จากรายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่าผู้สมัครใช้งาน 5G จะสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลก และจำนวนผู้สมัครใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่จะแตะถึง 1.5 พันล้านรายภายในปี 2567 ทำให้ 5G เป็นเทคโนโลยีที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในระดับโลก ทั้งนี้ปัจจัยหลักต่าง ๆ ในการนำ 5G มาใช้ประกอบไปด้วยประสิทธิภาพของเครือข่าย ค่าใช้จ่ายต่อกิกกะไบต์ และความต้องการนำไปใช้งานใหม่ ๆ
นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์อีกว่าภูมิภาคอเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นผู้นำในการใช้ 5G ซึ่งคาดว่าในภูมิภาคอเมริกาเหนือจะมีการสมัครใช้งาน 5G สูงถึง 55 เปอร์เซ็นต์ของการสมัครใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด ภายในปี 2567 ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมีตัวเลขอยู่ที่ 43 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในภูมิภาคยุโรปตะวันตก มีการคาดการณ์ว่า 5G จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ของการสมัครใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในภูมิภาคภายในปี 2567
สำหรับจำนวนการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ IoT ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (cellular IoT) ทั่วโลกนั้น จะถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีที่เรียกว่า NB-IoT และ Cat-M1 โดยคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนการเชื่อมต่อของ cellular IoT ถึง 4.1 พันล้านภายในปี 2567 โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 2.7 พันล้าน ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นจริงจังและขนาดของตลาด cellular IoT ในภูมิภาคนี้ ดังนั้นผู้ให้บริการที่มีความพร้อมในเทคโนโลยี NB-IoT และ Cat-M1 จะทำให้เกิดความหลากหลายและการพัฒนาสำหรับการใช้งานใหม่ ๆ ในวงกว้างของตลาดนั้น ๆ
ปริมาณการใช้ข้อมูลในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 เติบโตขึ้นถึง 79 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2556 ปริมาณการใช้ข้อมูลต่อสมาร์ทโฟน 1 เครื่องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะประเทศจีน เป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ตัวเลขของระดับโลกสูงขึ้นอย่างมาก ด้วยตัวเลขปริมาณการใช้ข้อมูลตั้งแต่ปลายปี 2560 ถึงปลายปี 2561 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นถึง 140 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ภูมิภาคนี้มีปริมาณการใช้ข้อมูลต่อสมาร์ทโฟน 1 เครื่องเท่ากับ 7.3 กิกกะไบต์ต่อเดือน สูงเป็นอันดับสองของโลก ซึ่งเทียบเท่ากับการดูวีดีโอที่มีความละเอียดสูงผ่านสตรีมมิ่งถึง 10 ชั่วโมงต่อเดือน สำหรับภูมิภาคอเมริกาเหนือยังคงเป็นภูมิภาคที่มีปริมาณการใช้ข้อมูลต่อสมาร์ทโฟนมากที่สุด สูงถึง 8.6 กิกกะไบต์ต่อเดือนภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเทียบเท่ากับการดูวีดีโอที่มีความละเอียดสูงผ่านสตรีมมิ่งถึง 12 ชั่วโมงต่อเดือน
โดยในระหว่างปี 2561-2567 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณการใช้ข้อมูลโดยรวมเพิ่มขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งเครือข่าย 5G ที่มีแนวโน้มว่าจะมีสัดส่วนถึง 25 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาดังกล่าว
เฟรดดริก เจดดริงค์ รองประธานบริหารและหัวหน้างานฝ่ายธุรกิจเครือข่าย กล่าวว่า “ขณะนี้ 5G เข้าใกล้ตลาดเรามามากขึ้นแล้ว อัตราการเติบโตและการครอบคลุมของมันมีแนวโน้มว่าจะมาเร็วกว่าเทคโนโลยีรุ่นก่อน ๆ ในขณะเดียวกันจำนวนอุปกรณ์ cellular IoT ก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานที่จะส่งผลกระทบไม่เพียงแค่ในตลาดผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ อุตสาหกรรมในวงกว้าง”
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ยกเว้นประเทศอินเดียและจีน) เทคโนโลยี WCDMA และ HSPA (3G) ยังคงเป็นเทคโนโลยีหลัก ถือสัดส่วนอยู่ที่ 48 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานทั้งหมด อย่างไรก็ตามผู้สมัครใช้งาน 4G ยังคงเติบโตขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2561 ถือสัดส่วนอยู่ที่ 26 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 คาดว่าเทคโนโลยี 4G จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 63 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานทั้งหมดในภูมิภาคนี้ ในส่วนของปริมาณการใช้ข้อมูลต่อสมาร์ทโฟน (กิกกะไบต์ต่อเดือน) จะมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างมากจาก 3.8 กิกกะไบต์ต่อเดือน เป็น 19 กิกกะไบต์ต่อเดือน ภายในปี 2567
นาดีน อัลเลน ประธาน บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ธุรกิจสื่อสารไร้สายที่ประสบความสำเร็จถือเป็นรากฐานสำคัญของผู้ให้บริการด้านการสื่อสารที่จะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ จาก 5G อย่างไรก็ตาม 4G ยังคงเป็นเทคโนโลยีหลักและเป็นพื้นฐานของ 5G ผู้ให้บริการในประเทศไทยที่ต้องการเป็นผู้นำตลาด ควรเปิดโอกาสทางธุรกิจจากอุตสาหกรรมภาคต่าง ๆ ในวงกว้าง ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ให้บริการด้านเครือข่ายเท่านั้น โดยในประเทศไทยเราประเมินว่าเทคโนโลยี 5G จะสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ให้บริการได้สูงขึ้นถึง 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ของรายได้ที่คาดการณ์ไว้ภายในปี 2569 โดยอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมด้านพลังงานและสาธารณูปโภค และความปลอดภัยด้านสาธารณะ จะเป็นภาคส่วนที่ผู้ให้บริการสามารถสร้างรายได้จาก 5G ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการจำเป็นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับ 5G เพื่อประโยชน์ของคนในประเทศไทยต่อไป” นาดีน กล่าว
Ericsson (NASDAQ: ERIC) เผยรายงานจากห้องปฎิบัติการวิเคราะห์ผลสำรวจผู้บริโภคฉบับที่ 8: แนวโน้มพฤติกรรม 10 อย่างของผู้บริโภคยุคดิจิตัล ปี 562 คาดการณ์ตัวเลขผู้ใช้งานเทคโนโลยีใหม่เร็วขึ้นถึง 34 ล้านรายทั่วโลก
ผลสำรวจล่าสุดจากรายงานประจำปีได้ทำการวิเคราะห์และประเมินเกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้บริโภคและคาดการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีในอนาคต รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI), เทคโนโลยีเสมือน (VR), 5G และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ผลจากรายงานบ่งชี้ว่าเทคโนโลยีอิสระและการทำนายอารมณ์จะเป็นเทคโนโลยีที่มาแรงและจะมีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในอนาคตอันใกล้
ดร.ไมเคิล บียอน หัวหน้างานฝ่ายวิจัย ห้องปฎิบัติการวิเคราะห์ผลสำรวจผู้บริโภคและอุตสาหกรรมของอีริคสัน กล่าวว่า “ลองจินตนาการถึงสมาร์ทโฟนที่ไม่ได้แค่เพียงรู้ว่าคุณทำอะไร แต่สามารถรู้ได้ว่าคุณเป็นใคร วันนี้ปัญญาประดิษฐ์สามารถเข้าใจถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละคนได้แค่เพียงมองตา ผู้ที่ใช้งานเทคโนโลยีใหม่จะเห็นได้ว่าในอนาคตอุปกรณ์เทคโนโลยีของเราจะรู้จักเรามากกว่าที่เราจะรู้จักมัน”
1.เครื่องรับรู้อัจริยะ กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ใช้งานแอพพลิเคชั่นส์ผู้ช่วยส่วนตัวคิดว่าภายในอีก 3 ปีข้างหน้า อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีจะสามารถรับรู้และเข้าใจถึงอารมณ์ของผู้ใช้ได้ 2. ผู้ตอบโต้ที่ชาญฉลาด กว่า 65 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ใช้งานแอพพลิเคชั่นส์ผู้ช่วยส่วนตัวคิดว่าอุปกรณ์อัจฉริยะจะสามารถโต้เถียงได้เสมือนเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า 3. แอพพลิเคชั่นส์สอดแนม กว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคคิดว่าแอพพลิเคชั่นส์จะเก็บข้อมูลของผู้ใช้ แม้กระทั่งตอนไม่ได้เปิดใช้แอพก็ตาม 4. บังคับให้ตอบตกลง ผู้บริโภคจำนวน 51 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกรำคาญที่จะต้องตอบตกลงให้ cookie เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวตลอดเวลา 5. ทักษะทางอินเตอร์เน็ต กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งาน AR หรือ VR ต้องการใช้แอพพลิเคชั่นส์ แว่นตา หรือถุงมือที่สามารถนำมาใช้งานในชีวิตประจำวันได้ เช่น โปรแกรมสอนทำอาหาร หรือซ่อมแซมสิ่งของต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือน 6. การบริโภคแค่เพียงปลายนิ้ว ผู้ที่ใช้งานแอพพลิเคชั่นส์ผู้ช่วยส่วนตัวราวครึ่งหนึ่ง ต้องการที่จะใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการจ่ายบิล รวมทั้งซื้อของใช้ภายในบ้านแบบอัตโนมัติ 7. ผู้ช่วยในการตัดสินใจ ผู้บริโภคจำนวน 31 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าอีกไม่นานคงจะต้องใช้บริการ “ศูนย์ฝึกความคิด” เพื่อฝึกทักษะทางด้านความคิด เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาแทนที่การตัดสินใจในชีวิตประจำวันของมนุษย์ไปหมดแล้ว 8. รักษ์โลก ผู้บริโภคจำนวน 39 เปอร์เซ็นต์ ต้องการใช้นาฬิการักษ์โลกที่สามารถวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาในแต่ละวันได้ 9. ฝาแฝดดิจิตัล ผู้ใช้งาน AR หรือ VR จำนวน 48 เปอร์เซ็นต์ ต้องการมีฝาแฝดเสมือนจริงที่เหมือนกับตัวเขาแบบชนิดที่แยกไม่ออก เพื่อที่พวกเขาจะสามารถแยกกันอยู่สองที่ได้ในเวลาเดียวกัน 10. ชุมชน 5G ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่า 5G จะทำให้อุปกรณ์ IoT เชื่อมต่อกันได้ดีกว่า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน หรือสมาร์ทมิเตอร์ในอุปกรณ์สาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นต้น
ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองเทคโนโลยีในอนาคตว่าเป็นภัยคุกคามหรือเป็นโอกาส ดร.เพอร์นิลล่า โจนส์สัน หัวหน้างานห้องปฎิบัติการวิเคราะห์ผลสำรวจผู้บริโภคและอุตสาหกรรมของอีริคสัน กล่าวว่า “เราได้เข้าสู่ยุคที่มนุษย์สามารถมีปฏิสัมพันธ์และทำงานร่วมกับเครื่องจักรกลอัจฉริยะแล้ว ทุกวันนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่อนาคต ยังมีอุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีอีกมากมายหลายอย่างที่จะถูกพัฒนาขึ้น และอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น เราสามารถกำหนดได้ด้วยมือของเราเอง”
ทั้งนี้ข้อมูลในรายงานฉบับนี้มาจากห้องปฎิบัติการวิเคราะห์ผลสำรวจผู้บริโภคของอีริคสัน ระดับโลก ที่ได้ทำการสำรวจมาแล้วกว่า 23 ปี โดยข้อมูลส่วนใหญ่มาจากแบบสำรวจออนไลน์ในช่วงเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2561 จากผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตระดับสูงใน 10 เมืองทั่วโลก
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด