Airbnb (แอร์บีเอ็นบี) แพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว ประกาศความร่วมมือกับสมาคมการค้าธุรกิจที่พักบูติกไทย (Thailand Boutique Accommodation Trade Association: TBAA) ซึ่งนับเป็นความร่วมมือครั้งแรกและครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยจะนำโรงแรมบูติกไทยขึ้นสู่แพลตฟอร์มของ Airbnb ที่เชื่อมต่อ กับนักเดินทางกว่า 300 ล้านคน
ประเทศไทยเป็นหนึ่งจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ในปีที่ผ่าน เจ้าของที่พักในไทยที่เข้าร่วมกับ Airbnb ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้าพักกว่า 1.7 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 4,000 ล้านบาท (119 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขสำคัญที่ทำให้ Airbnb เดินหน้าต่อกับการเพิ่มจำนวนที่พักเข้าสู่แพลตฟอร์ม ดังที่ร่วมมือไปแล้วก่อนหน้านี้กับหน่วยงานภาครัฐในการการดึงที่พักโฮมสเตย์เข้ามา
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ จะมีการนำโรงแรมบูติกมากกว่า 50 แห่งใน 15 จังหวัด ได้แก่กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, กาญจนบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, สุโขทัย, จันทบุรี, นครราชสีมา, เชียงใหม่, กระบี่ และราชบุรี เข้าสู่แพลตฟอร์มของ Airbnb
มิสเตอร์ไมค์ ออร์กิล ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Airbnb พร้อมด้วย นายศุภฤกษ์ ศูรางกูร นายกสมาคมการค้าธุรกิจที่พักบูติกไทย และที่ปรึกษาสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในการโปรโมทโรงแรมบูติกไทยสู่สากลในครั้งนี้
ระหว่างการประกาศความร่วมมือนี้ Airbnb และ สมาคมการค้าธุรกิจที่พักบูติกไทย ยังได้เปิดตัวคู่มือฉบับปฐมฤกษ์ Airbnb x TBAA Thailand Neighbourhood Guide จำนวน 17 หน้า ที่รวบรวมคำแนะนำแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น 5 แห่งในไทย ซึ่งแต่ละแห่งมีการผสมผสานของมรดกท้องถิ่นและพื้นที่แห่งการสร้างสรรรค์ใหม่ได้อย่างลงตัว
ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นประตูให้นักเดินทางจากทั่วโลกเข้าถึงโรงแรมบูติกซึ่งต่างมอบบริการที่เข้าถึงสัมผัสความเป็นไทยแท้
Airbnb เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2560 ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา บริการของ Airbnb ในประเทศไทยมีการร่วมมือที่มีนัยยะสำคัญ เริ่มจากการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ต่อจากนั้นก็ร่วมมือกับชุมชน สมาคม โดยเมื่อไม่นานนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวไว้ในรายการศาสตร์พระราชาฯ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ออกอากาศรายสัปดาห์ถึงการที่ Airbnb ได้ช่วยประชาสัมพันธ์โฮมสเตย์ท้องถิ่นและกระจายรายได้สู่ชุมชนในประเทศไทย
ดังที่เห็นตัวอย่างจากหลายประเทศว่า ลักษณะธุรกิจของ Airbnb เป็นธุรกิจที่ต้องสื่อสารกับภาครัฐ ให้เข้าใจถึงรูปแบบธุรกิจ ดังเช่นในญี่ปุ่นที่มีกฏหมายที่เปิดทางให้กับ Airbnb และกฏที่ชัดเจนซึ่ง Airbnb ก็ปฏิบัติตามในทันที
เห็นได้ชัดว่าการเข้าสู่ตลาดไทยของ Airbnb นั้นมีเข้าใจถึงวิธีการสื่อสารกับคนในท้องถิ่น ในขณะเดียวกันรูปแบบธุรกิจของ Airbnb ก็ยังคงเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจและการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย ด้วยทางเลือกที่มีมากขึ้น เพราะปัจจุบันเทรนด์โลกนั้นเปลี่ยนไปแล้ว ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนก็ต้องมีพร้อมที่จะเปลี่ยน ปรับตัวและร่วมมือกันเช่นกัน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด