หากจะพูดถึงสิ่งที่เป็นแรงกดดันและความท้าทายมวลมนุษยชาติอยู่ในขณะนี้ คงจะหนีไม่พ้นไวรัสโคโรนา(โควิด-19) เรียกได้ว่าตอนนี้ระดับความรุนแรงนั้น สร้างความเสียหายแบบชนิดที่ประเมินเป็นมูลค่าไม่ได้ ถึงแม้จะมีระยะเวลาในการทำลายเพียงแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น
ซึ่งไวรัสสายพันธุ์ใหม่เชื้อสายจีนนี้ มีต้นกำเนิดมาจากเมืองอู่ฮั่น ที่มีประชากรอยู่ราว 11 ล้านคน และปัจจุบันไวรัสได้แพร่กระจายไปกว่า 60 ประเทศทั่วโลก แน่นอนว่าประเทศไทยติดหนึ่งในนั้นด้วย งานนี้ไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงแค่ทำลายร่างกายมนุษย์เท่านั้น แต่ยังทำลายเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งโรงงานหลายแห่งในจีนที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของหลายบริษัทจากต่างประเทศที่ได้ทุ่มเงินมหาศาลเข้าไปลงทุนทำกิจการต่างต้องปิดทำการชั่วคราว ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นหัวใจหลักของการท่องเที่ยวในหลายๆประเทศก็ต่างชะลอตัวลงหลังรัฐบาลจีนประกาศห้ามประชาชนในประเทศออกไปท่องเที่ยว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสที่รุนแรงไปมากกว่านี้
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นผลกระทบรูปแบบโดมิโน่เลยก็ว่าได้ ซึ่งประเทศไทยแน่นอนว่าตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงเป็นการท่องเที่ยว และพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเกือบ100% ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในบ้านเราทรุดหนักถึงขั้นวิกฤต ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสายการบิน หรือแม้กระทั่งสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่เคยมีนักท่องเที่ยวหนาแน่นต่างเงียบเหงาไร้ผู้คนเลยก็ว่าได้ ผู้ประกอบการบางรายถึงกับต้องยอมถอยเพราะทนพิษไม่ไหว แต่บางรายยังกัดฟันสู้ต่อด้วยความหวังแม้จะยากลำบากก็ตาม ซึ่งวันนี้เราจะมารวบรวมบริษัทต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 พร้อมวิธีการปรับตัวและรับมือจากสถานการณ์ดังกล่าว
ธุรกิจสายการบิน
- ผู้บริหารการบินไทยพร้อมใจลดเงินเดือนลง 15-25% และปรับลดค่าพาหนะลง 20-30% เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
- แอร์เอเชีย ประกาศลดเงินเดือนผู้บริหาร แต่ยืนยันไม่ปรับลดพนักงาน รวมทั้งขอความร่วมมือจากนักบิน วิศวกรซ่อมบำรุงอากาศยาน เเละพนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไปของแผนกต่างๆ สมัครใจใช้สิทธิ์ลางานอย่างน้อย 2- 5 วันต่อเดือน โดยไม่รับค่าตอบเเทน ซึ่งมีผลตั้งเเต่มีนาคม-กันยายน 2563
- นกสกู๊ต-นกแอร์ ประกาศเลิกจ้างนักบินแล้วรวมทั้งสิ้น 24 คน รวมทั้งยังทำการเลิกจ้างลูกเรืออีก 50 คน รับผลกระทบอุตสาหกรรมการบินที่ซบเซา จากปัญหาไวรัสโควิด-19
- สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ประกาศให้พนักงานและลูกเรือสมัครใจการลาหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน โดยมีนักบินสมัครเข้าร่วมโครงการ 20 คน
- สายการบินบางกอกแอร์เวย์สประกาศปรับลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงลง 50% พร้อมยกเลิกการขึ้นเงินเดือน รวมทั้งปรับลดสวัสดิการของผู้บริหารและพนักงาน มีผล 1 มีนาคม 2563
ธุรกิจโรงแรม
- โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ให้พนักงานสมัครใจใช้สิทธิ์การลาแบบไม่รับค่าจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1-31 มีนาคม 2563 เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของบริษัท
- บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยอมรับรายได้ปี2563 ไม่เติบโต หลังรับผลกระทบไวรัสโควิด-19 นักท่องเที่ยวจีนหดหาย พร้อมเตรียมปรับกลยุทธ์ดึงนักท่องเที่ยวในประเทศชดเชยแทน
- โรงแรม วินด์เซอร์ สวีทส์ กรุงเทพ ประกาศปิดกิจการชั่วคราวนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2563 เป็นต้นไป โดยสาเหตุหลัก มาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงและรวมถึงเศรษฐกิจในภาพรวมที่ถดถอย ทำให้ทางโรงแรมประสบปัญหาอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา
ธุรกิจศูนย์ค้า
- ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ออกมาชี้แจงหลังพ่อค้าแม่ค้าออกมาเรียกร้องให้ผู้บริหารออกมาตรการเยียวยา เช่น ลดค่าเช่า 50% หรือยกเลิกเก็บค่าเช่าไปก่อนหลังรายได้หดหายไปจำนวนมาก ด้านผู้บริหารแจงให้ทราบว่าทางศูนย์ฯอยู่ระหว่างหาแแนวทางการช่วยเหลือที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการร้านค้าภายในศูนย์ที่ได้รับผลกระทบ
- ศูนย์การค้า เดอะแพลตตินัม แฟชั่นมอลล์ ออกมาตราการช่วยเหลือร้านค้าผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 โดยมีมาตการดังนี้ สำหรับผู้เช่าที่จ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือน ระยะเวลา 1 ปี ได้มีการลดค่าเช่าค่าบริการประมาณ 10-35% ตามสัดส่วนพื้นที่และประเภทการเช่าเป็นระยะเวลา 3เดือน ตั้งแแต่ 1 มีนาคม - 31 พฤศภาคม 2563 พร้อมกันนี้บริษัทยังมีมาตรการเพื่อส่งเสริมการขายแบบเร่งด่วยภายใต้ แคมเปญ "ช็อปฉุกเฉิน เกินห้ามใจ" ตั้งแต่วันที่ 4-18 มีนาคม 2563
อย่างไรก็ตามเรายังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ซึ่งสิ่งที่เรารวบรวมให้แก่คุณผู้อ่านข้างต้นเป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น เชื่อว่ายังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้และเรียนรู้พร้อมที่จะปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดต่อไป