BDMS ร่วมลงทุนใน CARIVA (แคริว่า) บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นนำของไทย ผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ Medical Large Language Models (Medical LLMs) เป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพื่อยกระดับการแพทย์ไทยด้วยการนำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาพัฒนาต่อยอดกับกระบวนการตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติการ (Lab Interpretation Solution) เพื่อแปลผลวิเคราะห์ และให้ข้อมูลการตรวจแล็บที่อาจเกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาโรคที่เป็นความเสี่ยงสำคัญของผู้ป่วย ทำหน้าที่เปรียบเสมือนผู้ช่วยแพทย์ในการวิเคราะห์รายละเอียดของผู้ป่วย และเพิ่มประสิทธิภาพการดูแล
โดย BDMS นำ AI ดังกล่าวมาปรับใช้กับแนวทางค้นหาเชิงป้องกันกับคนสุขภาพดี ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ Sandbox ของ BDMS ที่มุ่งยกระดับมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ด้วยการพัฒนานวัตกรรม 5 ด้าน ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยการคัดกรองและวินิจฉัยโรค การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการและเพิ่มความแม่นยำ เทคโนโลยีเพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพ เทคโนโลยีเพื่อการติดตามผลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และเทคโนโลยีเพื่อการบริการทางการแพทย์อย่างยั่งยืน
การลงทุนเพื่อความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการบริการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Care) และการแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) ตรวจคัดกรองความผิดปกติเบื้องต้น วิเคราะห์ข้อมูลจากผลตรวจของแต่ละบุคคล เพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพป้องกันโรคเรื้อรังในอนาคต ซึ่งสามารถตรวจพบและป้องกันได้ก่อนเกิดโรค โดย BDMS มุ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพ ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพได้อย่างสะดวกรวดเร็ว อันส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ผ่านการดูแลสุขภาพอย่างครอบคลุม และเท่าเทียมกัน
ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา BDMS ได้ให้ทุนสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพไปแล้ว 4 แห่ง และร่วมพัฒนานวัตกรรมร่วมกับสตาร์ทอัพในประเทศไทย ปัจจุบันได้นำนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นใหม่เหล่านี้ไปใช้งานได้จริงแล้ว 7 โครงการ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนามาตรฐานบริการทางการแพทย์ และการบริการด้านสุขภาพ ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมาใช้งานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์
ดร. พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายนวัตกรรมองค์กรยั่งยืน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมา BDMS ได้ดำเนินงานตามแผนการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ 1,500 ล้านบาท ในรูปแบบการสนับสนุนเงินลงทุนระดับ Serie A เพื่อพัฒนานวัตกรรมร่วมกับสตาร์ทอัพไทย
โดยมีนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานจริงแล้ว ได้แก่ โครงการ Perceptra ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อ่านผลเอกซเรย์สำหรับผู้ช่วยรังสีแพทย์ โครงการ Mineed หรือ เข็มเล็กละลายใต้ชั้นผิว (Microneedle) ที่ช่วยนำยาเข้าสู่ร่างกาย รวมไปถึงแอปพลิเคชัน “อูก้า” (OOCA) ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานในการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาแบบออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชัน “บีดี” (BeDee) การบริการพบแพทย์และเภสัชกรแบบทางไกล หรือ Telehealth และ Tele-pharmacy รวมถึงการสั่งยา (Tele Medicine) ซื้อหาสินค้าเวชภัณฑ์ (Health Mall) และศูนย์ข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ (Health Content) ซึ่งจะช่วยให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น และล่าสุด คือ “แคริว่า” (CARIVA) ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ (AI) วิเคราะห์โรคเฉพาะบุคคล
“โครงการที่ BDMS เข้าไปสนับสนุนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Sandbox ที่ BDMS ร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ ให้เข้ามาช่วยพัฒนาและสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการให้บริการทางการแพทย์ ตามเจตนารมย์ของ BDMS ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรม Healthcare ให้เกิดความยั่งยืน การนำนวัตกรรม AI เข้ามาใช้งานจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้กับแพทย์ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การพัฒนานวัตกรรม AI นั้น ไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยการทำงานเพียงลำพัง และ BDMS ก็เช่นกัน เราได้รับความร่วมมือ ทั้งจากภาครัฐ โรงเรียนแพทย์ และบริษัทสตาร์ทอัพ ในการยกระดับบริการทางการแพทย์ ทั้งการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน เรามุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยยกระดับมาตรฐานสาธารณสุขไทย เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป” ดร. พัชรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับ Medical LLMs ภายใต้ CARIVA ในชื่อ PreceptorAI เป็นแชทบอทด้านการแพทย์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งเปิดใช้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ทำหน้าที่เปรียบเสมือนที่ปรึกษาและผู้ช่วยตัดสินใจของบุคลากรทางการแพทย์
นายศิวดล มาตยากูร ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว CARIVA ได้ต่อยอดนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องให้มีรูปแบบเสมือนผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ เช่น Lab Interpretation Solution, ASR (Automatic Speech Recognition) การบันทึกและตรวจความถูกต้องข้อมูลคำสั่งทางการแพทย์แบบ real-time โดยใช้เทคโนโลยีรู้จำเสียงอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยในการบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมลดภาระงานด้านเอกสารในกระบวนการทำงานอีกด้วย Symptom Checkers เอไอในรูปแบบแชทบอท เพื่อประเมินอาการ และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโรค โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของ CARIVA ประกอบกับความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ จะเข้ามาช่วยส่งเสริมการบริการที่เป็นเลิศทางการแพทย์ของ BDMS พร้อมขยายสู่โรงพยาบาลชั้นนำในต่างประเทศต่อไป
นอกจากนี้ นายณรงค์ชัย ลิมป์ปิยาภิรมย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า โครงการ Lab Interpretation ภายใต้ Sandbox ได้มีการทดลองใช้ ณ Health Design Center ในพื้นที่โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ เพื่อช่วยแปลผลข้อมูลสุขภาพร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการดูแลคนไข้ พร้อมเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพ เพื่อแสดงผลในรูปแบบดิจิตอลผ่าน BeDee Health Ecosystem Platform ให้คนไข้เข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลา รวมถึงสามารถเข้ารับบริการทางด้านสุขภาพ ได้แก่ การปรึกษาทางการแพทย์ ผ่าน Teleconsultation การบริการส่งยา และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ผ่าน Tele-pharmacy และ Health Mall รวมถึงรับข้อมูลสุขภาพ เพื่อการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร ผ่าน Health Content ซึ่งการบริการทั้งมวลดำเนินการโดยบุคลากรทางการแพทย์ผู้ชำนาญการในเครือ BDMS
ดร. สริตา บุณย์ศุภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮลท์ พลาซ่า จำกัด ในเครือ BDMS ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน BeDee กล่าวว่า นอกจากประโยชน์ที่ AI จะเข้ามาช่วยแพทย์ในการอ่านผลตรวจสุขภาพเพื่อความแม่นยำในการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้นแล้ว ผู้ใช้บริการแอปพลิเคชัน BeDee ก็สามารถอ่านผลตรวจสุขภาพเองได้ทันที ในรูปแบบที่ล้ำสมัย สวยงาม และเข้าใจง่าย หากพบว่าผลตรวจสุขภาพของมีจุดผิดปกติ เช่น มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคอื่น ๆ ผู้ป่วยก็สามารถวางแผนการรักษาต่อด้วยการปรึกษาคุณหมอเฉพาะทาง หรือปรึกษาเภสัชกรเรื่องยาแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ได้จากทุกโรงพยาบาลในเครือ BDMS ผ่านแอปพลิเคชัน BeDee เพียงแอปเดียว
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด