Dupe สัญชาติจีนมาแรง! เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปและกำลังผลักดันให้วัยรุ่นจีนแห่รัดเข็มขัด ลดการช็อปของแบรนด์เนม แต่หันมาดันเทรนด์สินค้า “ผิงตี้” หรือ Dupe สินค้าเลียนแบบแบรนด์หรูคุณภาพสูง สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของคนรุ่นใหม่ ที่หันมาให้ความสำคัญกับ "ความคุ้มค่า" มากกว่า "ชื่อเสียง" ของแบรนด์
ประเทศจีนกำลังเข้าสู่ยุคตกต่ำของเศรษฐกิจในประเทศ เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวอย่างต่อเนื่องซึ่งกระทบกับสภาพวะทางการเงินของประชาชนในประเทศอย่างมาก จากประเทศที่มีประชาชนใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก กลับกลายเป็นประเทศที่ประชาชนหาทางประหยัดค่าใช้จ่ายทุกทางตั้งแต่ของฟุ่มเฟือยไปถึงสินค้าในชีวิตประจำวัน
ชาวจีนจำนวนมากกำลังเผชิญกับอัตราจ้างงานต่ำ แม้แต่ผู้ที่ประกอบอาชีพที่ดูมั่นคงก็ต้องเผชิญกับการลดเงินเดือนและความไม่มั่นคงในตำแหน่งงาน รวมถึงราคาหุ้นที่ลดลง ล้วนส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนอยู่ในจุดต่ำสุด เป็นเหตุให้ GenZ จีนปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตที่ประหยัดและดันเทรนด์ผิงตี้ (平替) ทางเลือกสินค้าเลียนแบบสินค้าราคาแพงในราคาประหยัดและคุณภาพดีขึ้นมาเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
การชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดส่งผลให้การค้นหาสินค้าลอกเลียนแบบบนโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นสามเท่าตั้งแต่ปี 2022 ถึงปี 2024 Laurel Gu กรรมการของ Mintel บริษัทวิจัยตลาดในเซี่ยงไฮ้กล่าว
ตามคำกล่าวของนักวิเคราะห์ กระแสสินค้า “ผิงตี้” หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Dupe กำลังเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในหมู่ Gen Z จีนที่กำลังปรับตัวและใช้เงินที่มีอยู่จำกัดผ่านการแลกเปลี่ยนเคล็ดลับเกี่ยวกับการใช้เงินอย่างชาญฉลาดบนโซเชียลมีเดีย
สินค้าผิงตี้บางชิ้นแทบจะแยกจากของจริงไม่ออกทั้งหน้าตาและคุณภาพ ขณะที่บางชิ้นได้รับแรงบันดาลใจจากแบรนด์แท้แต่มีสีสันหรือเนื้อสัมผัสที่หลากหลายกว่า นอกจากนี้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่มาจากโรงงานเดียวกันกับสินค้าแบรนด์เนม หรือ OEM ซึ่งให้ราคาที่ถูกกว่ากันมากในคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน
จากโพสต์หนึ่งของ Xiaohongshu โซเชียลมีเดียที่คล้าย Instagram ของจีน ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้สินค้าเครื่องสำอางแบบผิงตี้ทั้งหมดสามารถช่วยประหยัดเงินได้เกือบ 1,000 หยวนจีน หรือราว 4614 บาท
เทรนด์ผิงตี้ส่งผลให้แพลตฟอร์มขายส่งอย่าง 1688 ของ Alibaba ได้รับประโยชน์อย่างมาก โดยการค้นหาคำว่า “ผิงตี้” เพิ่มขึ้นเกือบ 2,000% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีก่อนหน้า
จากกระแสบนโลกออนไลน์ จะเห็นได้ว่าผิงตี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการแฟชั่นอย่างเดียว แต่ขยายตัวครอบคลุมสินค้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของใช้ในบ้าน อาหารและเครื่องดื่ม การศึกษา ไปจนถึงการดูแลสุขภาพ
นอกจากนี้นักท่องเที่ยวชาวจีนยังเลือกจุดหมายปลายทางภายในประเทศที่คล้ายกับต่างประเทศ เช่นเมืองอีหลี ในมลฑลซินเจียง ซึ่งมีทุ่งลาเวนเดอร์เหมือนกับในแคว้นโพรวองซ์ ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงเมืองสิบสองปันนาที่มีสถาปัตยกรรมที่คล้ายกับในประเทศไทย และภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนี้ฟังดูเหมือนภาษาไทย ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในประเทศไทย"
สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมใหม่ของ Gen Z ที่ให้ความสำคัญกับ "ฟังก์ชัน" และ "ราคา" มากกว่า "ชื่อเสียง" ของแบรนด์หรือสินค้านั้นๆ ผิงตี้จึงค่อยๆ กลายเป็นกลยุทธ์หลักการขายในสินค้าแทบทุกประเภท MingYii Lai ที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์จากบริษัทวิจัยตลาด Daxue Consulting ซึ่งตั้งอยู่ในปักกิ่งกล่าว
ปรากฏการณ์ “ผิงตี้” ไม่ใช่แค่เทรนด์แฟชั่นชั่วคราว แต่เป็นสัญญาณเตือนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในพฤติกรรมผู้บริโภคจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ตั้งแต่ยอดขายของแบรนด์เนมที่ลดลง เช่นยอดขายของ LVMH ลดลงอย่างมากในจีน ไปจนถึงการเติบโตของตลาดสินค้า Dupe ซึ่งเป็นความท้าทายที่รัฐบาลจีนต้องเร่งหาทางรับมือ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
ธนาคารกลางของจีนได้ออกมาตรการใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและลดข้อกำหนดการสำรองของธนาคารเพื่อส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อ แม้จะมีความพยายามเหล่านี้ แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงต่ำ โดยหลายคนประสบกับการลดค่าจ้างหรือการสูญเสียงาน โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว อัตราการว่างงานของผู้คนในช่วงอายุ 18 ถึง 24 ปี พุ่งสูงถึง 18.8% ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
แม้จะยังไม่มีใครสามารถฟันธงได้ว่าเทรนด์สินค้าผิงตี้จะคงอยู่ต่อไปนานแค่ไหน แต่ปรากฏการณ์นี้ได้ทิ้ง โจทย์ใหญ่ไว้ให้กับแบรนด์ต่างๆ ในการปรับตัว สร้างมูลค่าเพิ่ม และสื่อสารกับ Gen Z กลุ่มผู้บริโภคที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจจีนต่อไปในอนาคต ผิงตี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพฤติกรรมผู้บริโภคจีน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
อ้างอิง: edition.cnn, businessinsider
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด