รวมผลรายงานกำไรสุทธิของธนาคารในไทยประจำปี 2018

รวมผลรายงานกำไรสุทธิของธนาคารในไทยประจำปี 2018

ในเวลานี้ หลายธนาคารได้เริ่มเผยผลประกอบการประจำปีออกมาให้เห็นกันบ้างแล้ว ซึ่ง Techsauce ได้รวบรวมผลกำไรสุทธิของ 8 ธนาคารนำเสนอออกมาเป็นกราฟดังนี้ โดยธนาคารที่ได้ผลกำไรสุทธิมากที่สุดคือธนาคารไทยพาณิชย์ ตามมาด้วยธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงเทพ

รายงานผลประกอบการประจำปี 2018 จาก 8 ธนาคารในไทย

ธนาคารกรุงเทพ 

ธนาคารมีกำไรสุทธิ จำนวน 35,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 จากปี 2017 โดยมีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 121,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ซึ่งมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.40 และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 จากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และกำไรสุทธิจากเงินลงทุน แม้ว่าจะมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของธนาคารและบริษัทย่อยยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมเติบโตดี ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 45.4

ธนาคารกรุงไทยและบริษัทย่อย (“กลุ่มธนาคาร”)

ธนาคารมีกำไรสุทธิ จำนวน 28,491 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.0% จากปีก่อน และกำไรสุทธิในไตรมาส 4/2561 เติบโต โดยกลุ่มธนาคารมีสินเชื่อรวมเติบโต 4.4% จากสิ้นปีก่อน สินเชื่อทุกกลุ่มเติบโตอย่างโดดเด่นในไตรมาสสุดท้ายของปี อีกทั้งสามารถบริหารต้นทุนทางการเงินในระดับที่เหมาะสม มุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องตามหลักความระมัดระวัง ทั้งจากนโยบายการจัดชั้นเชิงคุณภาพที่เข้มงวดขึ้น และนโยบายการตั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 125.81%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ

ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 24,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% จากปี 2017 ปัจจัยขับเคลื่อนผลการดำเนินงานมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อที่สูงถึง 10.4% และการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม รวมทั้งการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ ตอกย้ำศักยภาพที่แข็งแกร่งของกรุงศรีและความคล่องตัวในการปรับพอร์ตสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง

ธนาคารกสิกรไทย (KBank)

ธนาคารมีผลกำไรสุทธิจำนวน 38,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 4,121 ล้านบาท หรือ 12.00%  เกิดจากธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง ซึ่งสอดคล้องกับคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร นอกจากนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน4,377 ล้านบาท หรือ 4.65% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อ และเงินลงทุน โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin:NIM) อยู่ที่ระดับ 3.39% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 5,750 ล้านบาท หรือ 9.17% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง ในขณะที่รายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดเงินเพิ่มขึ้นจากธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,976 ล้านบาท หรือ 2.98% หลัก ๆ เกิดจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 43.96%

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB)

ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีกำไรสุทธิจำนวน 6.9 ล้านบาท ลดลงจำนวน 378 ล้านบาท หรือร้อยละ 98.2 เมื่อเทียบกับผลกำไรสุทธิของปี 2560  กำไรก่อนภาษีเงินได้จำนวน 271.2 ล้านบาท ลดลงจำนวน 217.6 ล้านบาทหรือร้อยละ 44.5 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานร้อยละ 9.6 และการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและรายได้อื่น ร้อยละ 7.0 และร้อยละ 2.6  ตามลำดับสุทธิกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 5.3 และการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญร้อยละ 2.6

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย (TMB)

ธนาคารมีผลกำไรสุทธิจำนวน 11,601 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อน พร้อมเพิ่มอัตราส่วนสำรองฯ ต่อ NPL มาอยู่ที่ 152% เพื่อเตรียมรับ IFRS 9 และมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ 30,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.7% หนุนโดยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการรับรู้กำไรจากดีลอีสท์สปริง ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง โดยยังคงดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด ทั้งยังเตรียมความพร้อมรับ IFRS 9 ด้วยการตั้งสำรองฯ เพิ่มจากระดับปกติเป็นจำนวน 7,000 ล้านบาท ในปี 2018 ธนาคารดำเนินการตั้งสำรองฯ ทั้งสิ้น 16,100 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนสำรองฯ ต่อ NPL (Coverage Ratio) ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 152% จาก 143% ในปีก่อนหน้า ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 2.76% โดยหลังหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารรายงานกำไรสุทธิที่ 11,601 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.6% จากปีที่แล้ว

ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อย (SCB)

ธนาคารมีผลกำไรสุทธิจำนวน 40,068 ล้านบาท (งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบ) ลดลง 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปี 2018 รายได้จากการดำเนินงานของธนาคารยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวน 138,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% จากปีก่อน เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโต 4.4% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับตัวลดลง 4.7% จากปีก่อน การยกเลิกค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล การชะลอตัวของธุรกิจประกันภัย และการลดลงของค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศในครึ่งปีหลัง เป็นสาเหตุหลักของการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องในโครงการ Transformation ตลอดสามปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 46.8ในปี 2018 ซึ่งอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ที่ 45-47ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อผลลัพธ์ของโครงการ Transformation ปรากฏเด่นชัดขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปี 2019

ธนาคารธนชาต

ธนาคารมีผลกำไรสุทธิจำนวน 14,703 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยเฉลี่ยเติบโตปีละ 10% ขณะที่ตัวเลขหนี้เสีย (NPL Ratio) ยังคงที่ 2.3% และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโต 5.53% สินเชื่อเติบโต 5.88% และมีสินทรัพท์รวมกันกว่า 1 ล้านล้านบาท

หากมีการเผยผลประกอบการจากธนาคารอื่นๆเพิ่มเติม Techsauce จะรวบรวมและสรุปมาผู้อ่านอีกครั้ง

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ลาออกแล้ว ไปทำงานกับคู่แข่งได้ สหรัฐฯ ออกกฎใหม่ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete

ลาออกแล้ว ไปทำงานบริษัทคู่แข่งได้ สหรัฐฯ เตรียมใช้กฎใหม่ ห้ามบริษัททำสัญญา Non Compete มองปิดโอกาสคนทำงาน ฉุดรั้งเศรษฐกิจประเทศ...

Responsive image

Money20/20 Asia ยกระดับวงการฟินเทคเอเชีย ยักษ์ใหญ่ตบเท้าเข้าร่วมงานคับคั่ง

เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับงาน Money20/20 Asia ครั้งแรกที่ประเทศไทยและเอเชีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 23 - 25 เมษายน 2567 งานทยกระดับอุตสาหกร...

Responsive image

ประกวดนางงาม Miss AI ครั้งแรกของโลก ที่ส่วนใหญ่สร้างตาม Beauty Standard

ตอนนี้มี Miss AI หรือนางงามปัญญาประดิษฐ์ที่จะมาประชันความงามกันบนโลกดิจิทัลแล้ว ด้านผู้จัดการประกวดหวังช่วยผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี...