คุณอริยะ LINE Thailand เตือนหมดยุครอให้ทุกอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว | Techsauce

คุณอริยะ LINE Thailand เตือนหมดยุครอให้ทุกอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว

คุณอริยะ LINE Thailand ระบุยุคนี้เป็นยุคของการทำ 'แพลตฟอร์ม' ที่หลายอุตสาหกรรมต่างกระโดดเข้ามาแข่งขัน จับตากลุ่ม Online-2-Offline หรือ O2O รวมถึงกลุ่มธุรกิจ Payment จะเป็นสนามรบที่ดุเดือด คาดเหลือ e-Wallet อีก 2-3 รายที่จะอยู่รอด เตือนหมดยุครอให้ทุกอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้แล้ว ต้องเริ่มใช้ เริ่มเรียนรู้ เริ่มทดลองก่อนเป็นอันดับแรก

คุณอริยะ พนมยงค์

ในงานเสวนา Thailand ICT Management Forum 2018 ภายใต้คอนเซปต์ "Shaking Business Foundation: The effect of digital trend" โดยคุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัท LINE ประเทศไทย จำกัด (LINE Thailand) ได้ขึ้นกล่าวในหัวข้อ "Power of Business Transformation" โดยมีหลายประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

‘แพลตฟอร์ม’ ใบเบิกทางความสำเร็จ

คุณอริยะกล่าวว่า แนะนำให้จับตาไปที่ประเทศจีน แทนที่จะไป Silicon Valley ที่สหรัฐอเมริกา เพราะหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในจีน เช่น การเป็นสังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society แบบเต็มตัว แนะนำหากจะดูงานให้ไปดูที่จีนกันดีกว่า เพราะธุรกิจมีเวลาไม่มากแล้วที่จะเกาะขบวนดิจิทัล

คุณอริยะเล่าต่อว่าไลน์ใช้เวลาสร้างตัวเองเพียง 7 ปี เปลี่ยนจาก “แอปแชท” มาเป็น “แพลตฟอร์ม” หนึ่งในผู้เล่นที่ทรงพลัง ปัจจุบันคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 44 ล้านคน และ 41 ล้านคนใช้ไลน์เป็นแอปหลักในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งกลายเป็นข้อมูลสำคัญ ที่ไลน์ใช้แตกตัวธุรกิจทุกทิศทุกทางในเวลาต่อมา

“มือถือคืออนาคตใหม่ของอินเทอร์เน็ต แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังนิยมใช้บริการอินเทอร์เน็ต มากกว่าใช้เพื่อทำธุรกิจ ทั้ง ๆ ที่อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง และเป็นได้มากกว่าความบันเทิง บ้านเรามีการใช้อินเทอร์เน็ต 76% ใน 3 แพลตฟอร์ม จากจำนวนเว็บที่มีอยู่ทั้งหมด เดาได้ไม่ยากว่ามีแพลตฟอร์มไหนบ้างที่คนไทยฮิต หนีไม่พ้น Facebook, YouTube และ LINE” คุณอริยะกล่าว

ภาพใหญ่ของผู้เล่นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีวันนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

  1. สตาร์ทอัพ คนรุ่นใหม่ ไอเดียดี แต่ไม่มีตังค์
  2. ผู้เล่นปัจจุบัน มีอายุธุรกิจตั้งแต่ 10-100 ปี มีเงิน มีคน แต่ไม่มีไอเดีย
  3. กลุ่ม Tech Platform มีทุกสิ่งที่กลุ่ม 1 กับ 2 ไม่มี และมีมากไปกว่านั้นอีก จนทำให้กลุ่มธนาคารเดิมต้องเริ่มจับตา

ส่วนแพลตฟอร์มที่น่าสนใจอีกอันหนึ่งก็คือ Online-2-Offline หรือ O2O เป็นธุรกิจที่ทำแพลตฟอร์มเชื่อมระหว่างผู้ให้บริการในธุรกิจแบบเดิม (เช่น การขายสินค้า Retail การให้บริการแท็กซี่ การให้บริการ รถจักรยานยนต์รับจ้าง) เข้ากับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs (ที่มีกำลังคน กำลังทรัพย์ เวลาที่ไม่มากนัก) เพราะถือเป็น Paint Point และโอกาสทางธุรกิจที่จะทำชีวิตให้สองกลุ่มที่กล่าวมาข้างต้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาได้

ความท้าทายในยุคแพลตฟอร์ม ที่หลายอุตสาหกรรมต่างกระโดดเข้ามาแข่งขัน

คุณอริยะกล่าวต่อว่า การก้าวเข้ามาของธุรกิจแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ทำให้ปีนี้ธุรกิจ E-Commerce เติบโตอย่างมโหฬาร จากที่เคยเป็นม้านอกสายตา ผ่านไปไม่นาน อัตราการเติบโตสูงขึ้นกว่าเดิม 100 เปอร์เซ็นต์

เมื่อกลุ่มธุรกิจสายพันธุ์ดิจิทัลเหล่านี้ ต่างก็มีธุรกรรมทางการเงินเป็นของตัวเอง แล้วจะไม่ให้กลุ่มธนาคารหรือแบงก์ตื่นตัว เร่งปรับเปลี่ยนได้อย่างไร เพราะอีกไม่นานธุรกิจ Payment จะเป็นสนามรบอันแสนระอุเดือดในอีกไม่นานนี้ และคาดการณ์ว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีผู้ให้บริการ e-Wallet เหลือแค่เพียง 2-3 รายเท่านั้น

Payment : the next field battle

คุณอริยะเน้นย้ำว่าสิ่งที่เราต้องรีบเรียนรู้จากบรรดา Tech Company ข้ามชาติ คือการให้ความสำคัญกับ Data (ข้อมูล) ที่จะนำไปสู่การเข้าใจ Customer Insight (พฤติกรรมของผู้บริโภค) และหมั่นคิดเพื่อพาองค์กรไปสร้างโอกาสใหม่ ๆ แม้โอกาสจะมาแบบเบาบางก็ตาม เพราะเราอยู่ในยุคที่จะคอยให้ทุกอย่างเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์แล้วค่อยเดินหน้าไม่ได้อีกต่อไป แค่เป็นไปได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนที่เหลือค่อยเรียนรู้เพิ่มเติมกันต่อไป

นอกจากนี้คุณอริยะยังระบุว่าทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังขาด Data Scientist องค์กรต่าง ๆ ต้องหาคนที่ชอบอยู่กับ Data แล้วสามารถหา Insight ออกมาพัฒนาธุรกิจของเราให้ได้ ซึ่งปกติแล้วคนไม่ค่อยชอบนั่งดูข้อมูลเพราะเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ข่าวดีคือ Data Scientist ไม่ได้หายากอย่างที่คิด เพราะคนที่จบด้านสถิติหรือคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์ ในเวลานี้องค์กรต่าง ๆ ต้องดึงคนเหล่านี้กลับมาเป็น Data Scientist ให้ได้

เผยแนวคิดที่ทำให้ Product ใหม่ประสบความสำเร็จ

คุณอริยะยังเล่าต่อว่า LINE ประเทศไทย ก็มี Product ที่ยอดขึ้นมาเอง โดยไม่ยึดติดจากสำนักงานใหญ่ ทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว โดย Product ที่มาจาก LINE ประเทศไทย มี 2 ตัวด้วยกัน ได้แก่ LINE TV แพลตฟอร์มบริการ Video Streaming รับชมรายการย้อนหลัง และ LINE MAN บริการส่งพัสดุ สั่งอาหาร ล่าสุดเปิดให้บริการเรียกแท็กซี่อีกด้วย

คุณอริยะเผย 3 สิ่งสำคัญที่จะทำให้ Product ใหม่ของเราประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย

ข้อที่ 1 คิดบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค (Customers) ตอบโจทย์ Pain Point หรือจุดเจ็บปวดของผู้บริโภค อย่าลืมว่าทุกอุตสาหกรรมมี Pain Point และหลายอย่างในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังมีความเป็น Traditional อยู่ พวกเขาต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเราหาทางแก้ไข Pain Point ได้ โอกาสทางธุรกิจจะเป็นของเรา

เมื่อเราทำบริการแบบนั้นขึ้นมาได้ จะทำให้เกิดบริการที่ดี ที่เจ๋ง ที่ผู้ใช้รัก จนได้รับเสียงตอบรับในทางบวก

ข้อที่ 2 ขยายฐานลูกค้าให้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยคุณอริยะบอกว่าจริง ๆ แล้ว LINE ยังอยู่ในจุดนี้อยู่

ข้อที่ 3 ให้ความสำคัญกับผู้ใช้ก่อนเป็นอันแรก แล้วรายได้จะตามเอง คุณอริยะเล่าว่า LINE มีบริการอย่าง LINE MAN ที่เป็นแอปพลิเคชันที่แยกออกมา โดยได้มีการปรับปรุง UX UI และ Customer Experience ของผู้ใช้อยู่ตลอด

โดยแสดงภาพให้เห็นว่าจากเดิมแอป LINE MAN กด 14 Clicks ถึงจะสั่งอาหารได้ แต่จากการพัฒนาและปรับปรุงแอปใหม่ ก็ทำให้การสั่งอาหารกดเพียง 7 Clicks เท่านั้น โดยเปลี่ยนให้หน้าการสั่งอาหารมีการแนะนำเมนูอาหารที่น่าสนใจขึ้นมาก่อน เพราะบางคนมักจะคิดไม่ออกว่าจะกินอะไร

สรุป : Key Takeaways

  1. ต้องเข้าใจในพื้นฐานของเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่เข้าใจในเรื่องดิจิทัลในภาพกว้างอีกต่อไป เพราะถ้าเราไม่เข้าใจพื้นฐานในส่วนดังกล่าว จะคิดบริการไม่ทัน รวมถึงตามคู่แข่งไม่ทันอีกด้วย
  2. เลิกพูดถึง Big Data ก่อน เริ่มจาก Small Data ก่อนได้ทันที ต้องเริ่มเรียนรู้ เริ่มใช้ หมดยุครอทุกอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
  3. อย่ายึดติดกับโลกเดิม ถึงเวลาการสร้างบริการใหม่ สร้าง Business Model ใหม่แล้ว
  4. ให้ความสำคัญกับ Customer Experience มาก ๆ
  5. สำคัญสุดคือการเปลี่ยนแปลงความคิด มุมมอง และ Mindset ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนธุรกิจได้ในอนาคต

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ซีอีโอ Nike เผย 3 สิ่งที่ทำบริษัทพลาดมาตลอดจนทำให้ไนกี้ไม่เหมือนเดิม

ปลายปี 2024 ที่ผ่านมา Nike เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั่นคือ การลาออกของ John Donahole ในตำแหน่งซีอีโอ และได้ลูกหม้ออย่าง Elliott Hill ที่เริ่มทำงานกับ Nike มาอย่างยาวนานขึ้นมารับ...

Responsive image

กูเกิลปรับนิยาม "Googleyness" ใหม่ ซีอีโอเน้นกล้าคิด กล้าทำ มีเป้าหมาย เป็นคุณสมบัติที่มองหา

"Googleyness" คำที่เคยใช้อธิบายความเป็นกูเกิล ได้รับการปรับความหมายใหม่ในปี 2024 โดย Sundar Pichai ซีอีโอของกูเกิลเอง เพราะที่ผ่านมาคำนี้ค่อนข้างกว้างและไม่ชัดเจน ในการประชุม Pich...

Responsive image

ญี่ปุ่นคิดค้น ‘เครื่องอาบน้ำมนุษย์’ อาบและเป่าแห้งเพียง 15 นาที

หมดข้ออ้างขี้เกียจอาบน้ำแล้ว บริษัท Science Co. ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตหัวฝักบัวจากญี่ปุ่น ได้เปิดตัว “เครื่องซักมนุษย์แห่งอนาคต” หรือ Mirai Ningen Sentakuki...