
ความเชื่อมั่นของพนักงานที่มีต่อองค์กรลดลงอย่างหนัก ล่าสุด Glassdoor รายงานว่า มีเพียง 44.4% ของพนักงานที่ยังคงเชื่อมั่นต่อองค์กร ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2016 และลดลงถึง 11.2% จากตัวเลข 55.6% ในเดือนมีนาคม 2022
Daniel Zhao นักเศรษฐศาสตร์ของ Glassdoor บอกว่า ตอนนี้พนักงานหลายคนอยากลาออก แต่ยังไม่มีโอกาสที่เหมาะสม ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง พนักงานหลายคนจึงต้องอยู่ในตำแหน่งเดิม ซึ่งทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจ
ทำไมพนักงานถึงหมดความเชื่อมั่น?
หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้พนักงานรู้สึกไม่มั่นคงคือ กระแสการปลดพนักงาน ซึ่งพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 มีการพูดถึง "Layoff" บน Glassdoor มากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิดปี 2020 โดยอัตราการกล่าวถึงเพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
รายงานจาก Challenger, Gray & Christmas ยังเผยว่า มีการประกาศปลดพนักงานจำนวน 172,017 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 4 ปี แม้ว่าพนักงานบางคนจะรอดจากการถูกปลด แต่หลายคนยังคงรู้สึกกดดันและเครียด กลัวว่าการปลดรอบต่อไปจะมาถึงตัวเอง หรือ ต้องทำงานหนักขึ้นแทนเพื่อนร่วมงานที่ถูกเลิกจ้าง
กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
อุตสาหกรรมที่พนักงานมีความมั่นใจต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ได้แก่:
- ภาครัฐ & การบริหารงานภาครัฐ : 38.1%
- ร้านอาหาร & บริการอาหาร: 38.1%
- ค้าปลีก & ค้าส่ง: 38.3%
- ศิลปะ & วงการบันเทิง: 39.2%
- บริการลูกค้า: 40.3%
ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมที่ความเชื่อมั่นลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ได้แก่:
- ภาครัฐ & การบริหารงานภาครัฐ : -7.3%
- อุตสาหกรรมการบิน & กลาโหม: -6.8%
- องค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO): -4.0%
- การผลิต: -3.7%
- พลังงาน เหมืองแร่ & สาธารณูปโภค: -3.3%
นักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุหลักมาจาก การปรับลดงบประมาณและสัญญาจ้างงานของภาครัฐ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมที่พึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น การบินและ NGO
พนักงานระดับไหนได้รับผลกระทบมากที่สุด?
พนักงานระดับกลาง (Mid-level) เป็นกลุ่มที่ความมั่นใจลดลงมากที่สุด (-1.7% จากปีที่แล้ว) เพราะเป็นตำแหน่งที่ถูกเลิกจ้างบ่อยที่สุด บริษัทใหญ่ เช่น Amazon เคยประกาศปรับโครงสร้างเพื่อลดจำนวนผู้จัดการระดับกลางลง ซึ่งแนวโน้มนี้อาจเกิดขึ้นกับองค์กรอื่น ๆ เช่นกัน
แม้แต่พนักงานระดับ Entry-level และ Senior-level ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่ม Entry-level ก็มีความมั่นใจลดลงถึงจุดต่ำสุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา
องค์กรควรรับมืออย่างไร?
Daniel Zhao แนะนำว่า "การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส" คือสิ่งสำคัญที่สุดในช่วงเวลาที่พนักงานรู้สึกไม่มั่นคง หากผู้บริหารให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางขององค์กร จะช่วยลดความกังวลและสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานได้
แม้ว่าหลายบริษัทกำลังอยู่ในช่วงปรับตัว แต่หากละเลยความรู้สึกของพนักงาน อาจนำไปสู่ปัญหาหมดไฟและประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อธุรกิจมากกว่าที่คาดคิด
ศาสตราจารย์ Naeem Zafar จาก UC Berkeley เคยกล่าวว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Amazon เป็นแค่จุดเริ่มต้น" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของพนักงานในวงกว้าง ดังนั้น ผู้นำต้องตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่น และพร้อมปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
การสร้างความเชื่อมั่นให้พนักงาน ไม่ใช่แค่เรื่องการรักษาขวัญกำลังใจ แต่ยังเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ซึ่งส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงาน การเติบโต และความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว
อ้างอิง: cnbc