สภาดิจิทัล เดินหน้าผลักดันไทยก้าวสู่ “ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก” ระดมสมอง “สรรพากร นักลงทุนไทยและต่างประเทศ” ร่วมขับเคลื่อนแบบบูรณาการ สนับสนุนมาตรการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax สร้างแรงจูงใจดึงดูดการลงทุนทั่วโลก เสริมศักยภาพสตาร์ทอัพ ยกระดับการแข่งขันในเวทีโลก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) ระดมสมองภาครัฐ และเอกชน ผ่านการจัดเสวนาออนไลน์ในโครงการ DCT Digital Future Talks เรื่อง “นโยบายทางภาษีเพื่อสนับสนุนการระดมทุนของ Tech Companies (Tax Incentives for Tech Companies)” เพื่อรวบรวมความเห็นและแนวทางความเป็นไปได้เกี่ยวกับนโยบายทางภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนของสตาร์ทอัพไทย โดยเฉพาะในกลุ่มในประเด็นการยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากการลงทุน Capital Gain Tax เพื่อจูงใจให้นักลงทุนไทยและต่างประเทศ (Venture Capital หรือ VC) เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สร้างไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก
โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย
ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) กล่าวว่า ปัจจัยประการสำคัญที่จะส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพไทยให้แข่งขันได้บนเวทีโลก คือการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ให้เข้มแข็งทั้งด้านนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งนี้ควรจะต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกยุคปัจจุบัน
โดยเฉพาะมาตรการภาษีควรมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากการลงทุน Capital Gain Tax ในธุรกิจสตาร์ทอัพและ Tech Companies เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการระดมทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพไทยเพื่อให้เติบโตได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก และจะส่งผลให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้จากธุรกิจสตาร์ทอัพได้มากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ถือเป็นพันธกิจสำคัญของสภาดิจิทัลฯ ที่จะผลักดันอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยก่อนหน้านี้ไทยเคยมีมาตรการยกเว้นภาษีดังกล่าวมาแล้วในช่วงปี 2559-2561 และยกเลิกไป จึงขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง ก่อนที่สตาร์ทอัพจะหันไปจดทะเบียนธุรกิจในต่างประเทศที่จูงใจด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากกว่า
ดร.ณวัฒน์ คำนูนวัฒน์ ผู้ดูแลโครงการพันธกิจ ศูนย์กลางนวัตกรรมระดับภูมิภาค สภาดิจิทัลฯกล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีนโยบายยกเว้นภาษี Capital Gain Tax ทำให้ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้จำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยควรมีมาตรการภาษีในทิศทางเดียวกัน เพื่อเร่งขยายโอกาสการเติบโตของสตาร์ทอัพ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยตั้งเป้าดึงเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าการลงทุนใน Tech Companies ในภูมิภาคอาเซียน เข้ามาลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพไทย
คุณอัครราชย์ บุญญาศิริ นักวิชาการภาษีชำนาญการพิเศษ กรมสรรพากร กล่าวว่า ในส่วนของกรมสรรพากรนั้นรับผิดชอบ 2 เรื่องหลัก ได้แก่ เรื่องการจัดเก็บภาษีให้ได้ตามประมาณการของรายได้ และ การเสนอแนะนโยบายภาษีเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ที่ผ่านมาได้มีกฎเกณฑ์เพื่อช่วยเหลือ และสนับสนุน ทั้งสตาร์ทอัพและ VC เช่น การยกเว้น Capital Gain Tax ของ VC และ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของสตาร์ทอัพ แต่ปัจจุบันมาตรการดังกล่าวนั้นเกินระยะเวลาที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้แล้ว ซึ่งมาตรการใหม่ๆ จะเป็นรูปแบบชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในการติดตามผล และการปรับปรุงได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ ในปัจจุบัน การส่งเสริมและสนับสนุน Tech Companies นั้นอยู่ในประเด็นที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล และที่ผ่านมาเรามีเครื่องมือที่ออกมาชั่วคราว หากจะมีการออกนโยบายอีกครั้ง ก็จำเป็นต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทางกรมสรรพากรยินดีฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งได้รับข้อเสนอมาแล้วจากสภาดิจิทัลฯ และทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยสภาดิจิทัลฯ สามารถเป็นองค์กรกลาง รวมถึงเป็นตัวแทนภาคเอกชน ในการพูดคุยกับภาครัฐได้ ทั้งนี้ ทางกรมสรรพากรจะนำข้อเสนอดังกล่าวมาประกอบการพิจารณา โดยมีกรอบการทำงานที่มุ่งเน้นถึงความจำเป็นและประโยชน์อย่างคุ้มค่าต่อการลงทุน เพื่อส่งเสริมให้ Ecosystem ของสตาร์ทอัพ และ Tech Companies ให้มีความสมบูรณ์ได้ต่อไปในอนาคต
คุณณิชาภัทร อาร์ค Thailand Coverage, Openspace Ventures ตัวแทนจากผู้ลงทุนในต่างประเทศ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นบริษัทร่วมลงทุนต่างประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์และมีการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน มองว่าการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax จะดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งการตัดสินใจเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพจะพิจารณาหลายปัจจัย ตั้งแต่แผนธุรกิจและศักยภาพของสตาร์ทอัพ ขนาดของตลาด(Market Size) การคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุน รวมถึงการพิจารณาเรื่องนโยบายภาษีของประเทศที่จะเข้าลงทุนด้วย โดยมองว่า เป็นเรื่องที่ต้องมีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดแนวทางที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด
ด้านคุณศรัณย์ สุตันติวรคุณ นายกสมาคม Thai Venture Capital Association (TVCA) และผู้ถือหุ้น N-Vest Venture Co., Ltd กล่าวว่า มาตรการยกเว้นภาษี Capital Gain Tax ถือเป็นสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่จำเป็นต่อการส่งเสริมศักยภาพการลงทุนให้กับสตาร์ทอัพและ Tech companies เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการพื้นฐานของสิงคโปร์และฮ่องกง แม้การยกเว้นภาษี Capital Gain Tax อาจไม่ใช่ปัจจัยดึงดูดให้ต่างชาติย้ายฐานการลงทุนมาประเทศไทยทันที แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตสู้กับประเทศอื่นได้ และจะทำให้สตาร์ทอัพไทยสามารถดึงบุคลากรที่มีศักยภาพจากทั่วโลกมาร่วมสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย
คุณอรดา วงศ์อำไพวิทย์ ผู้ช่วยประธานสภาฯ และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายสภาดิจิทัลฯ สภาดิจิทัลฯ กำลังเร่งดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในประเด็นมาตรการภาษี Capital Gain Tax ไปนำเสนอต่อภาครัฐเพื่อกำหนดเป็นมาตรการทางภาษีต่อไปโดยเร็วที่สุด อีกทั้งสภาดิจิทัลฯ จะดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่นักลงทุนไทยในสื่อต่างๆ ของสภาดิจิทัลฯและพันธมิตร อันจะช่วยสร้างโอกาสในการลงทุนนำไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขันเพื่อให้ธุรกิจผู้ประกอบการดิจิทัลไทยให้สามารถเติบโตเพื่อการแข่งขันได้ในระดับโลกต่อไป
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด