มาแล้ว! ประกาศ ธปท. เปิดช่องเอกชนเป็น Banking Agent ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว | Techsauce

มาแล้ว! ประกาศ ธปท. เปิดช่องเอกชนเป็น Banking Agent ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

ราชกิจจานุเบกษาประกาศบังคับใช้ "ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 3/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางให้บริการของธนาคารพาณิชย์" แล้ว เปิดช่องให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน, ห้างหุ้นส่วนจำกัด, บริษัทจำกัด, บริษัทมหาชนจำกัด, กองทุนหมู่บ้าน และสหกรณ์ สามารถเป็นตัวแทนธนาคาร หรือ Banking Agent ได้อย่างเป็นทางการ พร้อมออกกำหนดหลักเกณฑ์ให้ธนาคารพาณิชย์มีการบริหารความเสี่ยงและการดูแลผู้ใช้บริการ

Photo : Jenpasit Puprasert, Techsauce

ก่อนหน้านี้ Techsauce ได้รายงานข่าวที่ ธปท. เตรียมเปิดช่องให้ร้านสะดวกซื้อเป็น Banking Agent ได้ ซึ่งเปิดเผยโดยผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่าคุณวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ลงนามการประกาศหลักเกณฑ์การเป็นตัวแทนธนาคาร หรือ Banking Agent แล้ว และข่าว ปรับหลักเกณฑ์ Banking Agent แน่นอน! ธปท. เผยกฎใหม่ประกาศใช้ช่วง มี.ค. 61 ที่ระบุว่า

การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางให้บริการของธนาคารพาณิชย์ อยู่ระหว่างการรอลงราชกิจจานุเบกษา โดยคาดว่าจะประกาศได้ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์จะสามารถแต่งตั้ง Banking Agent ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก ธปท. แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศบังคับใช้ "ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 3/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางให้บริการของธนาคารพาณิชย์" ลงนามโดยคุณวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561

สาระสำคัญในประกาศระบุว่า "ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้า ประกอบกับพัฒนาการทางเทคโนโลยีและธุรกรรมต่าง ๆ ทำให้ประชาชนหรือลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ได้อย่างสะดวกและทั่วถึงมากขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับช่องทางให้บริการ 3 ฉบับ"

โดยหลักเกณฑ์ 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับช่องทางให้บริการ ที่ ธปท. ได้ปรับปรุง ได้แก่

  1. ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การประกอบกิจการสาขาธนาคารพาณิชย์
  2. ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งตัวแทนของสถาบันการเงิน (Banking Agent)
  3. ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ให้บริการการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

โดยให้เหตุผลในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่อว่า "เป็นไปเพื่อให้มีความยืดหยุ่นและสอดรับกับความต้องการของประชาชน และเพื่อส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์สามารถบริหารจัดการช่องทางให้บริการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากขึ้น โดยยังคงหลักการเดิมที่ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถให้บริการแก่ลูกค้าและประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึง"

ประเด็นสำคัญที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ช่องทางให้บริการในประกาศฉบับดังกล่าว เช่น

  • การเพิ่มความยืดหยุ่นในขอบเขตการให้บริการและการขออนุญาตเพื่อรองรับการเปิด-ปิดสาขา
  • การปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขาและวันเวลาทำการให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม โดยไม่จำเป็นต้องให้บริการพื้นฐานครบทั้ง 4 ประเภท (การฝาก ถอน โอน เปิด - ปิดบัญชี) ซึ่งลูกค้าสามารถได้รับบริการผ่านช่องทางอื่นที่มีต้นทุนการให้บริการที่ต่ำลงได้ เช่น ผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Mobile Banking
  • การให้ธนาคารพาณิชย์นำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
  • การขยายประเภทตัวแทน (ฺBanking Agent) และขอบเขตการให้บริการเพื่อเป็นทางเลือกให้ธนาคารพาณิชย์ในการบริหารช่องทางให้บริการ
  • ฯลฯ

นอกจากนี้ ธปท. ยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ธนาคารพาณิชย์มีการบริหารความเสี่ยงและการดูแลผู้ใช้บริการที่เหมาะสม รัดกุม และเป็นธรรมผ่านนโยบายด้านช่องทางให้บริการที่ได้รับการอนุมัติ และดูแลติดตามการดำเนินการโดยคณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์ด้วย

โดยได้ยกเลิกประกาศเก่าไป 2 ฉบับ

  1. ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 3/2556 เรื่อง หลักเกณฑ์การประกอบกิจการสาขาธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 4 มีนาคม 2556
  2. ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 9/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งตัวแทนของสถาบันการเงิน (Banking Agent) ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2553

Banking Agent ที่เป็นนิติบุคคล ในประกาศฯ ใหม่ทำอะไรได้บ้าง?

ตารางสรุปการแต่งตั้งตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ (Banking Agent) จาก ธปท.

หากอ่านประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ลงในราชกิจจานุเบกษา ในหน้า 17-19 จะพบว่า ประเภทตัวแทนสถาบันการเงิน หรือ Banking Agent ตามประกาศดังกล่าวมีดังนี้

  • ธนาคารพาณิชย์อื่น
  • สถาบันการเงินเฉพาะกิจ
  • บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
  • ผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ประกอบธุรกิจบริการที่ต้องได้รับอนุญาตก่อนให้บริการ
  • นิติบุคคลอื่น เช่น ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน, ห้างหุ้นส่วนจำกัด, บริษัทจำกัด, บริษัทมหาชนจำกัด, กองทุนหมู่บ้าน และสหกรณ์

จากประกาศดังกล่าวจะพบว่า Banking Agent ที่เป็นนิติบุคคลจะสามารถทำธุรกรรม ได้ 4 อย่าง คือ

  • เป็นตัวแทนให้บริการรับฝากเงินได้
  • เป็นตัวแทนให้บริการรับถอนเงินได้
  • เป็นตัวแทนจ่ายเงินสำหรับผู้ใช้บริการรายย่อยได้
  • เป็นตัวแทนรับชำระเงิน หรือบริการอื่นตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตแก่ผู้ใช้บริการแทนธนาคารพาณิชย์ได้

แต่ไม่สามารถเป็นตัวแทนจ่ายเงินสำหรับผู้ใช้บริการรายใหญ่ (ที่เป็นนิติบุคคล องค์กร และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือธุรกิจ SMEs) ได้ เนื่องจากเปิดช่องให้แค่ธนาคารพาณิชย์อื่น และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่ทำได้เท่านั้น

โดยธปท. ระบุในประกาศว่าธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการให้บริการเสมือนเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งในการแต่งตั้งตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ต้องเป็นไปตามขอบเขตและเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนดด้วยเช่นเดียวกัน

จริง ๆ มีรายละเอียดอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับประกาศนี้อีกมาก สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ครับ

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สู่ Siri ยุคใหม่ ! เผย Apple เตรียมเปิดตัว LLM Siri ในปี 2026 ท้าแข่ง ChatGPT โดยเฉพาะ

OpenAI ถือเป็นหนึ่งในบิ๊กเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่มีความก้าวกระโดดด้านการพัฒนา AI หลังจากสร้างกระแสด้วยแชทบอท ChatGPT ไปเมื่อปลายปี 2022 ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งมีดีลกับ Apple ในการนำ Cha...

Responsive image

American Airlines เปิดตัวระบบจัดการคิวอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงเตือนสองระดับ ปิดเกมสายแซงคิวขึ้นเครื่อง

เคยเจอไหม? คนแซงคิวขึ้นเครื่องจนวุ่นวายที่ประตูทางขึ้น หลังจากนี้จะไม่มีอีกต่อไป เมื่อ American Airlines แก้ปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยีเสียงเตือนอัจฉริยะ ที่จะจับทุกความพยายามแอบขึ้นเครื...

Responsive image

Soft Power และ Technology คือสิ่งที่ประเทศไทยจะเดินต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า สรุปแนวคิด ทักษิณ ชินวัตร

ดร.ทักษิณ ชินวัตรเผยวิสัยทัศน์ 5 ปีข้างหน้าของประเทศไทยในงาน Forbes Global CEO Conference เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซอฟต์พาวเวอร์ และการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเสริมสร้างความสามารถ...