8 ข้อเสนอแนวทางผลักดันประเทศไทยสู่สังคม EV อย่างเต็มรูปเเบบจาก EVAT | Techsauce

8 ข้อเสนอแนวทางผลักดันประเทศไทยสู่สังคม EV อย่างเต็มรูปเเบบจาก EVAT

ท่ามกลางกระแสของโลกที่เรื่องของความยังยืนถูกให้ความสำคัญในทุกอุตสาหกรรม สำหรับภาคยานยนต์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตประจำวันของคนจำนวนมากนั้นย่อมเป็นส่วนสำคัญที่สร้างผลกระทบได้อย่างมหาศาลทั้งในทางลบและทางบวก เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องยังอยู่ในขั้นตอนของการที่ต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายในบ้านเรา ล่าสุดสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EVAT เสนอข้อผลักดันเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ EV อย่างเเพร่หลาย พร้อมการจัดทำ EV Roadmap อย่างเป็นรูปธรรม เเนะภาครัฐควรเเก้ไขข้อกฎหมายในการจดทะเบียนยานยนต์ให้ชัดเจน พร้อมการจัดโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม ซึ่งทางนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าย้ำชัด ภาครัฐคือกำลังสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนเเปลง

สืบเนื่องจากสถานการณ์การใช้ EV มีการเปลี่ยนเเปลงอย่างเห็นได้ชัด จากข้อมูลของกรมขนส่งทางบก ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 สถิติการจดทะเบียนใหม่ของ EV เเบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เเละไฮบริด (HEV) ในครึ่งปีเเรก (2562) มีจำนวนมากถึง 15,366 คัน ซึ่งคิดเป็นกว่า 75 เปอร์เซนต์ ของยอดจดทะเบียนปี 2561 ทั้งปีที่มีจำนวนทั้งสิ้น 20,344 คัน ในส่วนของการจดทะเบียนใหม่ประเภทยานยนต์เเบบเเบตเตอรี่ (BEV) ในครึ่งปีเเรก (2562) มีจำนวน 420 คัน ซึ่งสูงกว่ายอดจดทะเบียนใหม่ของปี 2561 ทั้งปีที่มีอยู่ราว ๆ 325 คัน เเละมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะประมาณ 340 เเห่งทั่วประเทศ จะเห็นได้ว่าตัวเลขการจดทะเบียน EV ในครึ่งปีเเรก (2562) มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเเละมีเเนวโน้มที่การจดทะเบียนจะมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เล็งเห็นถึงสถานการณ์การใช้ EV ในปัจจุบันเเละอนาคต จึงได้มีการร่างข้อเสนอเเนวทางการส่งเสริม EV ประกอบไปด้วย 8 ข้อหลักที่มุ่งหวังให้ภาครัฐนำข้อเสนอเหล่านี้มาปรับใช้ในการดำเนินนโยบายบริหารประเทศ โดยข้อเสนอเเนวทางการส่งเสริม EV ในประเทศไทย รวมทั้งหมด 8 ข้อหลัก ได้เเก่

  1. การจัดทำเเผนที่นำทางเรื่อง EV เเบบบูรณาการ (EV Roadmap) อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทางสมาคมเน้นว่าต้องมีการกำหนดเป้าหมายของจำนวน EV เเละสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างเหมาะสม พร้อมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม EV ในประเทศตลอดห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ทางสมาคมยังได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายโดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อการบูรณาการที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  2. ทางสมาคมเเนะให้รัฐพิจารณาปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ อาทิ ให้รถสามล้อไฟฟ้าเเละรถรับจ้างไฟฟ้าสามารถจดทะเบียนได้อย่างเสรี รวมไปถึงการส่งเสริมการใช้รถสามล้อไฟฟ้าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อีกทั้งทางสมาคมยังเสนอให้มีการเเยกการจดทะเบียน EV ระหว่างประเภทปลั๊กอิน ไฮบริด (PHEV) เเละไฮบริด (HEV) เพื่อให้ทั้งภาคเอกชนและรัฐสามารถเก็บข้อมูลได้อย่างละเอียด และนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้มากขึ้น
  3. การส่งเสริมการใช้ EV ซึ่งภาครัฐควรออกมาตรการดังต่อไปนี้ 3.1 ส่งเสริมให้ประชาชนซื้อ EV ได้ในราคาที่เหมาะสม เช่น การลดภาษีส่วนบุคคลสำหรับผู้ซื้อ EV 3.2 เพิ่มแรงจูงใจสำหรับผู้ใช้ EV อาทิ การออกมาตรการเพิ่มหัวจ่ายประจุไฟฟ้าตามที่จอดสาธารณะเเละเพิ่มสิทธิในการวิ่งรถยนต์ในช่องทางพิเศษ 3.3 หน่วยงานรัฐควรเป็นผู้นำด้านการใช้ EV ก่อน ด้วยการจัดซื้อ EV เเบบเเบตเตอรี่ตามมติครม. 3.4 ขยายการใช้ EV ในรถโดยสารสาธารณะ ได้เเก่ ขสมก. รถตุ๊กตุ๊ก รถเเท็กซี่ ควรเปลี่ยนเป็น EV ทั้งหมด 3.5 สนับสนุนให้มีการเเยกประเภทป้ายทะเบียน EV เเบบเฉพาะ โดยการใช้สีเเละสัญลักษณ์บนป้ายทะเบียนที่สามารถมองเห็นเเละเเยกเเยะได้ สำหรับป้ายที่เป็นประเภทไฟฟ้า 100 เปอร์เซนต์ (BEV) เเละประเภทปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชน เช่นหากเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้ที่เข้าช่วยเหลือจะสามารถตระหนักได้จากสีป้ายทะเบียนเพื่อเพิ่มความระมัดระวังในการเข้าช่วยเหลือ เเละการมีส่วนร่วมของผู้ขับขี่ในการช่วยลดมลภาวะเเละรักษาสิ่งเเวดล้อม
  4. ควรมีการส่งเสริมการผลิต EV ทั้งในรูปเเบบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเเละรถสามล้อไฟฟ้า
  5. เนื่องจากจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของเทคโนโลยีย่อมส่งผลให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมตามมา จึงเสนอให้ส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเเละการผลิต EV โดยควรจัดให้มีการสนับสนุนการสร้างงานวิจัยเเละพัฒนาเพื่อยกระดับผู้ประกอบการ เเละการพัฒนาเเพลตฟอร์มเเบบเปิดสำหรับ EV (EV Open Platform) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเเพลตฟอร์มมาต่อยอดได้
  6. การจัดทำมาตรฐาน EV และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งควรมีการออกมาตรฐานยานยนต์ที่ครอบคลุม รวมไปถึงการจัดให้มีหน่วยงานทดสอบเเละรับรองมาตรฐานของ EV เเละเเบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพเเล้ว โดยใช้เเนวทางตามมาตรฐานสากล
  7. ควรมีการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ EV อย่างเช่น การสนับสนุนให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าเเบบ Quick Charge ตามสถานที่ต่างๆ
  8. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรด้าน EV เช่น ให้มีการอบรมเเละการจัดทำหลักสูตรวิชาชีพในสถาบันการศึกษา

ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวถึงข้อเสนอดังกล่าวว่า “ทางสมาคมช่วยกันระดมความคิดในการจัดทำข้อเสนอทั้งหมดจากทั้งภาคเอกชน ภาควิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์และมีส่วนเกี่ยวข้อง ในส่วนต่อไปผมคิดว่าทางภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะสนับสนุนให้ข้อเสนอดังกล่าวสามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติเเละเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทางสมาคมยินดีให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในทุกๆ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการใช้เเละพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเเพร่หลายเเละการใช้พลังงานไฟฟ้าก็ยังสามารถช่วยลดมลพิษ ปัญหาสิ่งเเวดล้อม เเละปัญหาโลกร้อนที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Gartner คาดการณ์ความท้าทายองค์กรยุค AI พนักงานอาจเจอปัญหาเสพติดดิจิทัล โครงสร้างองค์กรอาจเปลี่ยนไป

Gartner บริษัทวิจัย และให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เผยการคาดการณ์กลยุทธ์สำคัญสำหรับปี 2025 โดยชี้ให้เห็นว่า Generative AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ และจะส่งผลกระทบต่อการทำงา...

Responsive image

จุดสีส้มบน iPhone และจุดสีเขียวบน Android หมายความว่าอย่างไร ?

รู้หรือไม่? จุดสีส้มบน iPhone และจุดสีเขียวบน Android บ่งบอกว่ากล้องหรือไมโครโฟนกำลังทำงาน ควบคุมความเป็นส่วนตัวของคุณด้วยเคล็ดลับง่ายๆ ที่ต้องรู้!...

Responsive image

สรุปอนาคตงานปี 2025-2030 จาก World Economic Forum งานไหนมาแรง ทักษะใดสำคัญ

World Economic Forum ออกรายงานประจำปีในหัวข้อ Future of Jobs Report 2025 เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดแรงงานในอนาคตโดยอ้างอิงข้อมูลจากนายจ้างกว่า 1,000 รายทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวแทนของพ...