กรมควบคุมโรคประเมิน ประเทศไทย อยู่ในขั้นควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการทำมาตรการ Social Distancing อย่างจริงจัง พร้อมระบุสามารถตรวจหาผู้ติดเชื้อได้มากขึ้น หลังรัฐบาลผ่อนคลายเกณฑ์การตรวจ และหนุนงบประมานเพิ่ม
แพทย์หญิงวรรณา หาญเชาวกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขาระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับ Techsauce ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยที่ได้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มในจำนวนน้อยลง และอยู่ในจำนวนเลขสองหลักในหลายวันที่ผ่านมา สามารถประเมินได้ว่า สถานการณ์ตอนนี้ของประเทศไทย สามารถที่จะควบคุมได้ โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันที่เพิ่มขึ้นในช่วงระหว่าง 30-50 รายนั้น ถือว่าเป็นจำนวนที่ยู่ในวิสัยที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสามรถที่จะค้นหาผู้ที่เข้าเกณฑ์เสี่ยง เพื่อตรวจสอบการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อได้
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลนั้น มาจากการที่ประเทศไทยมีการลงมาตรการด้านสาธาณสุขค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการให้ประชาชนหยุดอยู่บ้าน การสนับสนุนให้มีการ work from home ตรงนี้ลดการพบปะของประชาชน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 ไปได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครที่มีความหนาแน่นของประชากรค่อนข้างมาก
“นอกจากการมาตรการ Social distancing หยุดเชื้ออยู่บ้านแล้ว การปิดสถานที่ที่เสี่ยงเป็นเป็นแพร่เชื้อ เช่น สถานบันเทิง บ่อน ร้านอาหาร ตรงนี้ก็ส่งผล โดยที่ต้องโฟกัสไปตรงนี้ เพราะที่ผ่านมาเราพบผู้ติดเชื้อเป็น case ที่จะเชื่อมโยงกับการไปกิน ดื่ม สังสรรค์ ในสถานที่ท่องเที่ยวแฮงเอาท์ค่อนข้างมาก พอเราปิดพวกนี้ไป การแพร่ในกลุ่มเขาก็จะลดลง ทำให้จากกลุ่มเขาไปกลุ่มอื่นๆ ก็ลดลง” แพทย์หญิงวรรณา กล่าว
แพทย์หญิงวรรณา กล่าวต่อว่า การตรวจหาเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทย ขณะนี้สามารถตรวจได้มากขึ้น เนื่องจากเกณฑ์การตรวจที่มีความผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้านี้ เราไม่มีงบประมานในการสนับสนุนการตรวจ แต่ในระยะหลังได้มีการปลดล็อคให้สามารถเบิกงบค่าใช้จ่ายกับทางสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติได้ จากที่เดิมทีต้องเบิกกับทางกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง ตรงนี้ก็สามารถคลี่คลายปัญหาด้านงบประมาณในเรื่องของการตรวจลงไปได้ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ยังมีการคิดค้นวิจัย รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยให้การตรวจหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ง่ายขึ้นด้วย
สำหรับการปลด Lockdown ตรงนี้เป็นสิ่งที่หลายคนอยากให้เกิดขึ้น โดยขณะนี้มีหลายจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 แต่ก็หากจะปลด Lockdown นั้นก็ต้องมีการเตรียมพร้อมในเรื่องของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เตรียมความพร้อมในเรื่องของสถานที่ที่จะกักตัวของผู้เข้าเกณฑ์เสี่ยงจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เพราะในต่างจังหวัดหลาย ๆ ชุมชนไม่สามารถที่จะให้ประชาชนบางส่วนกักตัวอยู่บ้านได้ เนื่องด้วยความไม่พร้อมของสถานที่ที่บ้าน ดังนั้นทางสาธารณสุขจึงต้องมีการแยกกักตัว รวมถึงเตรียมความพร้อมในการรับมือ หากมีการระเบิดใหญ่ด้วย ซึ่งก็มีความเป้นไปได้ในการพิจารณาให้เปิดในส่วนของธุรกิจที่มีความจำเป็นของคนในชุมชนไปก่อนได้
แพทย์หญิงวรรณา กล่าวทิ้งท้ายว่า หากจำเป็นต้องปลด Lockdown ทั้งประเทศ แน่นอนว่ามาตรการด้านสาธารณสุขต้องพร้อม และเข้มแข็งมาก โดยในเขตการบริการสาธารณสุขของประเทศไทย ที่แบ่งเป็นทั้งหมด 12 เขตนั้น จะต้องพร้อมในเรื่องของการรับผู้ป่วยหนักจำนวนหนึ่ง แล้วก็มีเรื่องของระบบส่งต่อให้เพียงพอ และในเรื่องเจ้าพนักงานควบคุมโรคสามารถที่จะติดตามสอบสวนผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อทั้งหลายให้ครบถ้วน นอกจากนี้การทำงานในส่วนของกระทรวงมหาดไทย และกลาโหม ก็จะต้องมีการสอดส่องอย่างเข้มข้น ในการบังคับปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรค ห้ามไม่ให้มีการรวมตัวกันเกิน 10 คน ก็ต้องมีมาตรการให้ดำเนินการให้ได้ เพื่อช่วยลดความแออัดระหว่างบุคคล รวมถึงการทำความสะอาดทุกสถานที่ก็จะต้องเข้มข้นในเรื่องของมาตรการรักษาความสะอาดให้ชัดเจน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด