Carbon Footprint คืออะไร ? จะก้าวสู่การเป็นธุรกิจในยุคสังคมคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืนต้องทำอย่างไร ? | Techsauce

Carbon Footprint คืออะไร ? จะก้าวสู่การเป็นธุรกิจในยุคสังคมคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืนต้องทำอย่างไร ?

ปัจจุบัน Carbon Footprint นับเป็นตัวชี้วัดสำคัญ สำหรับการดำเนินกิจกรรมหรือการกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์เกือบทุกขั้นตอน เพื่อที่จะควบคุมไม่ให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั่นเอง

Carbon Footprintบทความนี้ Techsauce จะชวนมาทำความเข้าใจว่า Carbon Footprint คืออะไร ? คำนวณอย่างไร และประโยชน์ของการทำ Carbon Footprint มีอะไรบ้าง พร้อมไขข้อสงสัยว่าทำไมธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ 

Carbon Footprint คืออะไร

Carbon Footprint คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การคมนาคมขนส่ง การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ หากพูดให้เห็นภาพง่าย ๆ การดำเนินชีวิตประจำวันของเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ การใช้ไฟฟ้า การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือแม้กระทั่งของเสียที่เกิดจากอาหารในแต่ละวัน ล้วนแต่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 

โดยก๊าซเรือนกระจกที่นำมาพิจารณามีอยู่ 7 ตัวด้วยกัน คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน, ก๊าซไนตรัสออกไซด์, กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน, ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ 

ซึ่งก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดนี้เหล่านี้จะมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential :  GWP) แตกต่างกัน โดยทางคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ได้กำหนดค่าการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของแต่ละก๊าซให้เทียบกับศักยภาพการเกิดภาวะโลกร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนเท่ากับ 1 ซึ่งจะมีหน่วยเป็น คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide equivalent : CO2e)

ประเภทของ Carbon Footprint มีอะไรบ้าง ?

Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์  คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product life cycle) กล่าวคือตั้งแต่เป็นวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน จนไปถึงการทำลายเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะเครื่องหมาย Carbon Footprint แสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่าตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่ 

Carbon Footprint ของบริการ คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาในการให้บริการนั้นๆ (ผลิตภัณฑ์ + องค์กร)

Carbon Footprint ขององค์กร คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กร

วิธีคำนวณ Carbon Footprint

การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1 กิโลกรัม =  Carbon Footprint 1 กิโลกรัม และด้วยความที่ก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิด การคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาเราจะใช้หน่วย คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ในการคิด

อ้างอิงจากค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของรายงานการประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของ IPCC ฉบับที่ 5 (IPCC Fifth Assessment Report 2014 : AR5) ซึ่งได้กำหนดให้ ก๊าซมีเทนมีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นจาก 25 เท่า เป็น 28 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซไนตรัสออกไซด์มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนอยู่ที่ 265 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

เช่น หากเราปล่อยก๊าซมีเทน 1 กิโลกรัม จะหมายความว่าเราปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เท่ากับ 28 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e)  และหากเราปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ 1 กิโลกรัม ก็จะหมายความว่า เราปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เท่ากับ 265 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) นั่นเอง

ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยของ Carbon Footprint ต่อคนในอเมริกา คือ 16 ตัน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงที่สุดในโลก เพราะโดยปกติจะอยู่ที่ 4 ตัน เพื่อเป็นโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาของอุณหภูมิโลก จึงต้องมีการลดค่าเฉลี่ยของ Carbon Footprint ต่อปี ให้ลงมาอยู่ที่คนละ 2 ตัน ภายในปี 2050

จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นภาคธุรกิจที่กำลังมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ได้มีการจัดทำ Carbon Footprint ขององค์กร เพื่อเป็นการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้ทราบแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญขององค์กร ก่อนนำไปสู่การบริหารจัดการและวางแผนกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

ทำไมองค์กรต้องให้ความสำคัญกับ Carbon Footprint

เพราะจะทำให้องค์กรทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่างๆ และสามารถวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุด พร้อมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายให้องค์กร จากการลดการใช้พลังงาน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ 

ทั้งยังสามารถต่อยอดและพัฒนาโครงการไปสู่อนาคต โดยการขยายผลการประเมินก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้การรับรองฉลากลดโลกร้อน 

รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับมาตรการ Non-Tariff Barriers (NTBs) หรือการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี เช่น ภาษีคาร์บอนและมาตรการต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้ฉลากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะนำมาซึ่งความได้เปรียบทางการค้าขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นจุดแข็งทั้งในประเทศและนานาชาติ ที่ต่างเห็นว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องเร่งด่วน และสามารถตรวจวัดเป็นตัวเลขได้

ทำให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ที่อยู่ใน Supply Chain ที่ต้องการสินค้าหรือคู่ค้าที่มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน โดยทั้งหมดนี้สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ในระดับสากลทั่วโลก

ขณะเดียวกันยังสามารถจำหน่ายเป็นคาร์บอนเครดิต หรือทำการชดเชยคาร์บอนกับองค์กรอื่นๆ พร้อมกับนำข้อมูลเหล่านั้นไปประกอบการจัดทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัท เพื่อตอบคำถามนักลงทุน และท้ายที่สุดแล้วคือการแสดงความรับผิดชอบขององค์กร ตามหลักการ ESG ที่โปร่งใส เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ESG ขององค์กรนั่นเอง

ดังนั้นในหลายประเทศจึงเริ่มมีการนำ Carbon Footprint มาใช้กันแล้ว ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น จึงถือได้ว่าการลงทุนที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนนี้จะช่วยสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) สร้างการรับรู้และการสื่อสารที่ดีระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ 

โดยมีแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว (Investment Style) ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance : ESG) อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านตัวเลขที่ออกมาในรูปแบบของ Carbon Footprint ทำให้เราสามารถประเมินสถานการณ์ ตรวจสอบ และติดตามประเมินผล เพื่อบริหารจัดการให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงได้อย่างแท้จริง

รวบรวมข้อมูลจาก 

The Nature Conservency , Set Social Impact , TGO , Carbon Footprint

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘ไปรษณีย์ไทย’ เพิ่มมูลค่า Asset ชูบริการเรือธง EMS World ส่งด่วน ทั่วโลก

EMS World คือ บริการเรือธงที่ทำรายได้หลักให้ไปรษณีย์ไทย หลังจากนี้จะผลักดันบริการสู่ตลาดโลก ร่วมกับการนำ Asset ที่มีอยู่เดิม มาเพิ่มมูลค่าได้อย่างน่าสนใจ...

Responsive image

SearchGPT คืออะไร ? เมื่อ OpenAI ลงสนาม Search engine ท้าชน Google ชิงส่วนแบ่งธุรกิจ

OpenAI ท้าชน Google ชิงส่วนแบ่งธุรกิจ Search Engine เปิดตัว SearchGPT โมเดล Search Engine ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เวอร์ชันต้นแบบ ที่จะมาเปลี่ยนการค้นหาข้อมูลให้เป็นเรื่องง่าย รวดเร็ว ...

Responsive image

ลงทะเบียนพบนักลงทุนตัวจริงกับ "Meet the VCs" ในงาน Techsauce Global Summit 2024

"Meet the VCs" กิจกรรมสุด Exclusive ในงาน Techsauce Global Summit 2024...