ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งทีมรับกระแส FinTech พร้อมเปิดทางระดมทุน Crowdfunding | Techsauce

ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งทีมรับกระแส FinTech พร้อมเปิดทางระดมทุน Crowdfunding

bot-fintech

อีกความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ที่เชื่อว่าจะส่งผลดีกับเหล่า Startup ไทย เพราะตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เตรียมรับกระแส FinTech หรือเทคโนโลยีทางการเงิน พร้อมปรับเปลี่ยนหลายอย่างเพื่อให้ผู้เล่นมีโอกาสในการเข้ามาทำมากขึ้น

คุณวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับทาง "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เรื่องเทคโนโลยีทางการเงิน Financial Technology หรือ FinTech เป็นโจทย์ที่สำคัญมาก ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ระบบการเงินของโลก ไม่ใช่เฉพาะในไทย โดยจะเห็นผู้เล่นรายใหม่ ๆ ที่อาศัย FinTech จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและเข้ามาในธุรกรรมที่ถือว่าเป็นธุรกรรมหลักของสถาบันการเงิน

"ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่สถาบันการเงินไทยตื่นตัวและเตรียมพร้อม เพราะเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามามีทั้งการลองผิด ลองถูก แต่หากลองแล้วถูกขึ้นมาก็จะสามารถ pick up ได้เร็วมาก ทำให้มีปริมาณธุรกรรมมากขึ้น เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งโลกต้องให้ความสำคัญ ซึ่ง ธปท.ก็ให้ความสำคัญกับผู้เล่นที่เป็น FinTech รายใหม่ๆ ที่จะเข้ามาทำ ทั้งที่เป็น Bank หรือ Non-Bank เป็นความท้าทายที่ต้อง เตรียมตัวและตามให้ทัน และ ธปท.ก็ได้ตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องนี้" นายวิรไทกล่าว

อีกด้านหนึ่ง กฎหมายระบบชำระเงินฉบับใหม่ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ สนช.ซึ่งจะให้อำนาจ ธปท.เข้าไปกำกับดูแลธุรกิจการชำระเงิน ทั้งที่ผู้เล่นที่เป็นธนาคารพาณิชย์และไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงที่เป็น FinTech ซึ่งเดิมกฎหมายจะเป็นเบี้ย หัวแตก บางเรื่องก็ต้องไปขอกระทรวง ไอซีที บางเรื่องต้องใช้ ปว. 58 (ประกาศของคณะปฏิวัติ) ดูแล เป็นต้น แต่ต่อไปจะให้อำนาจ ธปท.กำกับดูแลทั้งหมด

นายวิรไทกล่าวว่า Fin Tech มีหลายประเภท ถ้าเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงิน การกู้ยืมเงินก็จะเข้ามาที่ ธปท. ส่วนที่เกี่ยวกับระดมทุน เช่น equity crowdfunding, ที่ปรึกษาทางการเงิน ก็จะมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดูแล หรือถ้าเกี่ยวกับธุรกิจประกัน ซึ่งในต่างประเทศมี FinTech ด้านนี้ ส่วนนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ก.ล.ต.จ่อปรับเกณฑ์ไลเซนส์

ขณะที่นางปะราลี สุคนธมาน ผู้ช่วยเลขาธิการ สายธุรกิจตัวกลางและตลาด ก.ล.ต.เปิดเผยว่า ในต่างประเทศบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และธุรกิจวาณิชธนกิจ (invesment banking) ต่างประสบกับการแข่งขันจากผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาใน รูปแบบ FinTech มากขึ้น รุนแรงขึ้น และ ก.ล.ต.ก็ได้ข้อมูลจาก บล.ที่มีบริษัทแม่ในต่างประเทศแจ้งว่า ธุรกิจหลักทรัพย์บางแห่ง จำเป็นต้องปรับโครงสร้างธุรกิจเดิม หรือเปลี่ยนธุรกิจด้วยการร่วมทุนหรือถือหุ้น ในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับ FinTech มากขึ้น

ดังนั้นในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (พ.ศ. 2559-2561) ของ ก.ล.ต.จึงได้บรรจุเรื่อง FinTech เข้าไปในแผนด้วย โดยจะเป็นการปรับแลนด์สเคปของการให้ใบอนุญาตธุรกิจในตลาดทุนที่หลากหลายขึ้น เบื้องต้นจะปรับปรุงใน 4 เรื่อง ได้แก่ โครงสร้างของการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ (License) เกณฑ์ขั้นต่ำของทุนจดทะเบียนของธุรกิจ คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต และเกณฑ์การกำกับดูแล และปี 2559 น่าจะได้เห็นความคืบหน้าในบางเรื่อง

"เมื่อมีเรื่องใหม่ ๆ เข้ามา เราจะกำกับแบบให้ไลเซนส์แบบเดิมคงไม่ได้แล้ว ตอนนี้ในธุรกิจตลาดทุนไทยอาจยังไม่ชัด แต่ในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยเห็นสัญญาณชัดว่าเริ่มได้รับผลกระทบจาก FinTech จนทำให้หลายแบงก์แทบจะหยุดการขยายสาขา หรือการที่ 3 ค่ายมือถือจับมือกันทำเรื่องโอนเงิน-ชำระเงินก็กระทบกับธุรกิจแบงก์เช่นกัน" นางปะราลีกล่าว

หนุนระดมทุน Crowdfunding

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังมีแนวทางจะปรับปรุง กฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่เป็นการออกเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนในรูปแบบ Equity Crowdfunding เป็นการระดมทุน จากสาธารณะ เพื่อสนับสนุนช่องทาง การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME หรือธุรกิจกลุ่มเกิดใหม่ที่เรียกว่า Startup โดยให้หุ้นของบริษัทเป็นสิ่งตอบแทน

นางปะราลีกล่าวว่า ก.ล.ต.ได้ออกเกณฑ์กำกับดูแล Equity Crowdfunding ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่ยังต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความเห็น ของผู้เกี่ยวข้อง และเดือนกุมภาพันธ์น่าจะมีการประกาศเพิ่มเติม เช่น เรื่องผู้รับฝากเงินหรือผู้เก็บรักษาเงินค่าจองซื้อหุ้น จะปรับปรุงเกณฑ์ให้โบรกฯและทรัสตี เข้ามาเป็นผู้รับฝากเงินได้

"นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนใน Equity Crowdfunding ต้องเข้าใจว่า บริษัทที่เข้ามา ระดมทุนมีความเสี่ยงต่อความอยู่รอดของธุรกิจสูง ในต่างประเทศพบว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จมีเพียง 20-30% นักลงทุนมีโอกาสจะสูญเสียเงินต้น ไม่ได้ปันผล แต่อีกด้านหากธุรกิจประสบความสำเร็จก็จะมีผลตอบแทนที่ดีมาก ดังนั้น ก.ล.ต.จึงดูแลความเสี่ยงเบื้องต้นด้วยการกำหนดให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนได้ไม่เกินรายละ 50,000 บาทต่อบริษัท และทั้งปีไม่เกิน 500,000 บาท และก่อนลงทุนจะต้องผ่านการทดสอบความรู้ความเข้าใจการลงทุนด้วย ล่าสุดมีธุรกิจที่แสดงความสนใจเข้ามาทำหน้าที่ตัวกลางระดมทุน Crowdfunding ที่รอขอความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. 5 ราย" นางปะราลีกล่าว

ขณะที่นายสุรินทร์ ตนะศุภผล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกลยุทธ์องค์กร คปภ. กล่าวว่า FinTech ถือเป็นเรื่องใหม่ ซึ่ง คปภ.อยู่ระหว่างศึกษาโมเดลจากประเทศในภูมิภาคนี้ รวมถึงดูกฎหมายในประเทศ ว่าจะพัฒนารับมือกับเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 เพื่อรองรับทิศทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทยใน 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2559-2563)

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, Bank of Thailand Scholarship Students

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ประกวดนางงาม Miss AI ครั้งแรกของโลก ที่ส่วนใหญ่สร้างตาม Beauty Standard

ตอนนี้มี Miss AI หรือนางงามปัญญาประดิษฐ์ที่จะมาประชันความงามกันบนโลกดิจิทัลแล้ว ด้านผู้จัดการประกวดหวังช่วยผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี...

Responsive image

ไม่ยอมขายแอป ก็โดนแบน สหรัฐฯ จ่อแบน TikTok หวั่นเป็นภัยความมั่นคงชาติ

สหรัฐฯ ผ่านกฎหมายแบน TikTok แล้ว บังคับบริษัทแม่ ByteDance ต้องขายแอปภายใน 1 ปี มิฉะนั้นจะถูกแบนในสหรัฐฯ ด้านซีอีโอ TikTok ประกาศกร้าว พร้อมท้าทายกฎหมาย ไม่ไปไหนทั้งนั้น...

Responsive image

KBank ผนึก J.P. Morgan เปิดโปรเจกต์ Carina ใช้บล็อกเชน ลดเวลาทำธุรกรรมจาก 72 ชั่วโมงเหลือ 5 นาที

Kbank ร่วมกับ J.P. Morgan Chase Bank เปิดตัวโปรเจคต์นวัตกรรมคารินา (Carina) ลดระยะเวลาการทำธุรกรรม จากที่ใช้เวลา 72 ชั่วโมงเหลือเพียงแค่ 5 นาที...