนเพื่อโลกของเราอีกด้วย

ปัจจุบันการใช้พลังงานของโลกนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกประมาณร้อยละ 2 ต่อปี โดยเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นนับเป็นร้อยละ 80 ของการใช้พลังงานของโลก ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก

บ๊อช (Bosch) จึงรุดหน้าพัฒนาเทคโนโลยี และโซลูชันต่าง ๆ ด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification) เพื่อเป็นการใช้พลังงานแบบยั่งยืน และยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของไฮโดรเจนในการตอบโจทย์ด้านการใช้พลังงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ 

แนวคิดใหม่ในการใช้พลังงานของ Bosch

ดร.ทันย่า รูคเกิร์ต กรรมการบริหาร Robert Bosch GmbH เผยว่า บ๊อชได้ปรับกระบวนความคิดเรื่องการใช้พลังงานใหม่โดยให้ความสำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ 1. การใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification) และ 2. ไฮโดรเจน (Hydrogen) เพื่อช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการบริหารความต้องการพลังงานของโลกโดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

บ๊อชจึงต้องพัฒนาการใช้พลังงงานไฟฟ้าสำหรับการเดินทาง อาคาร และที่อยู่อาศัย เพื่อให้การใช้พลังงานจากแหล่งธรรมชาติแบบดั้งเดิมนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด และจำเป็นต้องสรรหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากไฮโดรเจน ด้วย 3 วิธีการหลัก ได้แก่

1. ใช้นวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อการใช้พลังงานไฟฟ้าให้ประสิทธิภาพ

การใช้พลังงานไฟฟ้าก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะด้านการขับเคลื่อน ซึ่งบ๊อชเป็นผู้นำด้านการให้บริการตลอดห่วงโซ่มูลค่าของเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด และหนึ่งในนวัตกรรมที่บ๊อชนำเสนอ ได้แก่ 

  • ระบบการชาร์จไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ Automated Valet Charging ที่ได้รับรางวัล “CES 2024 Innovation Award” จาก Consumer Technology Association (CTA) โดยที่จอดรถที่มีการติดตั้งระบบการจอดรถอัตโนมัติ (automated valet parking) นั้น ช่วยให้รถไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีใหม่นี้สามารถขับเคลื่อนตัวเองไปยังที่จอดที่ว่างอยู่ที่มีจุดชาร์จไฟฟ้าได้ โดยหุ่นยนต์จะชาร์จไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่ให้ โดยเราไม่จำเป็นต้องทำอะไรนอกจากการกดปุ่มบนสมาร์ทโฟนเท่านั้น เมื่อการชาร์จไฟฟ้าเสร็จสิ้น รถก็จะเคลื่อนที่ด้วยตัวเองแบบไร้คนขับไปยังที่จอดรถที่ว่างอยู่ และให้พื้นที่ชาร์จไฟฟ้ากับรถคันต่อไป ดร.ทันย่า รูคเกิร์ต กล่าวว่า “การทำงานร่วมกันที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของระบบชาร์จไฟฟ้าอัตโนมัติ และระบบจอดรถอัตโนมัติทำให้บ๊อชเป็นผู้บุกเบิกในตลาดนี้” และยังเสริมอีกว่า “ทุกก้าวของการพัฒนาเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นนั้น ช่วยเพิ่มทั้งความน่าสนใจ และการยอมรับเทคโนโลยีนี้มากขึ้น”
  • ซิลิคอนคาร์ไบด์ (Silicon Carbide) หรือ SiC ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนโดยใช้ไฟฟ้า การเติบโตของเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั่วโลกนี้ทำให้เกิดความต้องการมหาศาลต่อเซมิคอนดักเตอร์แบบพิเศษนี้ การใช้กระบวนการที่ซับซ้อนที่บ๊อชพัฒนาขึ้นภายในทำให้เราสามารถผลิตชิป SiC ที่โรงงานผลิตแผ่นเวเฟอร์ที่เมืองรอยท์ลิงเงิน ประเทศเยอรมนี ได้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564 ในปัจจุบันบ๊อซได้ลงทุนมากกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการสร้างโรงงานผลิตแผ่นเวเฟอร์ที่เมืองโรสวิลล์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา สิ่งนี้ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกของบริษัทฯ โดยมีเป้าหมายในการเริ่มผลิตชิป SiC ที่สหรัฐอเมริกาภายในปีพ.ศ. 2569 ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าในอนาคตข้างหน้า สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ชิป SiC ช่วยขยายระยะทางวิ่งให้ไกลขึ้น และทำให้การชาร์จไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งพลังงานที่สูญเสียไปนั้นจะลดลงสูงสุดถึงร้อยละ 50 นอกจากนี้ ชิปพิเศษที่ว่านี้ยังช่วยให้รถยนต์สามารถขับไปได้ไกลกว่าเดิมจากการชาร์จไฟฟ้าหนึ่งครั้ง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ระยะวิ่งจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับชิปซิลิคอน
  • เครื่องปั๊มความร้อน (Heat Pump) ช่วยให้การใช้พลังงานที่บ้านมีประสิทธิภาพสูงสุด อีกหนึ่งนวัตกรรมจากบ๊อชที่โดดเด่นในงาน CES 2024 ได้แก่ “IDS Ultra Heat Pump” ซึ่งเป็นเครื่องปั๊มความร้อนที่พัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับภูมิภาคอเมริกาเหนือ สิ่งที่แตกต่างจากโมเดลดั้งเดิมทั่วไป คือ เครื่องปั๊มความร้อนนี้สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพแม้อุณหภูมิภายนอกจะลดติดลบ 15 องศาเซลเซียส และยังคงสามารถทำงานได้ในสภาวะอุณหภูมิที่ต่ำถึงติดลบ 25 องศาเซลเซียส โดยการปรับเปลี่ยนนี้จะช่วยประหยัดไม่ใช่แค่การใช้พลังงาน แต่ยังประหยัดต้นทุนอีกด้วย เพราะเครื่องปั๊มความร้อนตัวนี้ มีประสิทธิภาพสูงกว่าเตาแก๊สทั่วไป 3 ถึง 5 เท่า และยังใช้ไฟฟ้าแค่ประมาณครึ่งเดียวของเตาไฟฟ้าทั่วไป สำหรับงานที่ลาสเวกัสนี้ บริษัทได้นำเสนอเครื่องทำน้ำร้อนระบบไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการผสานเทคโนโลยีที่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าและเครื่องปั๊มความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องทำน้ำร้อนแบบดั้งเดิมในตลาด 3 ถึง 4 เท่า บ๊อซเผยว่า โซลูชันเหล่านี้จะนำไปสู่บ้านที่ใช้ระบบไฟฟ้าอย่างจริงจัง ที่สามารถช่วยลดทั้งค่าใช้จ่าย และการใช้พลังงานได้
  • ฟีเจอร์การใช้งานใหม่ ๆ ของเครื่องใช้ในบ้านของบ๊อช ในปัจจุบัน บ๊อชได้ก้าวไปอีกขั้นโดยการติดตั้งระบบ “MySchedule” เป็นครั้งแรกสำหรับเครื่องล้างจานรุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งจะทำให้สามารถตั้งเวลาอัตโนมัติเพื่อให้เริ่มวงจรการล้างจานในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ เช่น ในช่วงที่ค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด หรือในช่วงที่สามารถใช้พลังงานทดแทนได้
  • แพลตฟอร์มแบตเตอรี่สำหรับเครื่องมือไฟฟ้า “AMPShare” ในงาน CES 2024 นี้ บ๊อชได้ประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่สำหรับแพลตฟอร์มแบตเตอรี่สำหรับเครื่องมือไฟฟ้า “AMPShare” ซึ่งมีพันธมิตรระดับโลกเข้าร่วมมากกว่า 30 ราย ทั้งนี้ AMPShare ของบ๊อชถือเป็นระบบแบตเตอรี่ที่ทำให้ช่างมืออาชีพในภาคอุตสาหกรรมและการค้าได้รับความยืดหยุ่นในการทำงาน เพราะสามารถเปลี่ยนใช้เครื่องมือช่างระหว่างแบรนด์เครื่องมือที่หลากหลายได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่


2. สนับสนุนไฮโดรเจนให้เป็นหนึ่งในเสาหลักของการขับเคลื่อนในอนาคต

บ๊อชมองว่าไฮโดรเจนจะเป็นตัวแปรสำคัญในการตอบโจทย์ความต้องการพลังงานของโลกโดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และไฮโดรเจนยังถือเป็นสื่อในการจัดเก็บที่ทำให้การใช้พลังงานที่ได้จากแหล่งพลังงานทดแทนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ปัจจุบันบ๊อชได้ลงทุนอย่างกว้างขวางในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนตลอดห่วงโซ่มูลค่า โดยมุ่งเน้นไปที่ 2 ด้านหลัก ได้แก่

  • เซลล์เชื้อเพลิงเคลื่อนที่ หรือ Mobile Fuel Cell ซึ่งถือเป็นหัวใจของระบบส่งกำลังรถยนต์ (Powertrain System) สำหรับยานพาหนะขนาดใหญ่  
  • ชิ้นส่วนของเครื่องยนต์พลังงานไฮโดรเจน ที่จะเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นพลังงานได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าก่อน จากการที่ใช้พลังงานสะอาดจากไฮโดรเจน ทำให้เครื่องยนต์นี้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเครื่องยนต์พลังงานไฮโดรเจนนี้มีแผนที่จะออกสู่ตลาดในปีนี้

ปัจจุบันนานาประเทศและแวดวงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกก็กำลังลงทุนในเทคโนโลยีไฮโดรเจน ตัวอย่างเช่น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ได้เร่งพัฒนาโครงสร้างระบบพลังงานไฮโดรเจน และได้ลงทุนกว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการสร้างศูนย์พลังงานไฮโดรเจน หรือ H2 Hub ขึ้นหลายแห่ง 

มร. ไมค์ แมนซูเอติ ประธานกรรมการ บ๊อช อเมริกาเหนือ กล่าวเสริมว่า “H2 Hub นี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเราทุกคนที่บ๊อชก็สนับสนุนมาตรการเหล่านี้เต็มที่ และกำลังพิจารณาการเข้าร่วมในศูนย์ฯ เหล่านี้ โดยเป้าหมายของเราคือการก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยพลังงานสะอาดในภูมิภาคอเมริกาเหนือ นี่ถือเป็นสิ่งที่บ๊อชสามารถใช้ความเชี่ยวชาญของเราในการส่งเสริมการผลิต และการจัดหาไฮโดรเจนได้”

3. การพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อความสะดวกสบาย และประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่สูงขึ้น

การใช้ซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสิ่งที่ทุก ๆ หน่วยงานของบ๊อชให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเรามีเจ้าหน้าที่กว่า 44,000 คนที่ทำงานโดยตรงเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนที่มีซอฟต์แวร์เป็นกลไกสำคัญ สำหรับงานที่ลาสเวกัสนี้ บ๊อชได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ และโซลูชันใหม่หลายชิ้นร่วมกับ Amazon Web Services เช่น

  • เครื่องทำกาแฟอัตโนมัติที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ  ซึ่งสามารถควบคุมจากรถได้โดยใช้ระบบสั่งการด้วยเสียง (Voice Assistance) อย่างเช่น Alexa 
  • ระบบผู้ช่วย Point-of-Interest Assistant ที่ใช้กล้องภายในตัวรถที่รับรู้ได้ว่าร้านอาหาร หรือคาเฟ่อันไหนที่ผู้ขับสนใจ โดยการจับการเคลื่อนไหวของดวงตา หลังจากนั้นระบบสั่งงานด้วยเสียงจึงรายงานผู้ขับอัตโนมัติและโดยทันทีว่าร้านอาหารที่สนใจอยู่นี้เปิด และมีโต๊ะว่างหรือไม่

นอกจากนี้ บ๊อชยังได้เปิดตัวการให้บริการการขับเคลื่อนอีก 2 บริการด้วยกันในงาน CES 2024 ได้แก่

  • Usage Certificate To Go: เป็นส่วนเพิ่มเติมของบริการ Battery in the Cloud ของเราที่ให้บริการก่อนหน้านี้อยู่แล้ว โดยมีฟีเจอร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลแบตเตอรี่ ระบุสถานะของแบตเตอรี่ และช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่อีกร้อยละ 20 จากการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 
  • Vehicle Health Service : ให้บริการแก่ผู้ประกอบการการขนส่ง (Fleet Operator) ซึ่งมีฟังก์ชันการทำงานที่ออกแบบเฉพาะเพื่อป้องกันยานพาหนะไม่ให้เสีย หรือเครื่องดับ 

ซึ่งนวัตกรรมทั้งสองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยืดอายุการใช้งานของยานพาหนะและอนุรักษ์ทรัพยากร นอกจากนี้ บ๊อชยังใช้วิธีการเดียวกันกับการใช้พลังงานในอาคารอีกด้วย โดยบริษัทฯ ให้บริการด้านดิจิทัลหลากหลายรูปแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้สูงขึ้น 

ตัวอย่างเช่น "Nexospace Energy Manager" หรือผู้จัดการพลังงานที่มุ่งให้บริการกับตลาดยุโรป โดยจะช่วยลูกค้าในการคำนวณอุปทานของพลังงานและการใช้พลังงาน เพื่อแนะนำวิธีในการลดการใช้พลังงาน และทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้พลังงาน เช่น กรณีของเครือซูเปอร์มาร์เก็ตระดับสากลอย่าง REWE ที่สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 20 ในสาขากว่า 2,000 แห่ง จากการใช้ Nexospace Energy Manager 

ในขณะที่ในอุตสาหกรรมการผลิต บริการต่าง ๆ ของบ๊อช ยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2  ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยมี  “Decarbonize Industries” ซึ่งเป็นบริการซอฟต์แวร์ที่ใช้ AI ที่พัฒนาโดยบ๊อช ร่วมกับพันธมิตรรายหนึ่งซึ่งช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และประหยัดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สยาม เอไอฯ ได้รับ NVIDIA DGX Blackwell B200 รายแรกในอาเซียน

NVIDIA DGX Blackwell B200 เป็นหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูงที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ของ Siam.AI Cloud ทำให้สามารถรองรับการประมว...

Responsive image

Infineon เสริมแกร่งและกระจายฐานการผลิต ตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ในประเทศไทย

Infineon Technologies AG ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (Backend Production) แห่งใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการ การลงทุนในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพื่อเพิ่มประ...

Responsive image

Techsauce จับมือ KUMPUL เสริมแกร่งสตาร์ทอัพไทย-อินโดฯ สู่เวทีโลก

Techsauce และ KUMPUL ได้ร่วมลงนาม MOU อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านสตาร์ทอัพข้ามพรมแดนและนวัตกรรมระดับโลก ผนึกกำลังสร้างระบบนิเวศท...