ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติในตอนนี้ ทำให้เราหลาย ๆ คนนั้นต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ออกไปที่ไหน และใช้เวลาส่วนมาก (ที่มากเกินไป) บน Social Network ซึ่งสิ่งที่กระตุ้นให้ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมานั้นคือ โพสต์เกี่ยวกับ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นบทความหรือการคาดการณ์สถานการณ์หลัง COVID-19 ต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากเป็นความคิดเห็นแบบเอนเอียงและเป็นแค่ความคิดเห็นธรรมดาที่เราหลาย ๆ คนนั้นอยากจะแบ่งปันว่าเรารู้สึกอย่างไรเท่านั้น
ผมขอเกริ่นก่อนว่า ผมนั้นคุ้นเคยกับโลกของเทคโนโลยีและดิจิทัล ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะแชร์กับทุกคนในวันนี้คือเรื่องของอันตรายและคำเตือนต่อการใช้ชีวิตของเราบนสื่อ Social Network อย่างที่กล่าวมา ชีวิตบน Social Network นั้น ‘ไม่ใช่’ โลกจริง ๆ ของเรา แต่เป็นสับเซตที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตของคุณและเพื่อนของคุณผ่าน Facebook และยังแสดงให้เห็นถึงโลกผ่านเลนส์ของเพื่อน 500 คนบน Facebook ของคุณเท่านั้น
สิ่งที่คุณเห็นบนฟีดในทุก ๆ วันนั้นก็มาจากเพื่อน 500 คนเหล่านี้ของคุณ รวมถึงอัลกอริทึมของ Facebook ที่จะแสดงอะไรก็ตามแต่ให้คุณเห็น อาศัยจากการเชื่อมต่อเครือข่ายของคุณ ข้อมูลของคุณ พฤติกรรมของคุณ และความชอบของคุณ
ซึ่ง ‘โลก’ ใบนี้ที่คุณเห็นนั้นถูกสร้างขึ้นมาตามข้อมูลของคุณ ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงโลกของคนไทย 68 ล้านคน เพื่อนจำนวนกี่คนของคุณนั้นกลับบ้านเกิดเมื่อรัฐบาลประกาศล็อคดาวน์เพราะเขาไม่มีตัวเลือกอื่น? เพื่อนจำนวนกี่คนบน Facebook ของคุณนั้นสามารถที่จะเข้าร่วมโครงการเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทจากรัฐบาลได้? และเพื่อนจำนวนกี่คนบน Facebook ของคุณนั้นกำลังจะตกงาน?
พวกเราส่วนใหญ่และพวกคุณส่วนใหญ่นั้นอยู่ในกลุ่มคนที่ถือว่าโชคดี ที่สามารถจะอยู่รอดในช่วง COVID-19 นี้ หลาย ๆ คนก็ยังมีสถานการณ์ทางการเงินที่ยังไปได้ดี มีบ้านที่สามารถจะกักตัวในช่วงล็อคดาวน์ มีของเล่นต่าง ๆ ที่จะเล่นเพื่อฆ่าเวลา และยังมีมื้ออาหารที่สามารถร่วมรับประทานกับครอบครัวได้อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด การเล่นหรือใช้สื่อออนไลน์ไม่ใช่สิ่งที่ผิด ตราบใดที่คุณจำไว้ว่าสิ่งที่คุณเห็นนั้น ไม่ได้แสดงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างบนโลก เราถูกป้อนสื่อต่าง ๆ จากเพียงด้านเดียว ไม่ว่าจะเป็นโพสต์, ความคิดเห็น, บทความ หรือคอมเมนต์ต่าง ๆ เพราะว่าคุณนั้นก็แสดงออกบนสื่อพวกนี้เพียงด้านเดียวเช่นกัน แน่นอนว่าตอนนี้ยอดสมัครสมาชิก Netflix นั้นเพิ่มขึ้นมากจากฟีดของใครหลาย ๆ คน แต่เชื่อผมว่าในตอนนี้ คนไทยมากกว่า 10 ล้านคนไม่มีกำลังเงินพอที่จะสามารถสมัคร Netflix และดูซีรีส์เรื่องดังอย่าง “Itaewon Class” และซีรีส์เกาหลีเรื่องอื่น ๆ ได้
ทำไมผมถึงตัดสินใจเขียนบทความแรกนี้ขึ้นมา? ผมอยากจะให้สถานการณ์ COVID-19 นี้ผ่านไปเร็ว ๆ เหมือนกับทุก ๆ คน และผมก็อยากที่จะเห็นความคิดเชิงบวกต่าง ๆ เช่น การที่สถานการณ์นี้จะผ่านพ้นไปในวันหนึ่ง, การที่เราจะผ่านมันไปด้วยกัน, ความสามารถในการปรับตัว, การที่คนหลาย ๆ คนจะรอดไปได้, การนำดิจิทัลเข้ามาใช้ และการเกิด New Normal… และอีกครั้ง พวกเรานั้นถือว่าอยู่ในกลุ่มคนที่โชคดีที่สุด ผมนั้นเชื่อว่าความเป็นจริงของเราหลาย ๆ คนนั้นจะต่างกัน หลาย ๆ ธุรกิจจะปิดตัวลง เช่น ร้านอาหาร, ร้านค้า, ธุรกิจขนาดเล็ก หรือแม้กระทั่งธุรกิจใหญ่ ๆ เช่นกันที่จะไม่สามารถอยู่รอดได้ถึง 2 เดือนนี้ คนไทยมากกว่า 7 ล้านคนจะตกงาน (คิดเป็น 18.5% ของแรงงานทั้งหมด) และเมื่อ COVID-19 จบลง แน่นอนว่าชีวิตของพวกเรานั้นจะไม่กลับมาสู่ภาวะปกติเช่นเดิม และจะเกิดสิ่งที่หลาย ๆ คนนั้นเรียกว่า ‘New Normal’ มันจะไม่เป็นแบบที่เราทุกคนนั้นต้องทำงานจากที่บ้าน หรือแบบที่ทุกอย่างถูกปรับเปลี่ยนเป็นดิจิทัล มันจะเป็นโลกที่ยากลำบาก ที่ทุกคนนั้นต้องทำงานหาเงินให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และต้องใช้จ่ายให้น้อยลง ซึ่งในตอนนี้ GDP ของไทยนั้นคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ -6.7% ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับความจริงที่จะเกิดขึ้น หรือไม่เช่นนั้นก็จะต้องเจ็บปวดกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ในภายภาคหน้า
จงหวังถึงสิ่งที่ดีที่สุด และเตรียมตัวสำหรับสิ่งที่แย่ที่สุด
COVID-19 เป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก แต่สิ่งที่จะตามมานั้นจะเลวร้ายกว่าตอนนี้ 3,900 เท่า ในตอนนี้ การระบาดของ COVID-19 นั้นได้แพร่สู่ประชากร 2 ล้านคนทั่วโลก แต่วิกฤติเศรษฐกิจนั้นส่งผลกระทบต่อประชากรจำนวนมากถึง 7.8 พันล้านคนทั่วโลก… ดังนั้นโลกของเราจะไม่เหมือนเดิมอย่างแน่นอน แต่มันจะไม่เป็นเหมือนสิ่งที่คุณคิด
อย่าเข้าใจผิดว่าโลกโซเชียลนั้นคือโลกทั้งใบของคุณ และจงอย่าลืมที่จะเพิ่มมุมมองบางอย่างกับสิ่งที่เราอ่านบน Social Network อยู่เสมอ
บทความนี้แปลจากบทความที่เขียนขึ้นโดยคุณอริยะ พนมยงค์: https://techsauce.co/en/news/ariya-banomyong-covid-and-digital-micro-world#
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด