COP27 ผ่านไปแล้ว แต่ภาวะโลกรวน…ปล่อยผ่านโดยไม่ทำอะไรเลย ไม่ได้จริงๆ มาดู 10 ข้อมูลเชิงลึกผ่านวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศที่ Future Earth, Earth League และ World Climate Research Program เป็นผู้จัดทำรายงาน โดยมุ่งเน้นไปที่ ‘ผลกระทบทางสังคม’ จากการที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น
"การค้นพบล่าสุดยืนยันว่า ‘ต้นทุนทางสังคมกำลังเพิ่มขึ้น’ จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนอย่างรุนแรงแบบสุดขั้ว กับความจำเป็นเร่งด่วนในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกินขีดจำกัดในการปรับตัวและข้ามไปสู่จุดที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีก" ศาสตราจารย์ Johan Rockström ประธานร่วมของ Earth League กล่าว
เรื่องที่ 1 การตั้งคำถามเกี่ยวกับการปรับตัวจะไม่มีจุดสิ้นสุด
ศักยภาพในการปรับตัวของมนุษย์ต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้น ใช่ว่าไม่มีขีดจำกัด และขณะนี้ ทั้งผู้คนและระบบนิเวศต่างๆ บนโลกก็กำลังเผชิญกับข้อจำกัดในการปรับตัว เพราะหากโลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศา หรือไปถึง 2 องศา คาดว่าจะเกินขีดจำกัดที่มนุษย์จะสามารถปรับตัวได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ‘ความพยายามในการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด’ จึงไม่สามารถแทนที่การลดการปล่อยคาร์บอนที่ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงได้
เรื่องที่ 2 คลัสเตอร์ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง กระจุกตัวอยู่ใน ‘ภูมิภาคที่แบกรับความเสี่ยง'
จุดที่มีความเปราะบางต่อสภาวะโลกร้อน คือ พื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูงสุดเมื่อได้รับผลกระทบในทางลบจากการที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง เช่น ในอเมริกากลาง, ซาเฮล (ในแอฟริกาเหนือ), แอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออก, ตะวันออกกลาง และข้ามไปยังภูมิภาคเอเชียด้วย ที่สำคัญ คลัสเตอร์ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของประชากร 1.6 พันล้านคน และในรายงานคาดการณ์ว่า ผู้อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอาจเพิ่มจำนวนเป็น 2 เท่า ภายในปี 2050
เรื่องที่ 3 ภัยคุกคามใหม่จากปัญหาสภาพอากาศ คือตัวการร้ายทำลายสุขภาพ
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ รวมถึงระบบนิเวศทั้งหมด โดย ‘ความร้อนที่เพิ่มขึ้น’ สัมพันธ์กับ ‘ความเป็นความตาย’ ไม่ว่าจะเป็น ไฟป่า ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเราได้ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ก็เกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเช่นกัน
เรื่องที่ 4 จะมีการเคลื่อนย้ายเพื่อเลี่ยงการเผชิญปัญหาสภาพภูมิอากาศ
ความถี่และความหนักหน่วงที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะส่งผลกระทบอย่างช้าๆ ทำให้เกิด การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานโดยไม่สมัครใจ ผลกระทบนี้อาจทำให้หลายคนไม่สามารถปรับตัวได้ ดังนั้น การเตรียมการล่วงหน้าเพื่อช่วยเรื่องการย้ายถิ่นฐานจากปัญหาด้านสภาพอากาศ และบรรเทาปัญหาการถูกขับออกจากพื้นที่จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะโลกรวน
เรื่องที่ 5 เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของมนุษย์ ต้องมี ‘ความมั่นคงทางสภาพภูมิอากาศ’
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้ ความมั่นคงปลอดภัยของมนุษย์ (อันเกิดจากธรรมาภิบาล สภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม) เปราะบางลงกว่าเดิม และสามารถนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงได้ เช่น ประชากรโลกในบางพื้นที่อาจขาดแคลนอาหารและน้ำสะอาดเพราะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกได้ จึงอาจเกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากรในอนาคต
เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต จึงต้องอาศัยกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ ทันกาล และทันต่อการปรับตัว โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ทำวิจัยด้าน Climate Change ระบุว่า ต้องปรับปรุงการเข้าถึงอาหารและน้ำ และต้องลดความตึงเครียดในสังคมโลก ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อลดภัยคุกคามที่จะตามมาจากภาวะโลกร้อน
เรื่องที่ 6 ‘การใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน’ สำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศ
การเพิ่มผลผลิตผ่านการทำเกษตรยั่งยืนอย่างจริงจังโดย การจัดการที่ดินแบบบูรณาการ เป็นวิธีที่ควรนำมาใช้แทนการขยายพื้นที่เพาะปลูกไปยังพื้นที่ธรรมชาติ ร่วมกับการเตรียมโซลูชันส์ด้านสภาพอากาศ, ความมั่นคงทางอาหาร และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ อย่างไรก็ตาม ขณะที่โลกยังคงร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแนวทางการใช้ที่ดินสามารถสร้างประโยชน์ได้หลายข้อ เช่น ป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า ปกป้องผืนป่าดั้งเดิมให้คงอยู่ต่อไป
เรื่องที่ 7 แนวปฏิบัติทางการเงินที่ยั่งยืนของภาคเอกชน ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงลึกได้
แนวปฏิบัติทางการเงินของภาคเอกชน ส่วนมากผ่านการออกแบบให้สอดคล้องกับโมเดลธุรกิจ มากกว่าที่จะใช้เงินเพื่อสร้างความเปลี่ยนด้านสภาพอากาศอย่างแท้จริง ภาคเอกชนจึงต้องนำนโยบายด้านสภาพอากาศไปดำเนินการอย่างจริงจัง ส่งเสริมให้มีการใช้มาตรการอย่างเข้มข้น เช่น ราคาและภาษีคาร์บอน มาตรฐานราคาขั้นต่ำ มาตรการสนับสนุนโซลูชันเพื่อการลดคาร์บอน ซึ่งมาตรการเหล่านี้สำคัญมากต่อการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจในการจัดสรรเงินทุนไปสู่การแก้ปัญหาด้านสภาพอากาศ
เรื่องที่ 8 ความสูญเสียและความเสียหาย เรื่องเร่งด่วนที่โลกไม่อาจเลี่ยง
แม้ว่า ความสูญเสียและความเสียหาย (Losses and damages : l&d) จะคำนวณเป็นเม็ดเงินได้ แต่ก็ยังมีความสูญเสียและความเสียหายที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินอีกมาก แต่เนื่องจากความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นนับจากนี้อย่างมีนัยสำคัญ การประชุม COP27
จึงมีการถกเถียงในประเด็นสำคัญ ประเทศพัฒนาแล้วจะจ่ายค่าชดเชยให้ประเทศที่เหลืออย่างไร เพื่อช่วยให้ประเทศเหล่านั้นปรับตัวและอยู่รอดได้ในภาวะโลกรวน ซึ่งแนวทางช่วยเหลือก็คือ นอกจากประเทศพัฒนาแล้ว (หรือประเทศร่ำรวย) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ประเทศที่เหลือ ผู้นำหรือผู้มีบทบาทในการตัดสินใจ ทั้งในระดับนานาชาติ ระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น ยังต้องประสานความร่วมมือ สนองตอบนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศร่วมกัน
เรื่องที่ 9 พัฒนา ‘การตัดสินใจร่วมกัน’ เพื่อสู้กับปัญหาด้านสภาพอากาศ
การพัฒนาที่ยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะมีประสิทธิภาพและนำไปสู่ความยั่งยืนได้ต้องไม่ใช่การตัดสินใจแบบรวมศูนย์ของนักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายอย่างที่ผ่านมา แต่ต้องมาจาก การตัดสินใจร่วมกัน โดยการมีส่วนร่วมและให้อำนาจในการตัดสินใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้คนในระดับประเทศไปจนถึงระดับท้องถิ่น ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น และมีความยุติธรรมในสังคมเพิ่มมากขึ้น
เรื่องที่ 10 ขจัดอุปสรรคเชิงโครงสร้างและแนวทางที่ไม่ได้สร้างความยั่งยืน
แม้มีการให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีส แต่มีเพียง 18 ประเทศเท่านั้นที่แสดงให้เห็นถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการผลิตและการบริโภคอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี
จนกระทั่งโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งและรุนแรงกว่าเดิม การลดการปล่อยมลพิษกับการลดผลกระทบจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน แต่ปัญหาใหญ่อยู่ตรงที่ อุปสรรคเชิงโครงสร้างซึ่งมีอยู่หลายด้าน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจที่ทำให้มีการใช้ทรัพยากรในปริมาณมาก
ความก้าวหน้าทางสังคมที่วัดจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแนวทางนี้ก็ถูกล็อกไว้ เพราะเมื่อมีการใช้ทรัพยากรมาก พฤติกรรมผู้คนมุ่งเน้นไปที่การบริโภค รูปแบบธุรกิจจึงเน้นไปที่การผลิตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้ให้เศรษฐกิจขยายตัว ซึ่งเมื่อใช้ตัวเลข GDP ที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวชี้วัดการเติบโต จึงสะท้อนได้ว่า การปล่อยคาร์บอนยังคงดำเนินต่อไป กอปรกับนโยบายด้านสภาพอากาศที่คลุมเครือ ขาดการดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง ยิ่งทำให้การบรรลุเป้าหมายเรื่องลดการปล่อยคาร์บอนเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
กลยุทธ์ที่ใช้ลดผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศา อย่างไรก็ตาม หากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสามารถทำได้โดย ‘ขจัดอุปสรรคเชิงโครงสร้างซึ่งเกิดจากโมเดลเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรมากในปัจจุบัน’ กับ ‘ขจัดแนวทางที่ไม่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อย่างการได้รับผลประโยชน์ร่วมจากการรักษาสภาพการณ์ต่างๆ ให้คงรูปแบบเดิมไว้’ (เช่น เมื่อภาคอุตสาหกรรมผลิตพลังงานที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิลและส่งให้ชุมชนใช้ด้วย ชุมชนได้ประโยชน์จึงไม่ต่อต้านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล)
สุดท้ายแล้ว การดำเนินมาตรการและนโยบายด้านสภาพอากาศของประเทศต่างๆ ยังตามหลังเป้าหมายอยู่มาก และหากทุกอย่างยังคงดำเนินต่อไปอย่างในปัจจุบัน ความต้องการบรรลุเป้าหมายที่จะลดความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศก็ยิ่งห่างไกลออกไป และโลกอาจมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 2.7 องศา หรือมากกว่านั้น
อ้างอิง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด