สิ้นสุดความร่วมมือสิงคโปร์ -Yale สหรัฐ ประกาศปิดตัวสถาบันศิลปศาสตร์ วิทยาลัย Yale-NUS | Techsauce

สิ้นสุดความร่วมมือสิงคโปร์ -Yale สหรัฐ ประกาศปิดตัวสถาบันศิลปศาสตร์ วิทยาลัย Yale-NUS

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา นับว่าเป็นที่ฮือฮาครั้งใหญ่ในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) ออกมาประกาศปิดวิทยาลัย Yale-NUS ซึ่งเป็นสถาบันศิลปศาสตร์ (Liberal Arts Institution) ที่ก่อตั้งโดยความร่วมมือของ Yale University ของสหรัฐอเมริกา และ NUS ของสิงคโปร์เมื่อปี 2011 ส่งผลให้นักเรียนรุ่นปัจจุบัน และศิษย์เก่ารู้สึกไม่พึงพอใจเป็นอย่างมากกับการตัดสินใจที่กระทันหันแบบนี้

Yale-NUS

และวิทยาลัย Yale-NUS จะปิดตัวลงอย่างเป็นทางการในปี 2025 หลังจากที่นักเรียนรุ่นที่ 9 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายจำนวน 240 คน จบการศึกษาไป 

โดยข่าวที่ Yale-NUS ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมนั้น เป็นการประกาศควบรวมครั้งใหม่ของ Yale-NUS และ University Scholars Programme (USP) ของมหาวิทยาลัย NUS เอง เพื่อก่อตั้งเป็นวิทยาลัยแห่งใหม่ และจะเปิดตัวในเดือนกรกฎาคม ปี 2022 โดยวิทยาลัยแห่งใหม่นี้จะเปิดสอนในหลักสูตรศิลปศาสตร์เช่นเดิม ซึ่งเป็นการต่อยอดการเรียนรู้แบบสหวิทยาการให้กับนักเรียนรุ่นต่อไป

การควบรวมครั้งใหม่ เพื่อก่อตั้งเป็นวิทยาลัยแห่งใหม่ของ NUS มีเป้าหมายที่จะสร้างการเรียนรู้ และประสบการณ์ใหม่ให้กับ USP และ Yale-NUS อีกทั้งยังเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับวิทยาลัยแห่งใหม่ ด้วยการบูรณาการการเรียนการสอนจาก NUS

และสำหรับคณะกรรมการที่จะนั่งเก้าอี้บริหารของวิทยาลัยแห่งใหม่ก็จะเป็นกลุ่มผู้นำจาก NUS, USP และ Yale-NUS ในขณะเดียวกันก็จะมีทาง Yale และ NUS เข้ามาช่วยในแผนพัฒนาวิทยาลัยแห่งใหม่อีกด้วย 

ทาง NUS ยังได้ออกมาประกาศพร้อมกันอีกว่าจะมีการควบรวมคณะวิศวกรรมศาสตร์เข้ากับโรงเรียนออกแบบและสิ่งแวดล้อม (School of Design and Environment) เพื่อก่อตั้งเป็น วิทยาลัยออกแบบและวิศวกรรม (College of Design and Engineering) รวมทั้งเมื่อสิ้นปี 2020 ก็มีการประกาศเปิด วิทยาลัยมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (College of Humanities and Sciences) จากการควบรวมคณะอักษรศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2010 ในตอนที่ Yale-NUS ยังอยู่ในช่วงเตรียมเพื่อเปิดตัว ก็มีกลุ่มสมาชิกของ Yale ที่กังวลเรื่องของ เสรีภาพทางวิชาการ (Academic Freedom) ในสิงคโปร์ จนมาถึงในปี 2019 ความกังวลนี้ก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อวิทยาลัย Yale-NUS ประกาศยกเลิกการเรียนการสอน Dissent And Resistance (ความขัดแย้งและการต่อต้านที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์) ที่สอนโดยนักกวีและนักเขียนบทละครชาวสิงคโปร์ จนเป็นเหตุให้นักเรียนและชาวสิงคโปร์คลางแคลงใจ และถกเถียงว่าเพราะเหตุใดถึงได้มีการยกเลิกรายวิชาดังกล่าวออกไป

และจากการที่ Yale-NUS ออกมาประกาศปิดวิทยาลัยและเตรียมเปิดวิทยาลัยแห่งใหม่ ส่งผลให้นักเรียน และศิษย์เก่าของวิทยาลัยไม่พอใจ เนื่องจากมีเพียงทางคณะผู้บริหารเท่านั้นที่ออกมาประกาศเรื่องการปิดตัว โดยไม่มีการไถ่ถามกับนักเรียนและศิษย์เก่าเลยแม้แต่น้อย ทำให้เกิดการเรียกร้องขึ้น มีคนกว่า 13,000 คนเข้าไปลงชื่อเรียกร้องผ่านระบบออนไลน์บน Reverse the Mergers พร้อมติดแฮชแท็กว่า #NoMoreTopDown

การเรียกร้องนี้เกิดขึ้นด้วยความต้องการให้มีการพิจารณาการควบรวมเพื่อก่อตั้งวิทยาลัยแห่งใหม่ รวมทั้งอีก 2 การควบรวม คือ College of Design and Engineering และ College of Humanities and Sciences 

จากการปิดตัวลงของ Yale-NUS ก็เกิดเป็นข้อสงสัยมากมายว่า สรุปแล้วเหตุผลที่แท้จริงของการปิดตัวคืออะไร ทางสำนักข่าว The Straits Times จึงได้มีการเข้าไปสัมภาษณ์เพื่อสอบถามกับผู้ที่มีส่วนในการตัดสินใจครั้งนี้ รวมทั้ง นักเรียน ศิษย์เก่า และคนอื่น ๆ ในคณะฯ ทั้งของ NUS และ Yale-NUS จนได้ข้อสรุปมา 3 ข้อ ดังนี้

  • NUS ต้องการที่จะนำเสนอหลักสูตรศิลปศาสตร์ที่เป็นแบบฉบับของตัวเองเพียงผู้เดียว

  • มีความกังวลเรื่องของค่าใช้จ่ายในหลักสูตรศิลปศาสตร์ของ Yale-NUS ที่สูงเกินไป

  • ความขัดแย้งอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในรั้ววิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวก็ได้แจ้งว่า การประกาศควบรวมคณะต่าง ๆ และก่อตั้งวิทยาลัยใหม่นั้นเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นล่าสุดของฝั่ง NUS โดย NUS ตั้งใจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษารูปแบบใหม่ในมหาวิทยาลัยของสิงคโปร์ด้วย 4 เสาหลักสำคัญ คือ หลักสูตรทั่วไป (Common Curriculum) เพิ่มความยืดหยุ่น (Greater Flexibility) สหวิทยาการ (Interdisciplinary Approach) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

ในขณะที่ฝั่ง Yale ของสหรัฐอเมริกายังไม่มีการมาแสดงความคิดเห็นใด ๆ นอกเสียจากแสดงความยินดีกับการก่อตั้งวิทยาลัยแห่งใหม่ของ NUS และรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมมือกับทางรัฐบาลสิงคโปร์ก่อตั้ง Yale-NUS และประสบความสำเร็จมาตลอด 10 ปี


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 THAI (For Thailand) Techsauce เผยกลยุทธ์เชื่อมรัฐ เอกชน ดันประเทศไทยเป็น Tech Gateway

Techsauce เผยกลยุทธ์ 4 THAI ผสานรัฐ-เอกชน เร่งไทยเป็น Tech Gateway ของภูมิภาค พร้อมยก Techsauce Global Summit เป็นศูนย์กลางงานเทคโนโลยีระดับโลกจากไทย...

Responsive image

Krungsri Finnovate เปิด 4 ดีลความภาคภูมิใจระดับเอเชีย

Krungsri Finnovate เปิด 4 ดีล แห่งความภาคภูมิใจที่ลงทุนผ่านกองทุน Finnoventure Private Equity Trust I จุดสตารท์วงการ Startup ให้คึกคัก...

Responsive image

สรุป Microsoft Build เยือน ‘ไทย-อินโด-มาเลย์’ ลงทุนประเทศไหน ‘มากที่สุด’

Satya Nadella CEO ของ Microsoft ก็เดินทางมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Microsoft Build: AI Day เรามาดูกันว่าในบรรดา 3 ประเทศที่ Microsoft เลือกลงทุนนี้ ใครจะได้อะไรไปบ้าง...