ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกนั้นได้มาสั่นคลอนทุกธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างไม่มีข้อยกเว้น หลายบริษัทนั้นต้องเจอกับพิษเศรษฐกิจที่รุนแรงอย่างไม่เคยเจอมาก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดในครั้งนี้
คุณฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้พูดคุยในการสัมมนาพิเศษภายใต้งาน Angel Investor Forum ในหัวข้อ Current Picture of Thailand Startup Ecosystem ที่ได้พูดถึงสภาพโดยรวมของ Startup Ecosystem ในประเทศไทยในปัจจุบัน
‘Disrupt’ เป็นสิ่งที่อยู่กับโลกธุรกิจมาเนิ่นนานแล้ว โดย Disrupt นั้นเป็นสิ่งที่เมื่อเกิดแล้วจะส่งผลต่อตลาด ที่จะทำให้หลาย ๆ สิ่งที่อยู่ในตลาดที่ยังมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่นั้นหายไป รวมถึงในวงการ Startup เช่นกัน หลาย ๆ ธุรกิจนั้นได้เข้ามาเป็น Disruptor ในตลาด แต่เมื่อการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้เกิดขึ้น แน่นอนว่าธุรกิจนั้นจะไม่ใช่ Disruptor หนึ่งเดียวในตลาดอีกต่อไป และ COVID-19 ก็ได้ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งใน Disruptor ที่ส่งผลอย่างมหาศาลต่อตลาดในทุก ๆ อุตสาหกรรม
ซึ่งวิกฤตในครั้งนี้ถือว่าเป็นวิกฤตที่ได้เร่งให้สิ่งที่มีอยู่แล้วนั้นเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น Video Conference จาก Zoom, Cisco หรือ Skype ที่ได้มีมาก่อนที่การระบาดนั้นจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ COVID-19 ยังทำให้เราได้เห็นถึงความสำคัญของ Local Supply มากขึ้น อย่าง Sharp ที่ได้ปรับการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาเป็นการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และบริษัทผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมอย่าง Gucci และ Balenciaga ที่ได้ปรับมาผลิตหน้ากากอนามัยแทน รวมถึงบริษัทเครื่องสำอางค์หลายรายก็ได้ปรับมาผลิตแอลกอฮอล์ เพื่อที่จะให้ประชาชนภายในประเทศนั้นสามารถเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ได้มากขึ้น
ซึ่งประเทศเกาหลีใต้นั้นถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการจัดการเรื่องของ Local Supply ที่ดี จากการที่ทางรัฐบาลเกาหลีใต้นั้นได้ให้การสนับสนุนในเรื่องของการวิจัยหรือ R&D ในบริษัททางการแพทย์ค่อนข้างมาก ทำให้ในตอนนี้ทางเกาหลีใต้นั้นมีเครื่องมือในการที่จะทำ Rapid Test กับประชาชนได้อย่างทั่วถึงและได้ทันที ทำให้การตรวจหาเชื้อนั้นทำได้อย่างรวดเร็วและมาตรการการป้องกันนั้นสามารถออกมาได้อย่างทันเวลา
เมื่อการระบาดของ COVID-19 นั้นเกิดขึ้น แน่นอนว่าธุรกิจหลายรายต้องเริ่มที่จะปรับตัว ซึ่งทาง depa เองนั้นก็ได้มีการปรับแผนการบริษัทหลาย ๆ อย่าง เช่น ปรับการจัดงาน Big Bang ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากไปอยู่ตามสถานที่ที่ทาง depa นั้นได้ไปเป็นพาร์ทเนอร์ด้วย เพื่อกระจายจำนวนผู้เข้าร่วมงานด้วยงบประมาณที่ประหยัดลง
ซึ่งในส่วนของ Startup เอง แน่นอนว่าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นค่อนข้างจะได้รับผลกระทบอย่างมาก ทางองค์กรด้านการท่องเที่ยวภายใต้ United Nations ก็ได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นหายไปกว่า 120 ล้านตำแหน่งทั่วโลกหรือเป็นจำนวนเงินกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยที่เป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยวอย่างมาก
ในส่วนของบริษัทนานาชาติอย่าง Airbnb ก็ได้มีการประกาศปลดพนักงานกว่า 25% รวมถึงบริษัท Online Travel Agency (OTA) หลาย ๆ รายก็มีการชะลอการดำเนินการหลาย ๆ อย่าง เนื่องจากมีลูกค้าที่ต้องการจะทำการ Refund จำนวนมาก บริษัทจึงจะต้องมีมาตรการที่จะรักษาเงินให้มากที่สุด
หลาย ๆ อุตสาหกรรมนั้นได้รับผลกระทบเชิงลบ แต่ก็ยังมีบางอุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ เนื่องจากวิถีชีวิตของผู้คนนั้นต้องหันเข้าหาโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับออนไลน์แพลตฟอร์มนั้นเป็นที่นิยมมากขึ้น เช่น Coursera แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ หรือ Zoom แพลตฟอร์ม Teleconference
Birthplace: ถ้าหากเราคิดว่า Unicorn ของไทยจะต้องอยู่ที่เมืองไทยหรือมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย ความคิดเช่นนี้อาจจะไปจำกัดขอบเขตของการที่จะเกิด Unicorn ได้หรือไม่ได้ ซึ่ง Unicorn นั้นจะมีสัญลักษณ์อย่างหนึ่งคือดิจิทัล หรือการที่พวกเขาสามารถที่จะออกไปหาอาหารหรือผลประโยชน์ได้ทุกที่บนโลกโดยที่ตัวเองไม่ต้องไปไหน เช่น Netflix
Market: ตลาดประเทศไทยนั้นค่อนข้างใหญ่พอสมควร ซึ่งเหมาะกับการเติบโตของธุรกิจ
Environment: จะต้องดูว่ามีกฎระเบียบและกฎหมายที่รองรับเพียงพอหรือไม่ และสามารถที่จะคุ้มครองบริษัท SMEs และบริษัทอื่น ๆ ได้หรือไม่
ซึ่งประเทศไทยนั้นมีตลาดที่ค่อนข้างเหมาะสมแล้วแต่ยังขาดกฎหมายที่รองรับให้ Startup นั้นสามารถที่จะขยับขยายและกลายมาเป็น Unicorn ได้
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด