ผ่านไปแล้วสำหรับปี 2564 และก้าวเข้าสู่ต้นปี 2565 แน่นอนว่าช่วงเวลาถัดไปคือ การประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2565 ซึ่งธุรกิจกลุ่มแรกๆ ที่จะต้องออกมาแสดงผลงานก่อนใครก็คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ นั่นเอง ซึ่งก็ได้มีการประกาศออกมาเป็นที่เรียบร้อย สำหรับกำไรสุทธิประจำไตรมาสที่ 1/2565 ของกลุ่มธนาคารใหญ่ของไทย
ในครั้งนี้ Techsauce จึงได้ทำการรวบรวมและสรุปให้เป็นที่เรียบร้อยว่าผลประกอบการไตรมาส 1/2565 ของ 6 ธนาคารจะเป็นอย่างไรกันบ้าง
ธนาคารกสิกรไทยและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ จำนวน 11,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 584 ล้านบาท หรือ 5.50%
และเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2564 ธนาคารกสิกรไทยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,310 ล้านบาท หลัก ๆ เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 3,618 ล้านบาท หรือ 12.86% จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ
ส่วนใหญ่เกิดจากการให้สินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคารแก่ลูกค้าที่มีศักยภาพ และมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าโดยการเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติ รวมทั้งลูกค้าบางส่วนยังอยู่ภายใต้มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้ธนาคารยังคงต้องมีการบริหารจัดการดอกเบี้ยค้างรับอย่างต่อเนื่อง
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ธนาคารกสิกรไทยและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,133,248 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 จำนวน 29,849 ล้านบาท หรือ 0.73% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 3.78%
ธนาคารกรุงศรี รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 7,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,033 ล้านบาท หรือ 16.2% จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 และเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2564 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 913 ล้านบาท หรือ 14.0% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการดำเนินงานและการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
ขณะที่เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 2.0% หรือจำนวน 38,194 ล้านบาท จากสิ้นปี 2564 จากความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเติบโตถึง 3.9% และ 4.0% ตามลำดับ
ส่วนเงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 2.8% หรือจำนวน 50,041 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์ สะท้อนการปรับตัวดีขึ้นของสัดส่วนของเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์และจ่ายคืนเมื่อทวงถามต่อเงินรับฝากทั้งหมด
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ดังนี้ ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ หรือ PPOP 8,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อนหน้า หนุนโดยการบริหารจัดการด้านต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สัดส่วนหนี้เสียเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.73% จาก 2.81% ในไตรมาสก่อน จึงทำให้การตั้งสำรองฯ ในไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 4,808 ล้านบาท ลดลง 4% จากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งหลังหักสำรองฯ และภาษี มีกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ 3,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,782 ล้านบาท หรือ 15% จากไตรมาส 1 ปี 2564
ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2565 จำนวน 10,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการขยายตัวของฐานรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและการตั้งเงินสำรองที่ลดลง
ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองจำนวน 21,713 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 4.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการลงทุนที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้วที่มีการปิดเมืองเป็นวงกว้าง
ส่วนในไตรมาส 1 ของปี 2565 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 24,744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการบริหารต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและอัตราผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อที่ปรับตัวดีขึ้นในขณะที่สินเชื่อรวมขยายตัวเล็กน้อย
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 12,960 ล้านบาท ลดลง 9.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการลดลงของรายได้จากเงินลงทุน และการชะลอตัวของธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น
ธนาคารกรุงไทย ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 มีกำไรสุทธิ 8,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 5,578 ล้านบาท หรือ 57.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,578.43 ล้านบาท แม้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความท้าทายอย่างต่อเนื่องจากมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นผลมาจากรายได้รวมที่ขยายตัวดีตามการเติบโตของสินเชื่อ ควบคู่การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ในระดับที่ควบคุมได้อย่างต่อเนื่องทำให้ตั้งสำรองลดลง และเพิ่มระดับของ Coverage ratio เป็น 173.6% รองรับความไม่แน่นอนในอนาคต
โดยรายได้รวมขยายตัวทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 5.6% จากสินเชื่อที่เติบโตโดยธนาคารมุ่งเน้นสินเชื่อที่มีคุณภาพท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ สินเชื่อเติบโตดีทั้งสินเชื่อภาครัฐ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อย อีกทั้ง ธนาคารมีการบริหารต้นทุนทางการเงินเป็นอย่างดีอย่างต่อเนื่อง และมีรายได้จากการดำเนินงานอื่นที่ขยายตัว รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งลดลง 3.5% ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 41.25% ลดลงจาก 44.25% ในไตรมาส 1/64
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ผลประกอบการงวดไตรมาส 1/65 มีกำไรสุทธิ 7,118.06 ล้านบาท หรือ 3.73 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 2.8% จากงวดเดียวกันปี 64 ที่มีกำไร 6,923.09 ล้านบาท หรือ 3.63 บาท/หุ้น
โดยที่ธนาคารกรุงเทพ มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น10.4% จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.11%
สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 16.1% ส่วนใหญ่จากกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมลดลงตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจบัตรเครดิต และบริการประกันผ่านธนาคารและกองทุนรวม
ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 1.6% ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 49.8% ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 6,489 ล้านบาท
ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 65 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,587,534 ล้านบาท อยู่ในระดับเดียวกับ สิ้นเดือนธันวาคม 64 โดยมีสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่เพิ่มขึ้นสุทธิกับการลดลงของสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.3%
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด