Facebook ประเทศไทย เปิดตัว Community Accelerator รับสมัครผู้สร้างชุมชนออนไลน์สร้างสรรค์ในไทย เพื่อร่วมโครงการระดับภูมิภาค หลังจากโครงการแรกสร้างอิมแพคกับชุมชนทั้งด้านสุขภาพ การช่วยเหลือผู้พิการ และช่วยธุรกิจร้านอาหารในช่วง COVID-19
Facebook ประเทศไทย จัดงาน Thailand Community Day เป็นครั้งแรกเพื่อสนับสนุนเหล่าผู้นำชุมชน ในขณะที่มีผู้คนเชื่อมต่อกันผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น Facebook ซึ่งมีพันธกิจในการมอบพลังให้แก่ผู้คนในการสร้างชุมชนและเชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น โดยงานแถลงข่าวออนไลน์ผ่าน Facebook Live ครั้งนี้เน้นถึงความสำคัญของการลงทุนและการสนับสนุนผู้นำชุมชนในการเริ่มต้น เติบโต และพัฒนาเพจและกลุ่มที่มีความหมายอย่างยั่งยืน
การรักษาการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้คนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้ ชุมชนของ Facebook จึงมีบทบาทที่สำคัญเพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อคนไทย ในขณะที่พวกเขากำลังรักษาระยะห่างทางสังคม โดยมีผู้คนมากกว่า 45 ล้านคนในประเทศไทยที่เป็นสมาชิกของกลุ่มบน Facebook กว่า 6 ล้านกลุ่มที่มีกิจกรรมและการเชื่อมต่ออย่างต่อเนื่องในเดือนที่ผ่านมา ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค มีผู้คนจำนวนกว่า 650 ล้านคนที่เป็นสมาชิกและได้มีส่วนร่วมในกลุ่มบน Facebook อย่างต่อเนื่องในเดือนที่ผ่านมา โดยกลุ่มต่างๆ เหล่านี้มีความหลากหลาย ตั้งแต่กลุ่มการเลี้ยงลูก ไปจนถึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ กลุ่มด้านเทคโนโลยีคราวด์ซอร์สซิ่ง (crowdsourcing) กลุ่มด้านการศึกษา และอื่นๆ อีกมากมาย
คุณเกรซ แคลปแฮม หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรและโครงการเพื่อชุมชนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค Facebook ได้กล่าวเปิดงานว่า “ในช่วงเวลาเช่นนี้ การเชื่อมต่อผ่านชุมชนเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อผู้คนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผู้คนเข้ามาใช้งาน Facebook เพื่อสนับสนุน ค้นหาและแชร์ข้อมูล และเชื่อมต่อกัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาวิกฤต การจัดงานในวันนี้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของความมุ่งมั่นของเราในการเชื่อมต่อผู้คนและทำให้แน่ใจว่าผู้นำชุมชน รวมถึงแอดมินกลุ่มและเพจ จะได้รับการสนับสนุนและทรัพยากรที่พวกเขาต้องการเพื่อจัดการชุมชนที่สร้างการมีส่วนร่วมและการเชื่อมต่อ”
ภายในงาน Thailand Community Day ประกอบด้วยการแชร์เคล็ดลับง่ายๆ และความรู้เบื้องต้นที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดิจิทัลอีเวนต์ระดับโลกของ Facebook ที่มีชื่อว่า Community Connect: Navigation COVID-19 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อแอดมินของกลุ่มบน Facebook ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีการสนทนาแบบกลุ่มระหว่างเหล่าผู้นำชุมชน ได้แก่ คุณฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้นำจากกลุ่ม Run2gether คุณโชติวัน วัฒนลาภ แอดมินกลุ่ม Thailand Restaurant Rescue :: ช่วยร้านอาหารไทยต้านภัย COVID-19 คุณปาณิศา จันทร์วิไล ผู้ร่วมก่อตั้งชุมชน Courageous Kitchen รวมถึงคุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ และคุณชลทิพย์ ยิ้มย่อง ผู้ร่วมก่อตั้งชุมชน Read for the Blind และแอดมินกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ (Help Us Read)
นอกจากนี้ ในงานแถลงข่าวออนไลน์ยังเน้นถึงความสำคัญของโครงการ Community Accelerator ซึ่งเป็นโครงการที่มีระยะเวลา 6 เดือนและถูกเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ของ Facebook โดยจัดการฝึกอบรม ให้คำปรึกษา และจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนผู้นำชุมชนในการสร้างชุมชนของพวกเขาให้เติบโต และโครงการนี้ยังคงเปิดรับสมัครในประเทศไทยไปจนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ facebook.com/community/accelerator/
โครงการ Community Accelerator ต่อยอดจากโครงการ Fellowship ของ Facebook ซึ่งให้การสนับสนุนผู้นำชุมชนจำนวน 115 คนทั่วโลก โดยผู้นำชุมชนเหล่านี้ได้รายงานว่าโครงการของพวกเขาทั้งหมดได้สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับผู้คนจำนวนกว่า 1.9 ล้านชีวิต และเป็นจำนวนกว่า 580,000 ชีวิตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเพียงภูมิภาคเดียว ด้วยการสนับสนุนชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ การใช้งานทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ และกิจกรรมที่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ด้วยการสนับสนุนจากทางโครงการ ทั้งนี้ มีผู้คนจำนวนกว่า 200,000 คนจากกว่า 50 ประเทศได้มารวมตัวกันแบบออฟไลน์ในอีเวนต์ พื้นที่ที่ปลอดภัย และประสบการณ์สร้างสรรค์ต่างๆ โดยมีการรายงานว่าร้อยละ 88 ของผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้นำสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ไปปรับใช้จริงกับชุมชนของพวกเขา
หนึ่งในผู้นำกลุ่มชาวไทยที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการ Facebook Community Leadership Program ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2561 คือคุณฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้นำจากกลุ่ม Run2gether (วิ่งด้วยกัน) ซึ่งผลสำเร็จเป็นรูปธรรมจากโครงการคือ ประสบความสำเร็จในการขยายการดำเนินงานของชุมชนจาก 4 พื้นที่ เป็น 10 พื้นที่ ส่งผลให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มได้มีการจัดมหกรรมงานวิ่งในกรุงเทพฯ และ มีชุมชนชาวต่างชาติเข้าร่วม มีการจัดกิจกรรมออกกำลังกายออนไลน์ให้กับนักวิ่งผู้พิการ ณ ปัจจุบันกลุ่มวิ่งด้วยกันมีการจัดกิจกรรมวิ่งที่นำนักวิ่งมารวมตัวกันแล้วมากกว่า 2,000 ชีวิตและขยายเครือข่ายไปอีก 6 จังหวัด เข้าถึงนักวิ่งอาสาหรือไกด์รันเนอร์อีก 3,000 คนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการอยู่ร่วมกันของผู้พิการและไม่พิการในวงการวิ่งมากยิ่งขึ้น
คุณฉัตรชัย อภิบาลพูนผล กล่าวว่า “การรวมเป็นหนึ่งของชุมชนของเราและเป้าหมายที่เรามีร่วมกันคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ชุมชนของเราสามารถเติบโตและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว เราได้ขยายเครือข่ายของชุมชนวิ่งด้วยกัน ไปยังพื้นที่ในต่างจังหวัดผ่านการจัดอีเวนต์ต่างๆ แต่เรายังคงมีความมุ่งมั่นร่วมกันในการสร้างพื้นที่ที่สนับสนุนการอยู่ร่วมกันของผู้พิการและไม่พิการ เพื่อสนับสนุนการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา”
กิจกรรมอื่นๆ ภายใต้โครงการ Community Leadership ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกของ Facebook ประกอบด้วยการนำเสนอข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับโคโรน่าไวรัสที่มาจากองค์กรด้านสุขภาพ เช่น องค์การอนามัยโลก แก่ผู้นำชุมชน Learning Labs ซึ่งเชื่อมต่อแอดมินกลุ่มผ่านห้องเรียนดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ Power Admin Groups ซึ่งได้รวบรวมผู้นำชุมชนกว่า 40,000 คนเข้าหากันเพื่อแบ่งปันคำแนะนำและเชื่อมต่อกับ Facebook เพื่อทดสอบและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับฟีเจอร์ใหม่ๆ และ Community Hub ซึ่งเปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถเข้าถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการต่างๆ รวมถึงการสัมมนาประจำเดือนผ่านช่องทางออนไลน์ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในเร็วๆ นี้อีกด้วย
งานแถลงข่าวในวันนี้ยังมีการจัดเสวนากลุ่มระหว่างผู้นำชุมชนชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่ม Thailand Restaurant Rescue :: ช่วยร้านอาหารไทยต้านภัย COVID-19 ที่สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาเดียวกัน ผู้นำชุมชน Courageous Kitchen ที่สนับสนุนด้านการเข้าถึงอาหารแก่เยาวชนที่ด้อยโอกาสและมาจากชุมชนชายขอบ รวมถึงผู้ก่อตั้งชุมชน Read for the Blind และแอดมินกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ (Help Us Read) เพื่อผู้พิการทางด้านสายตา
การเสวนากลุ่มได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของชุมชนและกลุ่มบน Facebook ในการเชื่อมต่อผู้คนเข้าหากัน และการที่ฟีเจอร์ต่างๆ เช่น อีเวนต์ โพลล์ และ Stories ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมภายในกลุ่มในช่วงเวลาที่ยากลำบากในปัจจุบัน โดยคุณปาณิศา จันทร์วิไล ผู้ร่วมก่อตั้งชุมชน Courageous Kitchen ได้เล่าถึงการเชื่อมต่อและการทำงานร่วมกันของอาสาสมัครของชุมชนผ่านการใช้งาน Workplace และเน้นย้ำถึงพลังของเครื่องมือออนไลน์อย่าง Facebook และ Instagram ซึ่งช่วยให้ชุมชน Courageous Kitchen สามารถเข้าถึงผู้คนได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย และช่วยให้สมาชิกภายในชุมชนสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างต่อเนื่อง
คุณโชติวัน วัฒนลาภ แอดมินกลุ่ม Thailand Restaurant Rescue :: ช่วยร้านอาหารไทยต้านภัย COVID-19 กล่าวว่า “ในช่วงเวลาที่ผู้คนต่างต้องรักษาระยะห่างทางสังคม และหลายภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปิดทำการ ช่องทางออนไลน์อย่าง Facebook ได้มอบพื้นที่ที่ทำให้ชุมชนของเรายังคงเชื่อมต่อได้ ความสามารถในการสร้างการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนซึ่งกันและกันผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและทำให้เรามองเห็นความหวังจากชาวไทยด้วยกัน”
คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ และคุณชลทิพย์ ยิ้มย่อง ผู้ร่วมก่อตั้งชุมชน Read for the Blind และแอดมินกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ (Help Us Read) อธิบายว่า Facebook ได้ช่วยเหลือพวกเขาตั้งแต่วันแรกในการสร้างความเป็นชุมชนและการสนับสนุนกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นในประเทศ ในปัจจุบันมีผู้ติดตามเพจ Read for the Blind จำนวนกว่า 190,000 คน และมีสมาชิกกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ อีกกว่า 19,000 คน โดยทั้งสองชุมชนได้รับประโยชน์จากเครื่องมือเพื่อสร้างการเข้าถึงของ Facebook นอกจากนี้ แช็ตบ็อตบน Messenger ของ Read for the Blind ยังช่วยให้ชุมชนสามารถเชื่อมต่อกับอาสาสมัครได้มากขึ้นอีกด้วย
ในขณะที่ทั้งสองชุมชนกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ และคุณชลทิพย์ ยิ้มย่อง ยังได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของผู้นำและสมาชิกในการสร้างบทสนทนาอย่างเป็นประจำและให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนเกี่ยวกับความมุ่งมั่นร่วมกันของกลุ่มแก่สมาชิกทุกคน ซึ่งรวมถึงการแจ้งกฎในการใช้งานของกลุ่มอย่างเป็นประจำ และสนับสนุนโพสต์เชิงบวกและเป็นตัวอย่างที่ดีจากสมาชิกของกลุ่ม
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด