สภาดิจิทัลฯ ผลักดัน ยกเว้น Capital Gains Tax สำเร็จ คาดเงินลงทุนสตาร์ทอัพไทยเพิ่ม 3.2 แสนล้านบาท ในปี 69 | Techsauce

สภาดิจิทัลฯ ผลักดัน ยกเว้น Capital Gains Tax สำเร็จ คาดเงินลงทุนสตาร์ทอัพไทยเพิ่ม 3.2 แสนล้านบาท ในปี 69

สภาดิจิทัลฯ ผลักดันยกเว้น Capital Gains Tax สำเร็จ คาดเงินลงทุนในสตาร์ทอัพไทยเพิ่มขึ้น 3.2 แสนล้านบาทภายในปี 2569 จ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนตำแหน่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม 790,000 ล้านบาท                   

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการยกเว้นภาษี Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัดไทย ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายผ่าน Venture Capital โดยต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 24 เดือน โดยสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย  กรมสรรพกากร กระทรวงการคลัง  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ร่วมกันสนับสนุนและผลักดันมาตรการทางภาษีดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในสตาร์ทอัพไทย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งพลังในการเสริมสร้างการลงทุนและกระตุ้นการจ้างงานในประเทศ สร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่ามาตรการภาษี Capital Gains Tax จะสร้างเม็ดเงินลงทุนในสตาร์ทอัพไทยเพิ่มขึ้นกว่า 3.2 แสนล้านบาท มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนตำแหน่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม 790,000 ล้านบาท

 คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธาน สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลฯ เห็นถึงความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรพันธมิตรผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ สตาร์ทอัพ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้สตาร์ทอัพไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ คาดการณ์ว่าจากมาตรการภาษีนี้จะทำให้ภายในปี 2569 มีเงินลงทุนในสตาร์ทอัพไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 แสนล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 แสนตำแหน่ง รวมถึงเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม 790,000 ล้านบาท

“มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุน Startup ในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น และง่ายขึ้น ถือเป็นผลงานสำคัญที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาครัฐและองค์กรพันธมิตร โดยเฉพาะกรมสรรพากร กระทรวงการคลังซึ่งให้ความสำคัญแก่การระดมทุนของสตาร์ทอัพ จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …..(มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายกำหนด” ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าว

ทั้งนี้ การส่งเสริมการระดมทุนในสตาร์ทอัพจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับคุณภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นต้น โดยมีหลักการใจความสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยกเว้น ภาษี Capital Gains Tax ดังนี้คือ 1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศสำหรับกำไรจากการขายหุ้นในสตาร์ทอัพ 2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ CVC ทั้งไทยและต่างประเทศ และ PE Trust ต่างประเทศ สำหรับกำไรจากการขายหุ้นในสตาร์ทอัพ 3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศสำหรับกำไรจากการขายหุ้นใน CVC ไทยและจากการที่ CVC ไทยเลิกกิจการ และกำไรจากการขายหน่วยทรัสต์ใน PE Trust ไทยและจากการที่ PE Trust ไทยเลิกกิจการ โดย CVC และ PE Trust ไทย ดังกล่าวเป็น CVC และ PE Trust ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ

สำหรับการลงทุนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามข้อ 1 – 3 ต้องเป็นการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ และมีรายได้จากอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดใน 2 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนการขายหุ้น 4. ผู้ลงทุนต้องถือหุ้นหรือหน่วยทรัสต์ไม่น้อยกว่า 24 เดือนก่อนการขายหุ้นหรือหน่วยทรัสต์ 5. CVC ไทยและ PE Trust ไทยต้องมีทุนไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาทและจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 6. ระยะเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีคือ ตั้งแต่วันถัดจากวันที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2575


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

IMD จัดอันดับ Digital Competitiveness ปีนี้ ไทยร่วงจาก 35 เป็น 37 ถ้าอยากขยับขึ้น...ต้องแก้ไขตรงไหนก่อน?

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567 โดย IMD World Competitiveness Center ไทยได้อันดับ 37 ขยับลงจากปีก่อน 2 อันดับ (35) แล้วจะทำอย่างไรให้ไทยได้อยู่ในอัน...

Responsive image

สู่ Siri ยุคใหม่ ! เผย Apple เตรียมเปิดตัว LLM Siri ในปี 2026 ท้าแข่ง ChatGPT โดยเฉพาะ

OpenAI ถือเป็นหนึ่งในบิ๊กเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่มีความก้าวกระโดดด้านการพัฒนา AI หลังจากสร้างกระแสด้วยแชทบอท ChatGPT ไปเมื่อปลายปี 2022 ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งมีดีลกับ Apple ในการนำ Cha...

Responsive image

American Airlines เปิดตัวระบบจัดการคิวอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงเตือนสองระดับ ปิดเกมสายแซงคิวขึ้นเครื่อง

เคยเจอไหม? คนแซงคิวขึ้นเครื่องจนวุ่นวายที่ประตูทางขึ้น หลังจากนี้จะไม่มีอีกต่อไป เมื่อ American Airlines แก้ปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยีเสียงเตือนอัจฉริยะ ที่จะจับทุกความพยายามแอบขึ้นเครื...