CP ร่วมมือ อว. ลงนาม MOU ยกระดับงานวิจัยสู่ภาคธุรกิจ ต่อยอด Talent Mobility | Techsauce

CP ร่วมมือ อว. ลงนาม MOU ยกระดับงานวิจัยสู่ภาคธุรกิจ ต่อยอด Talent Mobility

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ลงนาม MOU ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ในโครงการส่งเสริม ยกระดับการวิจัย และพัฒนาการศึกษาของประเทศ โดยเน้นหลักการ Talent Mobility จับคู่นักวิจัยตอบโทย์ 4 เรื่องเทรนด์กระแสหลักอนาคตของโลก คือ เนื้อสัตว์ทางเลือก ยานยนต์ไฟฟ้า ศาสตร์อายุวัฒนะ และการเกษตรแห่งอนาคต พร้อมทั้งสนับสนุนหลักสูตรสหกิจศึกษาของนักศึกษาปีที่ 1 ถึง 4 เพื่อเสริมภาคการปฎิบัติจริงในโลกการทำงานกับ 3 กลุ่มธุรกิจหลักของเครือ CP

พิธีการลงนาม MOU จัดขึ้น ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ที่ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นประธานในพิธี และลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด

การลงนาม MOU ในครั้งนี้ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ให้เข้มแข็งมากขึ้น เชื่อมโลก เชื่อมคน เชื่อมอนาคต เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและสร้างองค์ความรู้ที่เกิดคุณค่าต่อประชาชนในวงกว้าง ที่สะท้อนตามหลักค่านิยม 3 ประโยชน์ของ CP ต่อสังคมและประเทศชาติ  ตามที่คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือ CP ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลง วันนี้เมืองไทยพร้อมแล้วที่จะพัฒนาและก้าวทันกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งความร่วมมือกันระหว่างเครือซีพีและอว. เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับและสร้างงานวิจัยในเชิงพาณิชย์  ที่ตอบโจทย์อนาคตประเทศไทย

“นักวิจัยของไทยมีศักยภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งในกระทรวงอว. หรือในประเทศไทยด้วยกัน มีนักวิจัยเก่งๆ มากมาย ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้ ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งในเชิงพาณิชย์ให้บุคลากรนักวิจัย ซึ่งจำเป็นต้องเข้าใจภาคธุรกิจ เพื่อส่งต่อประโยชน์ที่สามารถใช้ได้จริง” 

ขณะที่ทาง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เน้นย้ำว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง อว. และเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจระดับนำของเอเชียและของโลกในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญที่จะสานพลังกันระหว่างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของ อว. กับภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และยกระดับการวิจัยไปสู่มาตรฐานระดับสากล 

“เรากำลังเข้าสู่ยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากหน้ามือเป็นหลังมือ อว. จึงต้องเร่งทำงานวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์อันท้าทายนี้ และเราพร้อมเปิดให้ทุกกลุ่มธุรกิจ ทุกบริษัทเข้ามาสร้างความร่วมมือ ใช้ทรัพยากรที่ อว.มี เพื่อสร้างงานวิจัยที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชนและสังคมอย่างแท้จริง หมดเวลาแล้วสำหรับงานวิจัยที่อยู่บนหอคอยงาช้าง อว.จะไม่เป็นฝ่ายรับ แต่จะเป็นฝ่ายรุก เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” รมว.อว.กล่าว

สำหรับขอบเขตความร่วมมือในครั้งนี้นั้นมี  2 ประการด้วยกัน ประการแรก คือด้าน Talent Mobility เป็นการส่งเสริมให้ภาคการวิจัย ได้ปฏิบัติงานในภาคธุรกิจเอกชน พร้อมทั้งพัฒนานักวิจัยให้เข้าใจภาคเศรษฐกิจ ต่อยอดงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ที่เป็นภาคส่วนสำคัญในการพัฒนาของประเทศ เป็นความร่วมมือที่ทางอว.และ CP ทำร่วมกัน เพื่องานวิจัยที่จะเป็นอนาคตของโลกต่อไป ใน 4 เรื่องสำคัญ คือ 

เนื้อสัตว์ทางเลือก (Meat alternatives) การสร้างเนื้อทดแทนเนื้อสัตว์จริง ซึ่งสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร และลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมจากการเลี้ยงสัตว์

แบตเตอรี ชิป และยานยนต์ไฟฟ้า (Battery, Chip and EV) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV ในอาเซียน และเตรียมความพร้อมให้ไทยเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบได้อย่างยั่งยืน

อาหารเป็นยาอายุวัฒนะ (Longevity) ค้นคว้าและพัฒนาอาหารที่มีคุณค่าเป็นยา ตอบโจทย์ร่างกายมีความต้องการแตกต่างกัน (Personalized Functional Food) เพื่อช่วยชะลอวัยและยับยั้งโรค 

การเกษตรแห่งอนาคต (Future Farming) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางการเกษตรให้เท่าทันโลกอนาคต พร้อมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน  

ส่วนประการที่สองนั้นเป็นการสนับสนุนหลักสูตรสหกิจศึกษา (Cooperative education by action based learning) โดยนักศึกษาสามารถเริ่มฝึกงานได้ตั้งแต่ปี 1 โดยไม่จำเป็นต้องรอฝึกงานในปีท้ายๆ ของการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมภายใต้การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติงานจริงใน 3 กลุ่มธุรกิจหลักของเครือ CP อันได้แก่ ธุรกิจเกษตรและอาหาร (Food & Agriculture) ธุรกิจค้าปลีก (Retails) และธุรกิจโทรคมนาคม (Telco) เสริมสร้างให้มีทักษะที่ตอบโจทย์กับตลาดแรงงาน ปีละไม่น้อยกว่า 200 คน
 


พบกับงาน Tech Conference ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
'Techsauce Global Summit 2022' ขนทัพความรู้จาก Speaker ระดับโลก 
พร้อมหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ
อ่านรายละเอียดได้ที่ https://techsauce.co/news/techsauce-global-summit-2022
ซื้อบัตรได้ที่ : https://summit.techsauce.co/

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

งานวิจัย Accenture ชี้พนักงาน 60% กลัวตกงานเพราะ Gen AI องค์กรควรปรับระบบให้ใช้ AI ได้เต็มประสิทธิภาพ

แม้พนักงานจะเห็นคุณค่าในการทํางานร่วมกับ Generative AI แต่เกือบ 60% กังวลว่าจะตกงาน ข้อมูลนี้มาจากรายงาน 'Work, work, workers: Reinvented in the age of generative AI' ของ Accentur...

Responsive image

KTB ตั้ง ‘กรุงไทย เวนเจอร์ส’ ลุยธุรกิจ Venture Capital

KTB แจ้งตลาดหลักทรัพย์เย็นวานนี้ว่า บริษัท กรุงไทยแอดไวซ์เซอรี่ จำกัด (KTA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ธนาคารถือหุ้น 99.99% และเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร ได้จดทะเบียนจัดต...

Responsive image

ttb เปิดตัว 7 ผู้บริหารรุ่นใหม่นำทัพ ทรานส์ฟอร์มองค์กรรอบด้าน เร่งยกระดับประสบการณ์ด้านการเงินแบบไร้รอยต่อ

ทีทีบี (ttb) ปรับโครงสร้างองค์กรรอบด้าน ส่งคนรุ่นใหม่ 7 ผู้บริหารระดับสูง นำทัพขับเคลื่อนกลยุทธ์ มุ่งเจาะกลุ่มคนมีรถ คนมีบ้าน มนุษย์เงินเดือน และลูกค้า Wealth...