เข้าสู่เดือนที่ 9 ของปี 2567 และก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยความสำเร็จในครึ่งปีแรก 2567 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบการดำเนินงาน 40 ปีของบริษัทฯ และเป็นปีแห่งการสร้าง Synergy ปรับตัวและเติบโต ขับเคลื่อนด้วยวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจน สอดประสานความเป็นเลิศในการดำเนินงานภายในกลุ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมวินัยทางการเงิน เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย EBITDA 100,000 ล้านบาท รักษาความเป็นผู้นำด้านพลังงานของประเทศไทยและมุ่งพาธุรกิจเข้าสู่ SET50 ในปี 2573 (2030)
คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 กลุ่มบริษัทบางจากได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในการดำเนินงานท่ามกลางสภาวะตลาดที่ท้าทาย ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างผลประกอบการที่เติบโตอย่างมั่นคง
การเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ของบางจากฯ เป็น 'ใบไม้ใบใหม่' ที่สะท้อนภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านพลังงานของประเทศที่มีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าและสังคม รวมถึงส่งผลต่อปริมาณการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในสถานีบริการ เป็นเครื่องยืนยันถึงความเชื่อมั่นของลูกค้าในแบรนด์บางจากและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีการขยายให้ลูกค้าเลือกใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2568 บางจากฯ จะเริ่มผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญสำหรับทั้งบริษัทฯ และประเทศไทย ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับบางจากฯ และสังคมโดยรวมในฐานะทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมการบิน
กลุ่มบริษัทบางจากมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยการสร้างอนาคตผ่านการลงทุนและนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ภายใต้วิสัยทัศน์ 'รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว' สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 พร้อมยึดมั่นในพันธกิจในการขับเคลื่อนการเติบโตโดยรักษาสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านพลังงาน การเข้าถึงพลังงาน และความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยมีแผนงานหลักๆ ในการขยายธุรกิจ ดังนี้
เน้นการสร้าง synergy ระหว่างโรงกลั่นระดับโลก 2 แห่งคือโรงกลั่นพระโขนงและโรงกลั่นศรีราชา โดยได้ตั้งเป้าหมายอัตราการกลั่นน้ำมัน 280,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี 2568 จาก nameplate capacity (กำลังการกลั่นติดตั้ง) รวม 294,000 บาร์เรลต่อวัน มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มค่าการกลั่น (GRM) นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึงการขยายการผลิตผลิตภัณฑ์เฉพาะทางที่มีมูลค่าสูง เช่น Unconverted Oil และขี้ผึ้ง
นอกจากนี้ ในปี 2568 จะเป็นปีแห่งการบุกเบิกความเป็นผู้นำในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ด้วยกำลังการผลิต 7,000 บาร์เรลต่อวัน มีความพร้อมในการจัดวัตถุดิบสำหรับการผลิตจากเครือข่ายพันธมิตรและการรับซื้อน้ำมันผ่านโครงการ ทอดไม่ทิ้ง ทั่วประเทศ ซึ่ง SAF เป็นผลิตภัณฑ์ที่มี margin สูงกว่าผลิตภัณฑ์น้ำมันอากาศยานแบบดั้งเดิมและมีแนวโน้มความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต และทำให้กลุ่มบริษัทบางจากก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดโรงกลั่นเฉพาะทางที่ยึดมั่นด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนได้
ขยายแนวคิด 'Greenovative Destination' ผ่านการเพิ่มเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,400 แห่งภายในปี 2573 เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็น 33% จากที่มีอยู่ 2,214 แห่ง (ข้อมูล ณ ไตรมาสแรกของปี 2567) โดยมุ่งเน้นที่ตลาดที่มีความต้องการสูง และในส่วนของธุรกิตตลาดพาณิชยกรรมมุ่งขยายตลาดในภูมิภาค (กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียตนาม) การรวมบริการที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการ พร้อมสร้างประสบการณ์การใช้บริการของลูกค้าและเสริมสร้างภาพลักษณ์แบรนด์บางจาก เช่น ร้านกาแฟอินทนิลและสถานีชาร์จรถไฟฟ้า
กลุ่มบริษัทบางจากมีการขยายธุรกิจพลังงานสีเขียว ผ่านการดำเนินงานของ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ซึ่งยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2573 (2030) ตั้งเป้าได้รับการคัดเลือกเป็นหุ้นที่เข้าคำนวณดัชนี SET50 และเป็นหนึ่งในหุ้นยั่งยืนที่ถูกคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนี DJSI ด้วยกลยุทธ์เน้นการขยายการลงทุนในพลังงานสีเขียวในประเทศที่มีธุรกิจอยู่แล้วและการทำ capital recycling เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น พร้อมกับการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนโดยให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการเงินและผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม นอกจากนี้ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพแบบครบวงจร กำลังมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์และขยายธุรกิจหลักไปสู่ตลาดที่มีมูลค่าสูง บีบีจีไอตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ผลิต CDMO (Contract Development and Manufacturing Organization) รายแรกในอาเซียนในปี 2568 โดยมีแผนที่จะผลิตมากกว่า 1 ล้านลิตรต่อปี ภายในปี 2571
กลุ่มบริษัทบางจากได้สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ด้วยการลงทุนใน OKEA ASA ในประเทศนอร์เวย์ตั้งแต่ปี 2561 โดยมีเป้าหมายการขยายกำลังการผลิต 50,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2573 ตลอดจนมีแผนที่จะขยายธุรกิจ E&P ไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก อาทิ เอเชียแปซิฟิก เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ E&P ของกลุ่มบริษัทบางจากอย่างยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายรวมที่ 100,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2573
กลุ่มบริษัทบางจากให้ความสำคัญในการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ให้ผู้บริโภคเข้าถึงพลังงานได้ในราคาที่เหมาะสม และยั่งยืน โดยระหว่างปี 2568-2573 (2025-2030) มีแผนการลงทุน 120,000 ล้านบาท เพื่อไปสู่เป้าหมาย EBITDA ระดับใหม่ที่ 100,000 ล้านบาทภายในปี 2573 โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานของตลาดที่แข็งแกร่ง การเพิ่มประสิทธิภาพและการกระจายธุรกิจเพื่อสร้างสมดุลให้กับ Portfolio พร้อมด้วยความแข็งแกร่งทางการเงิน ได้รับการจัดอันดับเครดิต 'A' ที่มั่นคงจาก TRIS Rating ซึ่งช่วยให้สามารถมุ่งเน้นโอกาสในการเติบโตในขณะที่ยังคงรักษาผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) และผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่แข็งแกร่ง
กลุ่มบริษัทบางจากยังมุ่งเน้นการขยายธุรกิจในระยะยาวผ่านการพัฒนาและขยายธุรกิจใหม่ ๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์สังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการเข้าสู่ธุรกิจเชื้อเพลิงที่ยั่งยืนและการใช้พลังงานใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำระบบดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระยะยาว
คุณชัยวัฒน์เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในด้านน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารแล้วว่า กลุ่มบริษัทบางจากทำสัญญาซื้อน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารแล้วจากหลายแบรนด์ธุรกิจไก่ทอด รวมปริมาณน้ำมันจากธุรกิจกลุ่มนี้อยู่ที่ราว 500,000-600,000 ลิตรต่อวัน อย่างไรก็ตาม ยังมีพ่อค้าแม่ค้า ประชาชนคนทั่วไปอีกมากที่ยังไม่รู้ว่า กลุ่มบางจากมีโครงการทอดไม่ทิ้ง รับซื้อทั้งน้ำมันที่ใช้ทอดปาท่องโก๋ ทอดกล้วยแขก ทอดไส้กรอก ฯลฯ โดยคาดว่าจะเริ่มผลิต SAF ได้ในเดือนมีนาคม 2025
กลุ่มบริษัทบางจากคาดการณ์แล้วว่า SAF จะไม่เพียงพอต่อความต้องการในอนาคตและเล็งเห็นว่า หลายสายการบินประกาศที่จะใช้ SAF ในอุตสาหกรรมการบิน 10% ภายในปี 2030 ได้แก่ American Airlines, United Airlines, AirFrance, British Airways, ANA, Japan Airlines, Cathay Pacific, Emirates, Delta, Qatar Airways และ Qantas ซึ่งนอกจากจะรับซื้อน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารในประเทศแล้ว กลุ่มบางจากยังมีแผนจะซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาผลิต SAF เพิ่ม
ด้วยความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัทบางจากในการเป็นผู้นำในการพัฒนาเชื้อเพลิงยั่งยืน นอกจากตั้งเป้าหมาย EBITDA 100,000 ล้านบาทแล้ว กลุ่มบางจากยังมุ่งเป็นองค์กรที่ยั่งยืน 100 ปีคู่สังคมไทยอีกด้วย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด