Amity Solutions และบริษัทแม่ ปิดดีลรอบซีรีส์ C ที่ 2.2 พันล้านบาท มุ่งสร้างฮับ GenAI | Techsauce

Amity Solutions และบริษัทแม่ ปิดดีลรอบซีรีส์ C ที่ 2.2 พันล้านบาท มุ่งสร้างฮับ GenAI

อะมิตี้ โซลูชั่นส์ (Amity Solutions: ASOL) หนึ่งในผู้พัฒนาซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ (Generative Artificial Intelligence: GenAI) ชั้นนำของไทยพร้อมด้วย อะมิตี้ คอร์ปอเรชั่น (Amity Corporation) บริษัทแม่ ประสบความสำเร็จในการระดมทุนรอบซีรีส์ ซี (Series C) ปิดดีลได้ที่ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 2.2 พันล้านบาท) 

เพื่อก้าวสู่การเป็นหนึ่งในธุรกิจ GenAI ชั้นนำในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายมุ่งสู่บทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น “ฮับการพัฒนา GenAI”

การลงทุนครั้งสำคัญนี้จะเป็นเงินทุนที่ช่วยสนับสนุน ASOL ด้านปฏิบัติการวิจัย AI หรือที่เรียกว่า “เอไอ แล็บส์ (AI Labs)” ของ ASOL ซึ่งตั้งอยู่ในไทย โดยมุ่งสร้างและพัฒนาแอปพลิเคชันที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี GenAI นอกจากนี้ เงินทุนดังกล่าวยังจะช่วยสนับสนุนความพยายามของบริษัทในการแข่งขันกับผู้เล่นในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศที่สามารถเสริมประโยชน์ให้กันและกัน 

นาย กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหาร (Executive Chairman) และผู้ก่อตั้ง (Founder) ของ ASOL กล่าวว่า “การระดมทุนรอบนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของ ASOL รวมถึงอีโคซิสเท็ม AI ของประเทศไทย เราหวังว่า ASOL จะสามารถมีบทบาทในการช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นฮับนวัตกรรม GenAI ระดับโลก วิสัยทัศน์ของเราคือการใช้ประโยชน์จากความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในระดับโลกด้วยเทคโนโลยี AI ที่ล้ำสมัย”

ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2566 AI Labs ของ ASOL ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้บริการลูกค้าโดยตรง (end customer-facing software) ด้วย GenAI ตัวอย่างอันโดดเด่น ได้แก่ อะมิตี้ บอตส์ พลัส (Amity Bots Plus) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับองค์กรที่มีแชตบอตเลียนแบบการสนทนาของมนุษย์ผ่านการเรียนรู้ของ GenAI ส่งผลให้การให้บริการลูกค้าและผลกำไรดีขึ้น ภายในหนึ่งปีหลังจากเปิดตัวของ Amity Bots Plus ในเวอร์ชัน GenAI นั้น ไม่เพียงแต่มีการเติบโตของรายได้ประจำปี (annual recurring revenue: ARR) เพิ่มขึ้น 8 เท่า แต่ยังคิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ของ ARR ในกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้อีกด้วย

แม้ว่ารายได้ ผลกำไร และฐานลูกค้าของ ASOL จำนวนมากจะอยู่นอกประเทศไทย แต่โซลูชัน GenAI ของบริษัทก็ถูกนำไปใช้งานจริงกับธุรกิจชั้นนำของไทยหลายแห่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทรู คอร์ปอเรชั่น (True Corporation) ปตท. (PTT) นกแอร์ (NokAir) และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) เป็นต้น

การระดมทุนในรอบนี้แบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

  • ASOL ระดมทุนได้ 41.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 1.52 พันล้านบาท) นำโดย Insight Capital พร้อมด้วยนักลงทุนใหม่ และนักลงทุนเดิมอีกหลายราย 
  • Amity Corporation บริษัทแม่ ระดมทุนได้ 18.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 681.41 ล้านบาท) นำโดย SMDV ซึ่งเป็นนักลงทุนเดิม พร้อมด้วย Gobi Partners และนักลงทุนเดิมอีกหลายราย
  • การระดมทุนนี้รวมถึงการกู้ยืม ซึ่งนำและจัดโครงสร้างโดย AlteriQ Global บริษัทให้สินเชื่อเอกชน (Private Credit) ที่เน้นการดำเนินการในทวีปเอเชีย

ASOL ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติในฐานะธุรกิจหนึ่งเดียวจากประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับการกล่าวถึงโดย สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ซีอีโอของไมโครซอฟท์ สำหรับผลงานของ ASOL ที่บุกเบิกด้าน GenAI ณ งาน 'Microsoft Build 2024' ซึ่งเป็นงานประชุมนักพัฒนาระดับโลกของไมโครซอฟท์เมื่อไม่นานมานี้

เงินทุนจากนักลงทุนต่างประเทศจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับ ASOL ในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ GenAI โดยเมื่อปี 2566 ASOL ได้แยกออกมาจากบริษัทแม่ Amity Corporation เพื่อเตรียมแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย

นาย เคง เถ็ก ก๋วย (Keng Teik Koay) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท หรือ กรุ๊ปซีอีโอ (Group CEO) ของ ASOL กล่าวเสริมว่า “ความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมอบให้เราสะท้อนถึงศักยภาพอันมหาศาลของ GenAI และในฐานะหนึ่งในผู้นำที่โดดเด่นด้าน GenAI ของ ASOL เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะเข้ามาช่วยเร่งความพยายามด้านการวิจัยและพัฒนา (research and development: R&D) ตลอดจนการขยายโซลูชัน AI ของเราเพื่อให้บริการธุรกิจในประเทศไทยรวมถึงที่อื่น ๆ มากขึ้น การลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถสูง และใช้กลยุทธ์ในการเข้าซื้อสินทรัพย์ ซึ่งจะช่วยเสริมแกร่งฐานะของเราสู่ “เอไอ แชมเปียน (AI Champion)” ของประเทศไทย”

ทั้งนี้ Vantage Capital Markets HK Limited ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ ASOL

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สรุปภารกิจนายกฯ บนเวทีโลก ในงานประชุม World Economic Forum 2025

นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยในงาน World Economic Forum (WEF) 2025 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-25 มกราคม 2025 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในร...

Responsive image

อาเซียนร่วมใจ แสงแห่งความหวัง พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในเวทีโลก

ร่วมสำรวจเชิงลึกถึงศักยภาพ ความท้าทาย และวิสัยทัศน์ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ในการเสวนาหัวข้อ 'ASEAN: Even Stronger Together' หรือ อาเซียนยิ่งร่วมใ...

Responsive image

สรุป FTA ไทย-EFTA คืออะไร ? ส่งผลอย่างไรกับประเทศ ? และไทยจะได้จากข้อตกลงครั้งนี้ ?

ปี 2025 เป็นอีกปีที่ไทยได้เข้าร่วมงานประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส โดยในปีนี้ นายกฯ แพทองธาร ได้ไปปฏิบัติภารกิจสำคัญหลายอย่างทั้งการประชุมกับผู้นำโลก เผยแพร่ซอฟต์พาวเวอ...