รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) กำลังได้รับความสนใจและเป็นกระแสการเปลี่ยนผ่าน ที่จะเห็นภาพชัดมากขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ได้หันมานิยมรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น เห็นได้จากการประกาศนโยบายต่าง ๆ เช่น ประเทศจีน มีการลดหรือยกเว้นภาษีผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเทศนอร์เวย์ มีแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะฟรี ในขณะที่ประเทศเวียดนาม ได้มีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าสมรรถนะสูงและเร่งที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอาเซียน
รวมทั้งภาพรวมตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าเองที่ดูเหมือนว่าจะโตขึ้นเกือบเท่าตัว วัดได้จากยอดจองรถยนต์ EV ภายในงาน Motor Expo 2022 ที่ผ่านมา สูงถึง 5,800 คัน คิดเป็นสัดส่วน 15.8% จากยอดจองรถยนต์ทั้งหมดที่ 36,679 คัน เทียบกับสัดส่วนยอดขายรถยนต์ EV ในไทยก่อนหน้านี้ในปี 2017 และ 2020 ที่เพียง 1.3% และ 4.2% ตามลำดับ นั่นก็เพราะเหตุผลหนึ่งที่หนีไม่พ้นนั่นคือ “ราคา” ที่ถูกลงทำให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย และนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มกำลังนั่นเอง
ซึ่งประเทศไทยก็ได้มีมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน มาตรการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้า, การลดหย่อนภาษีสรรพสามิต รวมถึงการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อรถ EV ทำให้เราเริ่มเห็นการนำรถยนต์ไฟฟ้า มาวิ่งบนท้องถนนมากขึ้น และในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจเห็นจำนวนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่เมื่อมีรถยนต์ไฟฟ้าแล้วนั้น สิ่งที่จะต้องคำนึงตามมานั่นก็คือ EV Charger ที่เรายังต้องเตรียมให้พร้อมด้วย มาดูกันว่าควรเตรียมบ้านอย่างไร หากต้องการที่จะติดตั้ง EV Charger ที่บ้าน และต้องคำนึงถึงปัจจัยอะไรบ้าง ใช้งบเท่าไหร่ ใช้ยี่ห้อไหนดี มีขั้นตอนอย่างไร และเช็คยังไงว่าปลอดภัย Techsauce จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการเตรียมบ้านก่อนติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามาฝากกัน
สำหรับผู้ที่มียานยนต์ไฟฟ้าและต้องการติดตั้งเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าภายในบ้าน ควรมีการพิจารณา/ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบไฟฟ้าภายในบ้านเกิดปัญหา โดยสิ่งที่ควรจะพิจารณา/ตรวจสอบ มีดังนี้
ขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า : โดยปกติขนาดมิเตอร์ของบ้านพักอาศัยทั่วไปจะใช้เป็น Single-Phase 15(45) A ซึ่งหมายถึง มิเตอร์ขนาด 15 A สามารถใช้ไฟได้มากถึง 45 A แต่สำหรับผู้ที่ต้องการติดตั้งเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าภายในบ้านนั้น โดยทั่วไป เครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าภายในบ้านจะใช้กำลังไฟสูงถึง 32 A ซึ่งหากมีการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟหลายชนิดพร้อมกับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จะทำให้กำลังไฟไม่เพียงพอ และมีโอกาสที่ทำให้ไฟตกได้ ดังนั้น ทางการไฟฟ้าจึงได้มีการแนะนำให้เปลี่ยนขนาดมิเตอร์เป็น Single-Phase 30(100) A หรือ 3-Phase 15(45) A เพื่อให้มิเตอร์มีขนาดใหญ่ขึ้น ป้องกันการใช้ไฟฟ้าที่มากเกินไป
เปลี่ยนสายเมน และลูกเซอร์กิต (MCB) : สำหรับสาย Main ที่ใช้ขนาด 16 ตร.มม. จะต้องปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 25 ตร.มม. และเปลี่ยนลูกเซอร์กิต (MCB) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันร่วมกับตู้ MDB ที่สามารถรองรับได้สูงสุด 100 A
ตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB) : ตรวจสอบภายในตู้ว่ามีช่องว่างสำรองเหลือให้ติดตั้ง Circuit Breaker อย่างน้อย 1 ช่อง เนื่องจากการชาร์จไฟของยานยนต์ไฟฟ้านั้นจะต้องมีช่องส่วนตัว แยกใช้งานกับเครื่องไฟฟ้าอื่น ๆ หรือหากภายในตู้หลักไม่มีช่องว่าง ก็สามารถเพิ่มตู้ควบคุมย่อยได้
เครื่องตัดไฟรั่ว (RCD) : เป็นเครื่องตัดไฟอัตโนมัติที่จะตัดวงจรไฟฟ้า เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเข้าออกมีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร และเกิดเพลิงไหม้ในอนาคตได้ ในกรณีที่สายชาร์จไฟฟ้ามีระบบตัดไฟภายในตัวอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องติดตั้งเพิ่ม ทั้งนี้ เครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่ดีควรมีระบบตัดไฟอย่างน้อย RCD type A โดยมีระบบตรวจจับ DC leakage protection 6 mA (การป้องกันกระแสไฟตรงรั่วไหล
หัวชาร์จไฟฟ้า (EV Socket) : หัวชาร์จไฟฟ้า ตามการออกแบบของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละค่าย มักจะทำไม่เหมือนกัน แต่สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบหลักๆ คือ
เป็นการชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) สามารถชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า จาก 0 – 80% ได้ในเวลาประมาณ 40-60 นาที (ขึ้นอยู่กับความจุพลังงานแบตเตอรี่ กิโลวัตต์-ชั่วโมง) เหมาะสำหรับชาร์จตามจุดพักรถต่างๆ ที่ต้องใช้ความรวดเร็ว และต้องเดินทางต่อ ซึ่งประเภทหัวชาร์จของ Quick Charger ได้แก่ CHAdeMo (ย่อมาจาก CHArge de Move), GB/T และ CCS (ย่อมาจาก Combined Charging System) สำหรับหัวชาร์จแบบ DC นี้ จะเป็นหัวชาร์จที่ใช้กับสถานีชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้า
อันนี้คือการชาร์จแบบธรรมดาด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charging) ซึ่งการชาร์จในบ้านอยู่อาศัยจะเป็นแบบนี้ มีทั้งแบบสายชาร์จแบบพกพา และเครื่องชาร์จแบบติดผนัง ใช้ระยะเวลาชาร์จนานหน่อย อยู่ที่ประมาณ 5 – 7 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับกำลังไฟของเครื่องชาร์จ Wall Box, ขนาดของแบตเตอรี่ และสเปคของรถ
การชาร์จด้วยตู้ชาร์จติดผนัง สามารถทำได้รวดเร็วกว่าการต่อจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง โดยหัวชาร์จที่ใช้แบ่งออกเป็น 2 แบบ
Type 1 เป็นหัวชาร์จที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น
Type 2 เป็นหัวชาร์จที่นิยมใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าในแถบทวีปยุโรป
ทั้งนี้การติดตั้งตู้ชาร์จติดผนัง มิเตอร์ไฟของบ้านที่ติดตั้งต้องสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ 30 (100)A
สำหรับการเสียบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นชนิด 3 รู (มีสายต่อหลักดิน) ต้องทนกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 16(A) แต่รูปทรงอาจจะปรับตามรูป แบบปลั๊กของรถยนต์แต่ละรุ่น
สุดท้ายนี้ การติดตั้งจุดชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้าภายในบ้าน ต้องเดินวงจรสายไฟแยกออกมาต่างหาก ควรจะได้รับการติดตั้งจากช่างผู้ชำนาญงานเท่านั้น และห้ามนำสายชาร์จแบบพกพา ไปต่อกับเต้ารับเดิมที่มีอยู่แล้วในบ้าน เนื่องจากระบบไฟฟ้าเดิม ไม่ได้ออกแบบมาให้รองรับกับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
6. ระยะทาง : จากจุดติดตั้งเครื่องชาร์จจนถึงตัวรถ ไม่ควรเกิน 5 เมตร เนื่องจากสายเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า โดยทั่วไป จะอยู่ที่ 5-7 เมตรเท่านั้น และควรเลือกจุดที่มีหลังคาเพื่อป้องกันละอองฝน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมาตรฐานการกันน้ำของเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้านั้น
เลือกจุดที่สามารถเดินสายไฟจากเครื่องชาร์จไปยังตู้เมนไฟฟ้าในบ้านท่านได้สะดวก ไม่ควรเป็นโรงรถที่อยู่ห่างไกล เพราะจะต้องเสียค่าเดินสายไฟสูงขึ้น
เลือกจุดที่มีหลังคาเพื่อป้องกันละอองฝน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมาตรฐานการกันน้ำของเครื่อง EV Charger นั้นๆ
ส่วนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าคุณอาศัยอยู่ที่ไหนและงานนั้นซับซ้อนแค่ไหน ทั้งนี้อาจจะต้องคำนึงถึงค่าไฟฟ้ารายเดือนที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ดีค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจมีมูลค่าน้อยกว่าค่าบำรุงรักษารถยนต์ทั่วไปเนื่องจากแบตเตอรี่และมอเตอร์ต้องการการดูแลน้อยกว่า และไม่ต้องกังวลเรื่องการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องอีกด้วย
สามารถดูว่ามิเตอร์ที่บ้านเหมาะสำหรับติดตั้ง EV Charger แล้ว หรือต้องเปลี่ยนใหม่ โดยมีวิธีตรวจสอบดังนี้
โดยมาตรฐานบ้านทั่วไปที่สร้างนานแล้ว มักจะอยู่ที่ Single-Phase 5(15)A หรือ Single-Phase 15(45)A ซึ่งเป็นกำลังไฟที่ไม่เพียงพอกับการใช้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเนื่องจาก EV Charger โดยทั่วไปใช้กำลังไฟสูงถึง 32A ซึ่งหากใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟหลายชิ้นพร้อมกัน เช่น แอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เป็นต้น พร้อมกับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จะทำให้กำลังไฟไม่เพียงพอ และมีโอกาสที่ทำให้ไฟตกได้
การจะติดตั้งเครื่อง EV Charger และใช้ไฟในบ้านได้อย่างเสถียร มาตรฐานขนาดมิเตอร์ที่ทางการไฟฟ้าฯแนะนำ คือ Single-Phase 30(100)A หรือ 3-Phase 15(45)A จึงจะเพียงพอ
หากตรวจสอบแล้วว่ามิเตอร์ไม่เหมาะสม ก็สามารถแจ้งไปที่การไฟฟ้าฯ ในเขตที่อยู่ของตนเอง เพื่อขอเปลี่ยนขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าในบ้านได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่มาติดตั้งให้การไฟฟ้าฯ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับขนาดมิเตอร์และสายส่งเข้าอาคาร
อ้างอิง The Washingtonpost , thai-smartgrid
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด