คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี จับมือ มจธ. วิจัยพัฒนาอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจจากวัสดุฉลาด | Techsauce

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี จับมือ มจธ. วิจัยพัฒนาอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจจากวัสดุฉลาด

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อร่วมมือด้านวิชาการ วิจัยพัฒนา สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านวัสดุฉลาดเพื่องานทางการแพทย์ จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 24 เมษายน 2019 ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าความร่วมครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND CENTER) ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีเป้าหมายในการพัฒนา ผลักดันแนวคิด เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ ให้สามารถนำไปใช้ และจำหน่าย รวมทั้งเผยแพร่ไปสู่สังคมในเชิงพาณิชย์ จะได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งนับว่าเป็นความร่วมมือที่สำคัญยิ่งในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมเพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านวิชาการ วิจัยพัฒนา สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านวัสดุฉลาดเพื่องานทางการแพทย์ระหว่างบุคลากรของทั้งสองฝ่าย

รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. หัวหน้าห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด ได้มีความร่วมมือกับทางคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือในเรื่องของการพัฒนาอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากวัสดุฉลาด โดยมีทีมของรามาธิบดีคือ อาจารย์ นพ. กฤษฎา มีมุข และ รศ.นพ. ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ อาจารย์สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นผู้ร่วมให้ความเห็นและร่วมพัฒนา จนกระทั่งปัจจุบันทางทีมวิจัยสามารถออกแบบพัฒนาอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจ ที่จะช่วยแก้ปัญหาผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลว โดยพบว่ามีประชากรในประเทศไทยเป็นโรคหัวใจล้มเหลวและมีแนวโน้มในการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2012 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 43,272 คน และในปี 2014 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 54,204 คน ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีผู้เสียชีวิตที่สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียทรัพยากรในวัยทำงาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งโรคหัวใจล้มเหลว (Heart Failure; HF) เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถรักษาระดับของการไหลเวียนเลือดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้มีสาเหตุหลักมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ, และความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งสาเหตุดังกล่าวทำให้หัวใจทำงานหนักจนเกิดอาการล้าและไม่สามารถสูบฉีดเลือดเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย, อ่อนเพลีย, หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ, บวมน้ำตามข้อเท้า, บวมน้ำในปอด และอาจถึงขั้นเสียชีวิต

โดยแนวทางการรักษาจะทำการรักษาตามอาการเช่น การให้ยาขยายหลอดเลือด, การให้ยาช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ, การให้ยาลดอาการบวมน้ำ และการผ่าตัด วิธีการรักษาในแบบต่าง ๆ อาจมีผลกระทบทำให้ระบบภายในร่างกายทำงานหนักขึ้น รวมถึงผลกระทบจากการผ่าตัด อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดลง ทางคณะวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการเจาะผนังกั้นหัวใจห้องบน เพื่อลดความดันภายในหัวใจห้องบนซ้าย ซึ่งช่วยลดภาระการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจของผู้ป่วยสูบฉีดเลือดได้สะดวกและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยอุปกรณ์นี้มีชื่อว่า Atrial Flow Regulator (AFR) หรือ Interatrial Shunt Device (IASD) เป็นอุปกรณ์ที่ผลิตจากวัสดุผสมจำรูป (Shape memory alloy) ซึ่งทำมาจากโลหะผสมระหว่างนิกเกิล-ไทเทเนียม (NiTi) ที่มีความสามารถจดจำรูปร่างและคืนรูปได้ (Shape memory effect) และมีความยืดหยุ่นสูง (Superelastic) จึงสามารถติดตั้งผ่านสายสวนที่มีขนาดเล็ก ๆ ได้ ช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดใหญ่และช่วยให้ ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวจากการรักษาได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิดทรวงอก

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ซีอีโอ Nike เผย 3 สิ่งที่ทำบริษัทพลาดมาตลอดจนทำให้ไนกี้ไม่เหมือนเดิม

ปลายปี 2024 ที่ผ่านมา Nike เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั่นคือ การลาออกของ John Donahole ในตำแหน่งซีอีโอ และได้ลูกหม้ออย่าง Elliott Hill ที่เริ่มทำงานกับ Nike มาอย่างยาวนานขึ้นมารับ...

Responsive image

กูเกิลปรับนิยาม "Googleyness" ใหม่ ซีอีโอเน้นกล้าคิด กล้าทำ มีเป้าหมาย เป็นคุณสมบัติที่มองหา

"Googleyness" คำที่เคยใช้อธิบายความเป็นกูเกิล ได้รับการปรับความหมายใหม่ในปี 2024 โดย Sundar Pichai ซีอีโอของกูเกิลเอง เพราะที่ผ่านมาคำนี้ค่อนข้างกว้างและไม่ชัดเจน ในการประชุม Pich...

Responsive image

ญี่ปุ่นคิดค้น ‘เครื่องอาบน้ำมนุษย์’ อาบและเป่าแห้งเพียง 15 นาที

หมดข้ออ้างขี้เกียจอาบน้ำแล้ว บริษัท Science Co. ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตหัวฝักบัวจากญี่ปุ่น ได้เปิดตัว “เครื่องซักมนุษย์แห่งอนาคต” หรือ Mirai Ningen Sentakuki...