- Dell Technologies ร่วมมือกับ Intel เปิดเผยรายงานดัชนีชี้วัดการปฏิรูปสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ที่ชื่อว่า 'Dell Technologies Digital Transformation Index'
- มีธุรกิจในประเทศไทยแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ที่ปรับตัวเป็นผู้นำด้านดิจิทัล (Digital Leader) แบบเต็มตัว
- 7 ใน 10 ของธุรกิจไทยกังวลว่าจะต้องพยายามอย่างหนักเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงได้ภายใน 5 ปี
- ธุรกิจในไทยประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์หวั่นกลัวว่าองค์กรจะถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลังภายใน 5 ปีข้างหน้า
- บรรดาผู้นำธุรกิจไทยราว 53 เปอร์เซ็นต์มองว่าประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) และการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ (Cybersecurity) คือกำแพงกีดขวางการปฏิรูปสู่ดิจิทัล

วันนี้ คุณนพดล ปัญญาธิปัตย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ อีเอ็มซี (ประเทศไทย) หรือ Dell EMC (Thailand) เปิดเผยว่า Dell Technologies ร่วมมือกับ Intel เปิดเผยรายงานดัชนีชี้วัดการปฏิรูปสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ที่ชื่อว่า 'Dell Technologies Digital Transformation Index' (DT Index) รายงานดังกล่าวจับความก้าวหน้าในการปฏิรูปสู่ดิจิทัลขององค์กร พร้อมประเมินเกี่ยวกับความหวังและความกลัวของผู้นำธุรกิจที่มีมุมมองต่อเรื่องของดิจิทัล
โดยให้ Vanson Bourne บริษัทวิจัยอิสระจากประเทศอังกฤษ ทำการสำรวจผู้นำธุรกิจองค์กรขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ 100 รายในประเทศไทย แบ่งกลุ่มองค์กรตามความมุ่งมั่นพยายามในการปรับตัวสู่ดิจิทัล, กลยุทธ์ด้านไอที, ความคิดริเริ่มในการปฏิรูปคนทำงาน และความสามารถที่รับรู้ได้โดยเทียบจากคุณลักษณะสำคัญที่ธุรกิจดิจิทัลต้องมี
ซึ่งการคำนวณของ DT Index อิงตามศักยภาพขององค์กรธุรกิจที่สามารถมองเห็นได้ในประเด็นต่อไปนี้ โดยเทียบคุณลักษณะสำคัญของธุรกิจดิจิทัล, กลยุทธ์ด้านไอทีที่มีอยู่เดิม, กลยุทธ์ในการปฏิรูปคนทำงาน (Workforce Transformation) และแผนงานด้านการลงทุน
ทาง Dell ระบุว่าการเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้จะเป็นข้อมูลในส่วนของประเทศไทยก่อน ส่วนผลรายงานวิจัยของทั่วโลก ที่ใช้ฐานผู้นำธุรกิจองค์กรขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ 4,600 คน จาก 42 ประเทศ จะออกในช่วงต้นปี 2562 โดยถือเป็นครั้งแรกที่รายงานฉบับดังกล่าว จะมีการนำข้อมูลของผู้นำธุรกิจจากประเทศไทยเข้าไปประกอบการสำรวจครั้งนี้อีกด้วย
มีเพียงธุรกิจไทยเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ปรับตัวเต็มรูปแบบ
Dell สำรวจพบว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจทั่วโลกกังวลว่า ธุรกิจของเขาจะหายไปในอีก 5 ปีข้างหน้า พอขยายสโคปการสำรวจ ก็ยังเป็นตัวเลขนี้ เขามาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอย่าง Disruption เป็นสิ่งที่น่ากลัว เปรียบเหมือนสึนามิที่กำลังจะเข้ามา แต่ในอีกแง่ภาคธุรกิจก็มองในแง่ดี โดยระบุว่าทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI, Machine Learning, IoT ที่ช่วยให้ภาคธุรกิจแบบใหม่ได้ ลดข้อจำกัดหลายอย่างลงไป จากเดิมที่คิดว่าทำธุรกิจเฉพาะที่ถนัดเท่านั้น ก็ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจาก Core Business อีกด้วย
กราฟหุบเหวนวัตกรรมที่ Dell นำเสนอจะกลับด้าน ต่างจากกราฟที่เราเคยเห็นโดยจัดแบ่งและวิเคราะห์กลุ่มธุรกิจในไทยที่มีศักยภาพในการปรับตัวสู่ดิจิทัล ออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
- ผู้นำด้านดิจิทัล (Digital Leader) เป็นธุรกิจที่มีการปฏิรูปสู่ดิจิทัลเต็มตัว มีการนำเทคโนโลยีมาใช้แบบเต็มรูปแบบ และเรื่องดิจิทัลฝังอยู่ใน DNA ของธุรกิจ มีอยู่ 7 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับในสหรัฐอเมริกาที่พบว่ามีธุรกิจอยู่ในกลุ่มนี้ประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์
- ผู้ที่เริ่มก้าวสู่ดิจิทัล (Digital Adopter) เป็นธุรกิจที่มีแผนงานดิจิทัลแบบจริงจัง มีการลงทุนและมีนวัตกรรมในองค์กร มีอยู่ 40 เปอร์เซ็นต์
- ผู้กำลังประเมินการเข้าสู่ดิจิทัล (Digital Evaluator) เป็นธุรกิจที่ปฏิรูปสู่ดิจิทัลอย่างระมัดระวัง มีการวางแผนและลงทุนสำหรับอนาคต มีอยู่ 25 เปอร์เซ็นต์
- ผู้ตามในเรื่องดิจิทัล (Digital Follower) เป็นธุรกิจที่มีการลงทุนด้านดิจิทัลน้อยมาก เพิ่งเริ่มต้นวางแผนคร่าวๆ สำหรับอนาคต มีอยู่ 23 เปอร์เซ็นต์
- ผู้ตามหลังด้านดิจิทัล (Digital Laggard) เป็นธุรกิจที่แผนงานด้านดิจิทัล มีการลงทุนและความคิดริเริ่มที่จำกัดในองค์กร มีอยู่ 5 เปอร์เซ็นต์
รวมถึงยังมีตัวเลขที่น่าสนใจที่แสดงถึงความรู้สึกความผู้นำองค์กร 100 คน ดังนี้
- 96 เปอร์เซ็นต์ ระบุ เจออุปสรรคกีดขวางการ Digital Transformation
- 90 เปอร์เซ็นต์ ระบุ การ Transformation ต้องขยายวงกว้าง
- 71 เปอร์เซ็นต์ ระบุ กังวลว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า องค์กรต้องดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ลูกค้าจะเปลี่ยนจากไม่ชอบมาเป็นชอบบางสิ่งได้ ลูกค้ามองหาอะไรที่พิเศษมากขึ้น
- 33 เปอร์เซ็นต์ ระบุ กลัวองค์กรถูกทิ้งไว้ข้างหลังตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
- 61 เปอร์เซ็นต์ ระบุ มีความมั่นใจว่า ก่อนจะถูกกระทบ เขาต้อง transformation ตัวเองก่อน ตระหนักอยู่ดีว่าต้องพัฒนาต่อ จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้
5 ประเด็นใหญ่กีดขวาง Digital Transformation
96 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำธุรกิจไทย ยอมรับว่าเจออุปสรรคในระหว่างการปฏิรูปองค์กร โดยหากมองประเด็นที่กีดขวางการปฏิรูปธุรกิจสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) พบว่ามี 5 ประเด็นสำคัญๆ ดังนี้
- 53 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) และการรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ (Cybersecurity) เป็นกำแพงกีดขวางการทำ Digital Transformation มองว่าแนวคิดเรื่อง Security ต้องเปลี่ยน โดยเริ่มตระหนักว่าเราป้องกันภัยคุกคามไม่ได้เต็มรูปแบบ แต่เราจะรับมือกับการคุกคามหรือโจมตีได้อย่างไร
- 49 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าวัฒนธรรมด้านดิจิทัลที่ไม่แข็งแรงพอ ขาดความสอดคล้อง และรวมถึงขาดการประสานความร่วมมือในบริษัท
- 48 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าองค์กรขาดวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ด้านดิจิทัลที่สอดคล้องกัน ต้องมีมุมมองการปฏิรูปองค์กรที่มาจากผู้บริหารระดับสูง
- 45 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ไม่ทันสมัย ขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ
- 53 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าคือ ขาดทักษะและความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมต่อองค์กร
จะเอาชนะความท้าทายได้อย่างไร?
แน่นอนว่าภาคธุรกิจคงจะไม่ยอมแพ้ต่อพายุการเปลี่ยนแปลงที่โหมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง พอเจาะดูว่าภาคธุรกิจไทยมองว่า พวกเขาจะรับมือและเอาชนะต่อความท้าทายในภาคธุรกิจได้อย่างไร ดังนี้
- 69 เปอร์เซ็นต์ จะใช้เทคโนโลยีเร่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product) และบริการ (Services)
- 45 เปอร์เซ็นต์ เริ่มใช้กระบวนการ Agile มากขึ้น และมีการทดสอบบ่อยขึ้น ในอดีตมองคุณภาพ ปัจจุบันมองเรื่องของความเร็ว ทำอย่างไรให้เข้าถึงตลาดได้ไวขึ้น
- 68 เปอร์เซ็นต์ มีการสร้างระบบรักษาความปลอดภัย (Security) และความเป็นส่วนตัว (Privacy) ให้กับอุปกรณ์ในองค์กร
- 65 เปอร์เซ็นต์ พัฒนาให้พัฒนาพนักงานมีความรู้ด้านดิจิทัล เช่น สอนให้รู้จักวิธีการเขียนโปรแกรม (Coding) เพราะจะทำให้คุยกับนักพัฒนาโปรแกรมเพื่อพัฒนาได้ตรงใจมากขึ้น
- 52 เปอร์เซ็นต์ ต้องแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกันภายในองค์กรมากขึ้น
แนวโน้มเทคโนโลยีที่บริษัทหรือผู้บริหารเลือกลงทุน

แน่นอนว่าเมื่อภาคธุรกิจไทย มองว่ามันเป็นกำแพง (Barrier) ก็ต้องปรับปรุงมันให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการลงทุนภายใน 1 ถึง 3 ปีข้างหน้า มากที่สุด 8 อันดับแรก ประกอบด้วย
- การลงทุนด้านรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ (Cybersecurity) 73 เปอร์เซ็นต์ ตรงกับผลสำรวจในสหรัฐอเมริกาที่ผู้นำธุรกิจนอกว่าการลงทุนเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
- การลงทุนด้าน Multi-Cloud 63 เปอร์เซ็นต์
- การลงทุนด้านการออกแบบ Data Center ที่เน้นประมวลผลเป็นหลัก 61 เปอร์เซ็นต์
- การลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) 56 เปอร์เซ็นต์
- การลงทุนด้าน Internet of Things (IoT) 55 เปอร์เซ็นต์
- การลงทุนด้าน Blockchain 55 เปอร์เซ็นต์
- การลงทุนสร้างระบบสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Cognitive System) 44 เปอร์เซ็นต์
- การลงทุนด้าน VR และ AR 40 เปอร์เซ็นต์
มุมมองของ Dell ประเทศไทยต่อผลสำรวจที่เกิดขึ้น

คุณนพดล มองว่าดัชนีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ประกอบกับตัวเทคโนโลยีเก่งขึ้น เร็วขึ้น ธุรกิจและเราต้องปรับเปลี่ยน การประสานงานระหว่างเรากับเทคโนโลยี กับมนุษย์ และกับ Partner ทุกอย่างเชื่อมต่อกันหมด ตอนนี้ขึ้นอยู่ว่าเราจะก้าวต่อไปอย่างไร เพื่อให้เราเป็น Game Changer หรือเป็นผู้เปลี่ยนธุรกิจให้สามารถชิงความได้เปรียบได้อย่างไร
รวมถึงยังมองว่า ปัจจุบันเรามีจำนวนธุรกิจเป็นจำนวนมาก จากแต่ก่อนองค์กรทำอะไรได้แค่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาก็สามารถทำอย่างอื่นได้มากขึ้น จนสามารถทำธุรกิจถึงขั้นไปแข่งกับ Partner เดิมที่มีอยู่ได้แล้ว โดยเราอยู่ในยุคที่ต้องรับรู้ว่าธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทั้ง User และ Partner ก็พึ่งพากันได้ และแข่งขันกันได้ เราต้องรับรู้ว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจในประเทศไทยเราก็ควรพัฒนาและปรับตัวเองผ่านการทำ Digital Transformation โดยเฉพาะในด้านไอที แต่ต้องไม่ลืมเรื่องของความปลอดภัย (Security) ด้วยเช่นกัน
โดยเวลามองเรื่องของ Security ต้องมองให้ครบรอบด้าน ซึ่งเราควรเปลี่ยนภาพว่าไม่ใช่อยู่ในแค่ภายในบ้านหรือในที่ปิด แต่เราต้องออกไปใช้อุปกรณ์นอกสถานที่ รวมถึงเราต้องมองเรื่อง Security บน Cloud ด้วยเช่นกัน
คุณนพดล: เพราะฉะนั้นเรามองว่าสิ่งที่องค์กรในไทยทำได้ คือ ต้องมองเรื่องของการทำ Digital Transformation ซึ่งเป็นการปฏิรูปหรือลงทุนทางด้านดิจิทัลและไอที รวมถึงเรื่องของ Workforce หรือการปฏิรูปหรือเปลี่ยนให้คนในองค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำงานที่ไหนก็ได้ รวมถึงขณะเดียวกันต้องไม่ลืมเรื่องของ Security