เจาะลึก พิษ Covid-19 ส่งผลอย่างไรกับทิศทาง อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย | Techsauce

เจาะลึก พิษ Covid-19 ส่งผลอย่างไรกับทิศทาง อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

สืบเนื่องจากการเเพร่ระบาดของ Covid-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวมได้รับผลกระทบอย่างมาก อาทิ การประกาศยกเลิกงานเเสดงสินค้าระดับโลกอย่าง อย่างเช่นงาน เจนีวา มอเตอร์โชว์ 2020 และปารีส มอเตอร์โชว์ 2020 ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมทั้งในส่วนของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่ประเทศไทยวางเป้าเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากไม่เพียงแต่เฉพาะตลาดในประเทศไทย แต่จะมีผลกระทบในเชิงลูกโซ่จากทั่วโลกในทิศทางเดียวกัน

คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ อุปนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยฝ่ายส่งเสริมการใช้ กล่าวถึงปัจจัยที่มี ผลกระทบต่อการหดตัวในภาคธุรกิจว่า “ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบคือ 1) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่มีผลต่อยอดการขายเเละการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในระดับต่ำสุดเป็น ประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 21 ปี 6 เดือน โดยดัชนีลดลงอย่างมากจากระดับ 64.8 ใน เดือนกุมภาพันธ์ เป็น 50.3 ในเดือนมีนาคม ทั้งนี้วัดจากสเกล 0-200 2) เม็ดเงินลงทุนที่เกี่ยวข้อง กับการพัฒนาเเละการวิจัยด้านยานยนต์มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงเพราะงบประมาณการใช้จ่ายถูกจัดสรรไปสู่ส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะด้านการปฏิบัติการที่จำเป็น 3)อาจเกิดการลดขนาดของการลงทุนในตลาดที่ไม่ใช่ตลาดเป้าหมายเร็วขึ้น 4) การหาวัตถุดิบจากผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ อาจทำได้ยากขึ้น ส่งผลต่อผู้ผลิต รถยนต์ที่ไม่สามารถหาอะไหล่หรือชิ้นส่วนสำคัญได้  5) ความเป็นไปได้ในการปรับปรุงโครงสร้างของระบบการจัดจำหน่าย เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างการแพร่ระบาด ของเชื้อ Covid-19

ส่วนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม โดยเฉพาะในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้า จำเป็นต้องอาศัยมาตรการจากทางภาครัฐเข้ามาสนับสนุน ซึ่งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเเห่ง ชาติ ครั้งที่ 1 โดยมี ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมและพร้อมกันนี้ ดร. ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หนึ่งในคณะกรรมาธิการพลังงานได้เข้าร่วมประชุมด้วยนั้น มีการกำหนดเป้าหมายให้ภายในปี 2573 ประเทศไทยจะต้องมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด เพราะรัฐบาลเล็งเห็นว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยลดการปล่อยมลพิษและมีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 เเละยังช่วยประหยัดพลังงานได้อีกด้วย ซึ่งทางคณะกรรมการได้มีข้อเสนอจัด ทำเเผนส่งเสริมการใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำเพื่อสร้างเเรงจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเเละกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยเเละพัฒนาที่เกี่ยวข้อง

ส่วนผลกระทบต่อการลงทุน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ จากเหตุการณ์การเเพร่ระบาดนี้ มีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมาปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ เพื่อให้สามารถตอบรับกับสถานการณ์อันไม่คาดคิดนี้ได้ ตัวอย่างเช่น การวางเเผนการผลิต ในรอบการผลิตที่จำนวนล๊อตลดลงเเละมีระยะเวลาในการประกอบที่สั้นลงเช่นกัน เเละต้องลดต้นทุนการผลิตลงให้ได้มากที่สุด อีกทั้ง ปัจจัยในเรื่องของการวางแผนการผลิต เพื่อให้สามารถปรับระดับสต็อกสินค้าได้อย่างทันเหตุการณ์มากขึ้น จะส่งผลให้การผลิตมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

คุณกฤษฎา มองว่า “สำหรับในประเทศไทยนั้น ถือเป็นยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาค เรามีฝีมือแรงงานทักษะความชำนาญ ความละเอียด และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย หากเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ดังนั้นประเทศไทยจึงควรเร่งส่งเสริมวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็เป็นจุดที่น่าสนใจในยุคนี้ เพื่อกระตุ้นตลาดให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้ายังมีทิศทางที่น่าจะเติบโตได้เร็วกว่าที่คิด โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาที่ไม่สูงมาก ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเอง ได้นำเสนอ 8 ข้อเสนอเเนะเเนวทางการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าไทย กับหลายหน่วยงานของภาครัฐเมื่อปี 2562 เเละได้รับการตอบรับที่ดีในการนำข้อเสนอดังกล่าวไปปรับใช้ในเเนวทางการส่งเสริม อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับรถยนต์ระบบสันดาปภายในจะได้รับผลกระทบโดยตรงในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้านี้ เนื่องจากเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าล้วนใช้ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำคัญที่เปลี่ยนไปจากรถยนต์ระบบสันดาปภายใน โดยเฉพาะตลาดชิ้นส่วนประกอบ (OEM) อย่างระบบส่งกำลังและเครื่องยนต์จะถูกทดแทน ด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่แรงดันสูง เเละตลาดชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทนสำหรับการบำรุงรักษาจะได้รับผลกระทบจากการบำรุงรักษาที่มีรอบการเข้ารับบริการน้อยลง เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ามีชิ้นส่วนรถยนต์ที่เคลื่อนไหว (Moving Parts) น้อยกว่า รถยนต์ระบบสันดาปภายใน 

อย่างไรก็ตามชิ้นส่วนบางประเภทที่สามารถใช้ร่วมกันได้สำหรับ รถยนต์ทั้งสองประเภท เช่น โครงสร้างตัวถังรถ (body& chasis) และ ระบบช่วงล่าง (Suspension) จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าชิ้นส่วนและส่วนประกอบประเภทอื่น การเปลี่ยนแปลงนี้ จะมีผลกระทบ  ต่อทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมรถยนต์ไปจนถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐตระหนักถึงแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ จึงเริ่มมีการออกนโยบายในการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการสนับสนุนโดยทาง BOI หรือการขยายพื้นที่ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้าต่างๆ อย่างไร ก็ตาม เรายังต้องพยายามองหาแนวทางในการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นๆในอาเซียน โดยหนึ่งในนั้นคือแนวทางการสนับสนุนผู้ใช้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอันจะเป็นตัวขับเคลื่อนระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมตามมาอย่างที่เราได้เคยทำสำเร็จมาแล้วในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์สันดาปภายในที่ผ่านมา” 

คุณกฤษฎา ยังทิ้งท้ายเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้อรถยนต์ที่จะเปลี่ยนไปอีกว่า “ถึงเเม้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวลงก็ตาม มีหลายท่านอาจสงสัยว่า รถยนต์ไฟฟ้าอาจไม่ได้เป็นที่น่าสนใจมากในช่วงเวลานี้ แต่ในระยะยาวนั้น ผมเชื่อมั่นว่าผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) หรือรถยนต์ไฟฟ้าเเบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เป็นกลุ่มผู้บริโภคใหม่ที่ให้ความสนใจในเรื่องสิ่งเเวดล้อม การมีส่วนช่วยลดมลภาวะ เเละคนกลุ่มนี้จริงๆ เเล้วเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในอนาคตนั้น ผู้ใช้รถยนต์พลังงานสะอาดเหล่านี้ จะมีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมรูปเเบบการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เเล้วจะทำให้คนอื่นๆได้รับรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อร่วมกันลดมลภาวะในทิศทางเดียวกัน โดยการห้นมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) หรือรถยนต์ไฟฟ้าเเบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) อันเป็นเทคโนโลยีสำหรับอนาคตอันใกล้นี้อย่างแท้จริง” 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มองศึก Virtual Bank ไทย เทียบชั้นผู้เล่นบนเวทีโลกได้หรือไม่

หลังจาก ธปท. เปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจจัดตั้ง Virtual Bank ยื่นขอเข้ามา ส่งผลให้ธุรกิจการเงินในไทยกลับมาคึกคักมากขึ้น...

Responsive image

Google Workspace อัปเกรดครั้งใหญ่ ! ดึงพลัง AI พลิกโฉมการทำงาน

Google Workspace บริการชุดแอปพลิเคชันผ่านระบบคลาวด์ ได้รับการยกเครื่องครั้งใหญ่ด้วยการผสานความสามารถของ Generative AI ในหลากหลายแอปพลิเคชันยอดนิยม เพื่อช่วยให้การทำงานเป็นเรื่องที่...

Responsive image

จาก ลี เซียงลุง สู่ ลอว์เรนซ์ หว่อง ว่าที่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนที่ 4

ลี เซียนลุง ได้สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในวันที่ 16 เมษายน 2024 ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ ลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกรั...