เปิดผลประกอบการธนาคาร ปี 2022 ด้าน BBL โชว์กำไรสุทธิ 2.93 หมื่นลบ.เพิ่ม 10.6% ส่วน KBank ฟันกำไร 3.5 หมื่นลบ. | Techsauce

เปิดผลประกอบการธนาคาร ปี 2022 ด้าน BBL โชว์กำไรสุทธิ 2.93 หมื่นลบ.เพิ่ม 10.6% ส่วน KBank ฟันกำไร 3.5 หมื่นลบ.

ในช่วงนี้ถือเป็นเทศกาลประกาศผลประกอบการของบรรดาธนาคาร ในประเทศไทย ซึ่งล่าสุดธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทยก็ได้ควงคู่เปิดเผยข้อมูลก่อนเป็นที่แรก ๆ โดยทางด้านธนาคารกรุงเทพเองมีกำไรสุทธิปี 2022 จำนวน 29,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนทางฝั่งของธนาคารกสิกรไทย สำหรับปี 2022 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 35,770 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 2,283 ล้านบาท หรือ 6.00%

Kbankธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับปี 2022 จำนวน 29,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อและการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ย ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.42 สอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยและการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคาร ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 30.0 

ธนาคารกรุงเทพ ฟันกำไรสุทธิปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6

ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาดและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจหลักทรัพย์ และบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อและบริการการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 49.7 

ทั้งนี้ ธนาคารพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 32,647 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.4 จากปีก่อน ธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรอง โดยพิจารณาความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ในปี 2022 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายโดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไทยไดเ้ริ่มลดลงตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นมา

ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพยังคงแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2022 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,682,691 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จากสิ้นปี 2021 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ร้อยละ 3.1 ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 260.8

ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2022 จำนวน 3,210,896 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากสิ้นปี 2021 และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 83.5 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 19.1 ร้อยละ 15.7 และร้อยละ 14.9 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

KBank แจ้งผลประกอบการ ปี 2022 กำไร 35,770 ล้านบาท

ส่วนทางด้านธนาคารกสิกรไทย สำหรับปี 2022 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 35,770 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 2,283 ล้านบาท หรือ 6.00% โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 98,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.72% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและทิศทางอัตราดอกเบี้ย

ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) ที่สูงขึ้นอยู่ในระดับ 3.33% ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 43.15%

อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL)  เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในระดับสูงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ 

ส่วนทางด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 13,608 ล้านบาท หรือ 11.40% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าบุคคล และกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น

ควบคู่กับการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 3,700 ล้านบาท หรือ 8.42% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลงซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด 

ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,709 ล้านบาท หรือ 5.22 % หลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจ และค่าใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า   

ส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ในปี 2565 มีจำนวน 51,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28.73% เพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต

รวมทั้งการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ยังคงเปราะบาง นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ให้มีความพร้อมในการดูแลช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้เต็มศักยภาพ ตอบรับกับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น

โดยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2022 อยู่ที่ระดับ 154.26% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น      

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2022 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,246,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2021 จำนวน 142,970 ล้านบาท หรือ 3.48% หลัก ๆ เป็นการเติบโตของเงินให้สินเชื่อสุทธิตามยุทธศาสตร์ของธนาคารและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ

นอกจากนี้ ธนาคารเพิ่มความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลูกค้ามีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และจะเป็นกำลังขับเคลื่อนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.19% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2022 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 18.81%

โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.84% ทั้งนี้ งบการเงินรวมของธนาคารและบริษัทย่อยสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2022 ได้รวมฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของธนาคารแมสเปี้ยน จากการเข้าไปลงทุนเพิ่มในช่วงปลายปีทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นรวมร้อยละ 67.50 ของหุ้นที่ออกและชำระแล้ว ซึ่งไม่มีผลกระทบต่องบการเงินรวมอย่างมีสาระสำคัญ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

โตโยต้า เปิดแผนการลงทุน พร้อมทุ่มงบ 4.7 แสนล้านบาทพัฒนารถ EV และ AI

โตโยต้า ประกาศแผนการลงทุนมูเพื่อส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีไฮโดรเจน...

Responsive image

LINE MAN Wongnai เตรียม IPO ไทย-สหรัฐฯ ปี 2025 มุ่งสู่การเป็นมากกว่าแอปฯ สั่งอาหาร

LINE MAN Wongai แพลตฟอร์มบริการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ยอดนิยมของไทย กำลังพิจารณาการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์ไทยหรือสหรัฐฯ ภายในปี 2025 ตามข้อมูลจากคุณยอด ชิน...

Responsive image

Techsauce Global Summit 2024 พร้อมเดิมหน้าจัดงานใน 3 ประเทศ “ไทย-อินโด-เวียดนาม”

Techsauce Global Summit 2024 พร้อมเดิมหน้าจัดงานใน 3 ประเทศ “ไทย-อินโด-เวียดนาม” สู่เป้าหมายการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็น Tech Gateway ของภูมิภาค...