สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ The Digital Advertising Association of Thailand (DAAT) ร่วมกับ 38 เอเยนซี่พันธมิตร และ คันทาร์ (ประเทศไทย) จำกัด นำเสนอผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาบนสื่อดิจิทัลประจำปี 2563 รวมถึงคาดการณ์การใช้เงินโฆษณาใน 57 ประเภทอุตสาหกรรมและ 16 ประเภทสื่อดิจิทัลสำหรับปี 2564
คุณราชศักดิ์ อัศวศุภชัย คุณพัชรี เพิ่มวงศ์อัศวะ และคุณชาญชัย พงศนันทน์ กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) แถลงถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวมของเม็ดเงินลงทุนบนสื่อดิจิทัลมีการเติบโตขึ้นอย่างเชื่องช้าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลังยอดการลงทุนในสื่อดิจิทัลสามารถกลับมาเติบโตได้ โดยเพิ่มขึ้นถึง 8% ซึ่งมากกว่าตัวเลขประมาณการณ์การเติบโตของอุตสาหกรรมที่0.3% ที่สมาคมฯ ได้ทำการคาดการณ์ไว้เมื่อรอบเสนอผลสำรวจช่วงกลางปี 2563
โดย 5 อันดับอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนบนสูงสุด ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (2,713 ล้านบาท) กลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮล์ (1,993 ล้านบาท) กลุ่มการสื่อสาร (1,979 ล้านบาท) กลุ่มสกินแคร์ (1,922 ล้านบาท) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม (1,717 ล้านบาท) ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมใน 4 อันดับแรกยังคงครองตำแหน่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนในโฆษณาดิจิทัลมากที่สุดโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่กลุ่มธุรกิจธนาคารที่เคยอยู่ในลำดับที่ 5 ในปีก่อนหน้านี้ได้ถูกแทนที่โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเพิ่มเม็ดเงินโฆษณาดิจิทอล ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮล์ (+36%) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม (+41%) และในทางกลับกัน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (-36%) กลุ่มธุรกิจธนาคาร (-30%) กลุ่มธุรกิจประกัน (-22%) และกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม (-40%) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลดการใช้เงินบนสื่อดิจิทัล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของความต้องการและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค
เฟซบุ๊ค (Facebook) และยูทูป (YouTube) ยังคงเป็นแพลตฟอร์มหลักที่แบรนด์ต่าง ๆ เลือกใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค โดยเม็ดเงินบนสื่อดิจิทัลประเภท เฟซบุ๊ค (Facebook) ยูทูป (YouTube) และ ครีเอทีฟ (Creative) สามารถครองสัดส่วนร้อยละ 60 ของเงินลงทุนในโฆษณาดิจิทัลทั้งหมดในปี2563
นอกจากนี้ โซเชียล (Social) (+28%) และ เสิร์ช (Search) (+15%) ยังเป็นสื่อที่มีการเติบโตในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ไม่นับรวมอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) และ ติ๊กต๊อก (TikTok) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในการสำรวจในปีนี้
สำหรับปี 2564 แม้สถานการณ์โควิดจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในการดำเนินชีวิต การท่องเที่ยว รวมไปถึงการจับจ่ายใช้สอย แต่ DAAT ได้ทำการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลจะยังคงมีการเติบโตในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับปี 2563
ทั้งนี้กรรมการสมาคมฯ ทั้ง 3 ท่านกล่าวว่า “สื่อออนไลน์จะไม่ถูกจัดเป็นสื่อรองอีกต่อไป แต่จะกลายมาเป็นสื่อหลักในการเชื่อมโยงผู้คนผ่านการสร้างสรรค์และสามารถสร้างความผูกพันกับผู้บริโภคได้ แต่นักการตลาดจะต้องเข้าใจว่าในสภาพแวดล้อมที่เศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นทุกคนจะต้องรู้จักปรับตัวให้รวดเร็วหากต้องการให้แบรนด์และสินค้าสามารถยืนหยัดอยู่ได้”
คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ได้ให้ความเห็นว่า “วิกฤตเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบต่ออุตสาหกรรมโฆษณา แม้งบประมาณของอุตสาหกรรมโฆษณาโดยรวมจะลดลง แต่ในทางกลับกันโฆษณาดิจิทัลก็ยังสามารถเติบโตขึ้นได้จากการปรับตัวของนักการตลาดที่เท่าทันพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์มากขึ้นช่วงล็อกดาวน์ (Lockdown) ทำให้การวางแผนกลยุทธ์ไม่จำกัดเพียงเรื่องการสื่อสาร แต่รวมถึงการซื้อขายสินค้าด้วย”
“แม้ว่าจะเป็นการยากที่จะการคาดการณ์ว่าสุดท้ายอุตสาหกรรมโฆษณาจะฟื้นคืนมาในทิศทางใดย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากการลดลงของกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่โฆษณาดิจิทัลจะยังสามารถเติบโตขึ้นได้ เนื่องจากผู้บริโภคยังใช้สื่อออนไลน์ในชีวิตประจำวันเพื่อการสื่อสาร การสืบค้น การเรียนรู้ และการใช้จ่าย”
ดร.อาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คันทาร์ (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า “แม้แบรนด์ส่วนใหญ่ยังคงลงโฆษณาในแพลตฟอร์มหลัก ๆ เช่น เฟซบุ๊ค (Facebook) และยูทูป (YouTube) ซึ่งอยู่ในลำดับต้น ๆ มาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น การรายงานผลในปีนี้จะมีการเพิ่มโฆษณาในส่วนของ ติ๊กต๊อก (TikTok) และ อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) เข้ามาเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมดิจิทัลของผู้บริโภคที่ใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้มากขึ้น และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับนักการตลาด”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด