ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้ผู้คนนิยมใช้บริการธุรกิจ E-commerce มากกว่าเมื่อหลายปีก่อน การแข่งขันในตลาดนั้นจึงมีความรุนแรงเพื่ม และมีแคมเปญส่งเสริมการขายออกมามากมาย เป็นสาเหตุให้หลายแพลตฟอร์มต้องขาดทุน หรือปิดตัวลงไปในที่สุด
ผลวิเคราะห์จาก Creden Data ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2015 - 2021 ผลกระทบจากการต่อสู้ของธุรกิจ E-commerce ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่สามรายในประเทศไทยได้รับความเสียหายจากการดำเนินงานรวมกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท โดยยักษ์ใหญ่ของ E-commerce นั้นได้แก่ Lazada Shopee และ JD Central
ถึง E-marketplace รายใหญ่ทั้งสามจะมีรายได้รวมกันถึง 8.5 หมื่นล้านบาท แต่หลังจากได้ทำการ burning เพื่อดึงผู้ใช้งานรายใหม่ ๆ ให้เข้ามาใช้บริการ ก็สร้างผลกระทบที่ทำให้บริษัทขาดทุนอย่างมากในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา
ตั้งแต่ปี 2015 ถึงปี 2021 Shopee ที่สามารถทำรายได้รวมไปทั้งสิ้น 2.1 หมื่นล้านบาท กลับมีผลขาดทุนมากที่สุดในบรรดาทั้งสามบริษัทอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็น Lazada ที่อาศัยความได้เปรียบของการเป็นผู้บุกเบิกตลาด E-commerce รายแรกทำให้สามารถสร้างรายได้ไปกว่า 5.1 หมื่นล้านบาท แม้จะมีผลขาดทุนน้อยกว่าเจ้าอื่นที่ 1.3 หมื่นล้านบาทก็ตาม แต่นี่เพิ่งเป็นปีแรกที่ Lazada พลิกกลับมามีกำไรเป็นครั้งแรกที่ 226 ล้านบาท และ JD Central ที่เพิ่งจะเปิดตัวในปี 2560 นั้นกวาดรายได้ไป 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น โดยขาดทุนไป 5.5 พันล้านบาท
จากผลขาดทุนรวมดังกล่าวทำให้แพลตฟอร์มทั้งสามนั้นต้องปรับตัวและเพิ่มกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างกำไรจากรายได้ให้มากที่สุดในปีนี้ โดย Lazada เองก็มีการเพิ่มส่วนลดในแคมเปญต่าง ๆ และสร้างความร่วมมือกับหลากหลายแบรนด์ดังเพื่อให้บริษัทยังคงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคตลาดออนไลน์
ในขณะเดียวกัน Shopee ก็กำลังจะขยายบริการให้เป็น Super App เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเพิ่มการใช้งาน รับส่วนลดและคะแนนมากขึ้น เพื่อเพิ่มความเหนียวแน่นให้กับแพลตฟอร์มของตัวเองเช่นกัน
ดังนั้นแล้วการจะดำเนินธุรกิจ E-commerce เงินทุนสำรองที่แข็งแกร่ง และความอดทนในการแข่งขันระยะยาว รวมถึงการตลาดที่ดีย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนควรจะมีไว้เพื่อให้อยู่รอดได้ในตลาดที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้
อ้างอิง Bangkok Post IpriceInsight
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด