“Priceza” ผู้ให้บริการเครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) อันดับ 1 ของประเทศไทย จัดงาน “Priceza Awards 2016” มอบรางวัลให้กับสุดยอดอีคอมเมิร์ซไทย พร้อมดึง “กูรู” ระดับประเทศร่วมเปิดเทรนด์ธุรกิจ E-Commerce ไทยปี 2017 ชี้เป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการ SMEs และร้านค้าออนไลน์ เพราะการพัฒนาระบบ E-payment และการขยายการลงทุนของ Marketplace ที่จะทำให้การซื้อขาย สะดวก ง่าย และรวดเร็ว คาดตลาด E-Commerce ขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2016
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางและแนวโน้มของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปี 2017 ในเวที เวที “Get Ready for E-Commerce Trends 2017” ที่จัดขึ้นภายในงานมอบรางวัล “Priceza Awards 2016” ให้กับร้านค้าอีคอมเมิร์ซโดยระบุว่า วันนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยไม่ได้เลือกซื้อสินค้าที่ราคาถูกเสมอไป จากฐานข้อมูลผู้ใช้บริการกว่า 100 ล้านครั้งต่อปี ทำให้เราพบว่าสินค้าที่ “ดี มีคุณภาพ และน่าเชื่อถือ” คือตัวแปรสำคัญของการตัดสินซื้อของผู้บริโภค
“เมื่อดูจากผลวิจัยของกูเกิลและเทมาเส็กล่าสุดที่ระบุว่าตลาดออนไลน์ในประเทศไทยจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 29 จากมูลค่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยมีประเทศไทยเป็นผู้นำในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีความเป็นไปสูงมาก เพราะถ้าดูจากข้อมูลวันนี้ประเทศไทยที่มี Gross Merchandise Value สูงที่สุดในกลุ่ม และคาดว่าในปี 2017 นี้มูลค่าการซื้อขายจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 20 อันเนื่องมาจากการเข้าถึงการใช้งานเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาและลงทุนในระบบ E-payment ในแพลทฟอร์มต่างๆ จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจ E-commerce ไทยเป็น Eco-System ที่มีความแข็งแกร่ง และเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดตามที่มีการคาดการณ์ไว้”
นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีสัดส่วนยอดขายธุรกิจออนไลน์อยู่ที่ร้อยละ 2-3 เมื่อเทียบกับค้าปลีก ซึ่งยังถือว่าน้อยมาก โดยในความเป็นจริงสามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 10 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ควรจะเป็น และคาดว่าใน 3-4 ปี นี้ทั้งบริการ E-wallet และ E-money จะขยายตัวมากขึ้น โดยโทรศัพท์มือถือจะเปลี่ยนเป็นประเป๋าเงินของผู้บริโภคแทนการใช้เงินสด
“จุดสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ชไทยเติบโตไปได้มากยิ่งขึ้น ก็คือการที่ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้บริการ E-wallet และ E-money โดยการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ร้านค้าปลีกเองจะต้องหันมาใช้บริการในระบบนี้กันมากขึ้น โดยเชื่อว่าบริการเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องปกติภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี เหมือนกับการเกิดขึ้นของตู้ ATM ในยุคแรกๆ และสิ่งสำคัญถ้าหากสามารถปลดล็อคในเรื่องของค่าธรรมเนียมการใช้บริการได้ คาดว่าภายใน 2 ปีระบบก็จะติดตลาด คนไทยก็จะหันมาใช้บริการซื้อสินค้าออนไลน์กันมากและธุรกิจอีคอมเมิร์ชไทยก็จะเติบโตไปได้มากยิ่งขึ้น”
นายธนินทร์ ธนียวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิรูปการพาณิชย์ระดับภูมิภาค ลาซาด้า กรุ๊ป ระบุว่าการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคให้หันมาใช้ระบบ E-payment มาขึ้นนั้น จะต้องดำเนินการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐกำลังส่งเสริมและผลักดันอยู่ในขณะนี้
“วันนี้เซเว่นอีเลฟเว่นเริ่มรับอาลีเพย์แล้ว ตอนนี้คนจีนซื้ออะไรก็ใช้อาลีเพย์ทั้งหมด เทคโนโลยีนี้จะเป็นไปได้ในประเทศไทยถ้าเราทำให้คนในต่างจังหวัดทุกคนเข้าถึงและเข้าใจระบบนี้ เชื่อว่าใน 3-4 ปีถ้าคนเริ่มเข้าใจและมั่นใจในเรื่องของการเก็บเงินจากการซื้อของผ่านทางอีคอมเมิร์ซ หรือการใช้ E-payment จะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเงินได้เป็นจำนวนมาก โดยในปีนี้ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจกับเรื่องของ Social Commerce ผ่าน facebook หรือ instagram เพราะมีผลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค”
นายธนานันท์ อรุณรักษ์ติชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวเสริมว่า คนรุ่นใหม่ในวัย Gen-M ที่นิยมการซื้อขายบนโลกออนไลน์จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยขยายตัวตามที่คาดไว้ แต่การที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในเมืองไทยนั้นจะต้องทำให้เรื่อง E-wallet และ E-money เป็นเรื่องง่ายและปลอดภัยเหมือนกับการใช้งาน Internet Banking ก็จะสามารถกระตุ้นให้ระบบ E-payment ของไทยได้รับความนิยมมากขึ้น
“เทรนด์ในปีนี้นอกจากเรื่องของ e-payment แล้ว ตัวของผู้ประกอบการร้านค้าเองก็จะต้องปรับตัวและเข้าไปอยู่ในหัวใจของลูกค้าให้ได้ว่า ลูกค้าของเราต้องการและอยากจะได้อะไร ปีนี้จึงจะเป็นการแข่งขันของการเลือกสินค้าและสร้างประสบการณ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เพราะวันนี้ลูกค้าจะตัดสินใจเลือกซื้อจากการรีวิวหรือดูจากประสบการณ์ของกลุ่มผู้ใช้สินค้าเป็นหลัก และพยายามมองหาความเป็นตัวตนของตนเองที่มากขึ้น”
ด้าน นายณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอ็นดับเบิลยู จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่า ในกลุ่มธุรกิจ Marketplace จะมีการลงทุนอีกระลอก ถ้าเราสามารถพาตัวเองหรือสินค้าของเราเข้าไปอยู่ตรงนั้นได้ก็จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการร้านค้าที่จะได้รับประโยชน์จากจุดนั้น
“ปีนี้เชื่อว่า E-payment มาแน่นอน ทางเทพช้อปเองก็พยายามผลักดันให้ร้านค้ามาหันใช้ระบบนี้กันมาขึ้นเพื่อให้ร้านค้าลดต้นทุนโดยไม่ต้องมาบริหารจัดการเรื่องเงิน และเรื่องของ Social Commerce ปีนี้ก็จะบูมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่ร้านค้าจะสามารถขายสินค้าให้กับผู้ซื้อโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม”
“เชื่อว่าในปีนี้เรื่องของระบบ E-payment ที่เข้ามารวมไปถึงการพัฒนาระบบ Logistics ที่รวดเร็วจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อีคอมเมิร์ชของไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด นอกจากนี้การเข้ามาขยายการลงทุนของ Market place ยักษ์ใหญ่หลายๆราย ก็จะเป็นโอกาสและช่องทางในการขายสินค้าให้กับร้านค้าต่างๆ เพิ่มมาก” CEO Priceza กล่าวสรุป
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด