ไซปรัสพบโควิดลูกผสม
จากการที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้มีการรายงานว่า Leondios Kostrikis professor of biological sciences at the University of Cyprus and head of the Laboratory of Biotechnology and Molecular Virology เป็นผู้ค้นพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสม โดยเป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์เดลตาและไวรัสโอมิครอน จึงได้เรียกว่า 'เดลตาครอน (Deltacron)' เนื่องจากมียีนเด่นแบบโอมิครอนภายในจีโนมเดลตา
ซึ่ง Kostrikis และทีมงานพบการติดเชื้อดังกล่าว 25 คน การวิเคราะห์ทางสถิติชี้ว่า การติดเชื้อผสมพบมากขึ้นในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้าโรงพยาบาล
โดยทางทีมวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างลำดับพันธุกรรมผู้ติดเชื้อเดลตาครอน 25 คนในไซปรัส พบว่าแตกต่างไปจากสายพันธุ์อื่นๆด้วยเพราะการกลายพันธุ์ที่มากถึง 30 จุด โดยการกลายพันธุ์ 10 จุดพบในตัวอย่างที่เก็บได้ในไซปรัส จากนั้นจึงได้ทำการส่งไปให้ฐานข้อมูลระหว่างประเทศ 'GISAID' ซึ่งเป็นศูนย์รวมฐานข้อมูลที่ใช้ในการติดตามไวรัสแล้ว เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของไวรัสโควิดต่อไป
“จะเห็นได้ว่าสายพันธุ์นี้ติดต่อหรือแพร่ระบาดมากขึ้นกว่าเดลต้า หรือ โอไมครอนหรือไม่นั้นงเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ ซึ่งในมุมมองส่วนตัวมองว่า สายพันธุ์เดลตาครอนนี้จะถูกแทนที่ด้วยตัวแปรโอไมครอนที่ติดต่อได้ง่ายกว่า แต่ยังไม่มีข้อมูลการก่อโรคที่รุนแรง”
ส่อ ‘เดลตาครอน (Deltacron)’ อาจแค่ปนเปื้อน
ส่วนทางด้าน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Center for Medical Genomics เกี่ยวกับประเด็นเชื้อโควิด-19 "เดลตาครอน" ว่า จากการที่มีผู้สอบถามเข้ามาที่ศูนย์จีโนม รพ. รามาธิบดี จำนวนมากถึงการเกิดขึ้นของสายพันธุ์โควิดลูกผสมอย่าง “เดลตาครอน” ขึ้นที่ไซปรัสนั้นใช่หรือไม่ คำตอบคือน่าจะไม่ใช่
เนื่องด้วย Dr. Tom Peacock ผู้เชี่ยวชาญการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสระดับโลก ชาวอังกฤษ ได้มีการทวิตแจ้งว่าจากการพิจารณารหัสพันธุกรรมมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดจากการปนเปื้อนระหว่างสารพันธุกรรมของ "โอมิครอน" และ "เดลตา" ในห้องปฏิบัติการ เวลาถอดรหัสพันธุกรรมจึงมีรหัสปนกันออกมาเสมือนเกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสม
ส่วนทางด้าน ศ.นิค โลแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านจีโนมของจุลินทรีย์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมของอังกฤษ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา กล่าวว่า แม้ว่าการเกิดลูกผสมระหว่างเดลต้าและโอไมครอนจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลก แต่การค้นพบจากไซปรัสน่าจะเป็น “Technical Artifact” ที่เกิดขึ้นในกระบวนการถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมของไวรัสมากกว่า
ล่าสุด ศูนย์จีโนมฯ ได้นำรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจำนวน 25 ตัวอย่างที่ทางไซปรัสได้อัปโหลดขึ้นมาแชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” โลก มาวิเคราะห์ ก็เห็นพ้องตามที่ Dr.Tom Peacock กล่าวไว้คือ เมื่อนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ Phylogenetic tree พบว่าตัวอย่างทั้ง 25 รายไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกันซึ่งเป็นเรื่องแปลก เพราะหากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมที่เพิ่งเกิดใหม่ มีที่มาจากแหล่งเดียวกันยังไม่ระบาดเป็นวงกว้าง ควรจะอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน ไม่แตกกิ่งก้านสาขาไปมากมาย และจากรหัสพันธุกรรมทั้ง 25 ตัวอย่างบ่งชี้ว่าเป็นรหัสพันธุกรรมส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ “เดลตา” ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของ “โอมิครอน” เข้ามาระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรม
คำถามที่ตามมาคือหากมีสายพันธุ์ลูกผสมเกิดขึ้นมาจริงๆ ทางศูนย์จีโนมฯจะตรวจพบหรือไม่ คำตอบคือน่าจะตรวจพบ เพราะขณะนี้เราถอดรหัสพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีสายยาว (long-read sequencing) ประมาณ 1,000-2,000 ตำแหน่งต่อสาย ดังนั้นหากพบรหัสพันธุกรรมของ "เดลตา" และ "โอมิครอน" ผสมปนกันอยู่ในสายเดียวกัน ก็แสดงว่าน่าจะเป็นสายพันธุ์ลูกผสม
อย่างก็ตามเพื่อความชัดเจนอาจต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลสักระยะ หากหลายสถาบันในไซปรัสยังสามารถถอดรหัสพันธุกรรมพบสายพันธุ์ลูกผสมดังกล่าวจากบรรดาตัวอย่างที่ส่งเข้ามาภายใน 1-2 อาทิตย์จากนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าได้เกิดสายพันธุ์ลูกผสม "เดลตาครอน" ในไซปรัสอย่างแน่นอน
ท้ายที่สุดทางองค์การอนามัยโลกคงจะจัดทีมเข้ามายืนยันผลที่ไซปรัส เหมือนกับที่เคยดำเนินการที่เวียดนามเช่นกัน
ไทยยังไม่พบข้อมูลลูกผสมสายพันธุ์ใหม่
สำหรับ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังไม่มีข้อมูลหรือมีรายงานอย่างเป็นทางการ จึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบก่อนว่าเป็นข่าวหรือรายงานอย่างเป็นทางการหรือไม่ ดังนั้นจึงมองว่าไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกจนเกินไป
จึงสามารถสรุปได้ว่ายังคงต้องมีการติดตามกันต่อไปว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์ไฮบริดลูกผสม 'เดลตาครอน' นี้ มีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่ ? และจะรุนแรงแค่ไหน ? รวมทั้งการแพร่กระจายจะเป็นไปในทิศทางใด ? คงต้องมีการติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะลักษณะการผสมของสายพันธุ์โควิดนั้นมีการเกิดขึ้นหลายครั้งทั้งที่ผ่านมาอย่างกรณีของประเทศเวียดนาม แต่ปรากฎว่ายังไม่มีการพบไวรัสลูกผสม เพียงแต่พบว่าใน 1 คนมีการติดเชื้อโควิด 2 สายพันธุ์เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าการเกิดลูกผสมในส่วนของไวรัสโควิด-19 นั้นไม่ง่ายนัก เพื่อความปลอดภัยของมวลมนุษยชาติท่ามกลางสมรภูมิโควิดภิวัฒน์ที่อยู่กับเรามากว่า 3 ปี จึงต้องมีการติดตามกันต่อไป และยังคงให้ความสำคัญกับการป้องกันกันอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิงจาก Bloomberg, Center for Medical Genomics, Businesstimes